Page 1 of 1

อย.เอาจริง! ตรวจจับผลิตภัณฑ์สุขภาพ-โฆษณาเถื่อน

Posted: 15 Jul 2014, 16:04
by brid.siriwan
อย.เอาจริง! ตรวจจับผลิตภัณฑ์สุขภาพ-โฆษณาเถื่อน

อย.เข้มเดินหน้ามาตรการเร่งด่วน ป้องกัน-แก้ไขปัญหาผลิตภัณฑ์สุขภาพที่ไม่ปลอดภัยและโฆษณาผิดกฎหมาย เน้นมาตรการสำคัญให้หน่วยงานทั้งส่วนกลางและภูมิภาค สนธิกำลังตำรวจ-ทหารตรวจสอบจับกุมผู้กระทำผิด ยึดของกลางดำเนินคดีเข้มงวด...

เมื่อวันที่ 15 ก.ค. 57 นายแพทย์บุญชัย สมบูรณ์สุข เลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา กล่าวว่า ตามนโยบายของ นพ.ณรงค์ สหเมธาพัฒน์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข และปฏิบัติราชการแทนรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ในการดำเนินมาตรการ เร่งด่วนเกี่ยวกับมาตรการป้องกันแก้ไขปัญหาผลิตภัณฑ์สุขภาพที่ไม่ปลอดภัยและการโฆษณาโอ้อวดเกินจริงหรือหลอกลวงให้ ผู้บริโภคหลงเชื่อในทางที่ไม่สมควร ซึ่งเป็นการสนองนโยบายของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ในการปราบปรามผู้กระทำ ผิดกฎหมายผลิตภัณฑ์สุขภาพ ที่จะทำให้ผู้บริโภคได้รับอันตรายให้หมดสิ้นไปจากสังคมไทยด้วย ดังนั้น สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) จึงขอแจ้งให้สาธารณชนทราบดังนี้ กระทรวงสาธารณสุขมีมาตรการให้ทั้งส่วนกลางและส่วนภูมิภาคสนธิกำลังกับเจ้าหน้าตำรวจและทหาร ตรวจสอบเฝ้า ระวังผู้ผลิต ผู้นำเข้า ผู้จำหน่าย ผลิตภัณฑ์สุขภาพผิดกฎหมายอย่างเข้มงวดและเร่งด่วนในเขตพื้นที่ที่รับผิดชอบของตนเอง โดยให้ยึดของกลางทั้งหมด ดำเนินคดีกับผู้กระทำผิดอย่างเคร่งครัด และหากเป็นผู้ผลิตหรือนำเข้า ผลิตภัณฑ์สุขภาพ กระทำผิด ให้พักใช้ใบอนุญาตผลิตหรือนำเข้า หรือใบอนุญาตที่เรียกชื่ออย่างอื่นไว้จนกว่าคดีจะถึงที่สุดภายใต้ความเห็นชอบของคณะกรรมการ

ทั้งนี้ กระทรวงสาธารณสุขโดย อย. ได้ประสานงานกับ กรมศุลกากร ในการสกัดกั้นการลักลอบนำเข้า หรือการสำแดงเท็จเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์สุขภาพที่ผิดกฎหมาย และขอให้สำนักงานตำรวจแห่งชาติ สำนักงานอัยการสูงสุด และศาลยุติธรรม เร่งรัด การดำเนินตามกระบวนการยุติธรรมทางคดีเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์สุขภาพ เพื่อให้การลงโทษเป็นไปอย่างทันเหตุการณ์ ซึ่งจะส่งผลให้ ผู้คิดจะกระทำผิดเกิดความเกรงกลัว นอกจากมาตรการดังกล่าวข้างต้น กระทรวงสาธารณสุข ได้สั่งการให้หน่วยงานภายในทั้งส่วนกลางและส่วนภูมิภาค ตรวจสอบเฝ้าระวังการโฆษณาผลิตภัณฑ์สุขภาพโอ้อวดเกินจริงหรือหลอกลวงให้หลงเชื่อโดยไม่สมควรในเขตพื้นที่รับผิดชอบของ ตนเองอย่างเคร่งครัด และหากพบว่ามีการฝ่าฝืนกฎหมาย ขอให้รีบดำเนินการ แจ้งระงับโฆษณา, เปรียบเทียบปรับ/ฟ้องคดีต่อ ศาลตามกฎหมาย รวมทั้งให้ใช้มาตรการทางการปกครองแก่ผู้ผลิตนำเข้า ผลิตภัณฑ์สุขภาพ ที่ฝ่าฝืนกฎหมายโฆษณาดังกล่าวด้วย การพักใช้ใบอนุญาตผลิต หรือนำเข้า หรือใบอนุญาตที่เรียกชื่ออย่างอื่นภายใต้ความเห็นชอบของคณะกรรมการ ได้แก่ หากโฆษณา ฝ่าฝืนกฎหมายครั้งที่ 1 ให้พักใช้ใบอนุญาต 30 วัน, หากโฆษณาฝ่าฝืนกฎหมายครั้งที่ 2 ให้พักใช้ใบอนุญาต 60 วัน, หากโฆษณา ฝ่าฝืนกฎหมายครั้งที่ 3 ให้พักใช้ใบอนุญาต 120 วัน และหากเป็นโฆษณาที่เป็นความผิดและมีการฟ้องคดีต่อศาลให้ดำเนินการพัก ใช้ใบอนุญาตจนกว่าคดีจะถึงที่สุด

นอกจากนี้ อย. ได้ประสานงานกับ สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียงกิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ใช้อำนาจที่อยู่ในความรับผิดชอบดำเนินการกับผู้รับใบอนุญาตผู้ประกอบการกิจการ วิทยุ ทีวีดาวเทียม เคเบิลทีวี ที่โฆษณาผลิตภัณฑ์สุขภาพโอ้อวดเกินจริงหรือหลอกลวงให้หลงเชื่อดังกล่าวอย่างเคร่งครัด รวมทั้ง ขอให้กระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ไอซีที) และ กสทช. ดำเนินการกับเว็บไซต์หรือโซเชียลมีเดียที่โฆษณา ผลิตภัณฑ์สุขภาพโอ้อวดเกินจริงหรือหลอกลวงดังกล่าว มาตรการเร่งด่วนต่างๆ เหล่านี้ อย. จะเป็นหน่วยงานประสานงานประเมินผลการดำเนินงานดังกล่าว และจะรายงานให้ กระทรวงสาธารณสุขทราบทุกวัน ตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป

เลขาธิการฯ อย. กล่าวต่อไปว่า ลักษณะข้อความโฆษณาผลิตภัณฑ์สุขภาพที่โอ้อวดเกินจริง หรือหลอกลวงให้ผู้บริโภคหลงเชื่อในทางที่ไม่สมควร ที่ส่วนใหญ่มักจะพบในสื่อต่างๆ โดยเฉพาะทางเว็บไซต์ ทีวี ดาวเทียม โซเชียลมีเดีย ดังตัวอย่างเช่น

ผลิตภัณฑ์อาหาร

– อวดสรรพคุณทางยาว่า ช่วยบำบัด บรรเทา รักษาหรือป้องกันโรคต่างๆ เช่น อ้างว่า สามารถรักษาโรคเบาหวาน ลดอัตราการเกิดมะเร็ง ป้องกันการเกิดมะเร็งบางชนิด ลดการเกิดมะเร็งต่อมลูกหมาก ข้อเสื่อมรูมาตอยด์ เป็นต้น

– อวดสรรพคุณว่าสามารถเปลี่ยนแปลงรูปร่าง ลักษณะ และโครงสร้างของอวัยวะใน ร่างกาย เช่น อ้างว่าลดความอ้วนไม่ว่าจะเป็นทั้งหมดหรือบางส่วน ทำให้หน้าเล็ก เรียว แหลม เพิ่มส่วนสูง ขยาย ขนาดหน้าอก ขยายและเพิ่มขนาดอวัยวะเพศ เป็นต้น – อวดสรรพคุณทางเครื่องสำอาง เช่น ทำให้ผิวขาว ลดริ้วรอย ลดฝ้า กระ จุดด่างดำ เป็นต้น

– อวดสรรพคุณว่ามีผลต่อการกระทำหน้าที่ของอวัยวะและส่วนต่างๆ ของร่างกาย เช่น เพิ่มพัฒนาการทางสมอง บำรุงสายตา หัวใจ ประสาท ฟื้นฟูสมรรถภาพทางเพศ เป็นต้น ผลิตภัณฑ์ยา – อวดสรรพคุณว่าสามารถบำบัด บรรเทา รักษาโรค หรืออาการของโรค ที่มีการประกาศ ห้ามโฆษณา ได้แก่ มะเร็ง วัณโรค เรื้อน อัมพาต เบาหวาน โรคหรืออาการของโรคเกี่ยวกับสมองหัวใจ ปอด ตับ ม้าม ไต เนื่องจากอาจทำให้ผู้บริโภคขาดโอกาสในการรักษาในระยะเบื้องต้น และคำแนะนำที่ถูกต้อง

– อวด สรรพคุณ ฟื้นฟูร่างกายและระบบอวัยวะภายในอันเป็นสาเหตุของสุขภาพที่เสื่อม ช่วยเสริมสร้างภูมิต้านทานโรค เช่น โรคไตวาย เบาหวาน อัมพฤกษ์ อัมพาต บำรุงเลือด

- อวดสรรพคุณยาว่าสามารถบำบัด บรรเทารักษา หรือ ป้องกันโรคหรือความเจ็บป่วยได้อย่างศักดิ์สิทธิ์ หรือหายขาด เช่นคำว่า "มหัศจรรย์" "มหัศจรรย์พลังชีวิต" "ยอดเยี่ยม" "วิเศษ" "ดีที่สุด" "เหนือกว่าใคร" "บำรุงให้ฟิต" "ยาสมุนไพรลดความอ้วน" "ยาลดน้ำหนัก" "ลดหน้าท้อง ต้นแขน ต้นขา" "สมุนไพรดีท็อกซ์" "ยาสมุนไพรรักษาอาการนอนกรน"

– อวดอ้างเป็นยาทำแท้ง หรือขับระดูอย่างแรง

– อวดอ้างเป็นยาบำรุงกาม เช่น คำว่า"ยาปลุกเซ็กซ์""ยาเพิ่มขนาด"

- ข้อความลักษณะรับรองหรือยกย่องสรรพคุณยาโดยบุคคลอื่น เช่น การรับรองโดยอ้างสถาบัน หน่วยงาน หรือบุคคล หรือผู้โฆษณาการนำเสนอประสบการณ์การใช้ยาและรับรองผลของยา การรับรองเกี่ยวกับความปลอดภัย เช่น คำว่า"อย. รับรอง""ผ่านการรับรองจาก อย.""ปลอดภัยเพราะผ่าน อย.""องค์การอนามัยโลกรับรอง" "ได้รับ Certificate จาก อย." - คำว่า"การันตีโดยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญปลอดภัย 100% เห็นผลภายใน 7 วัน"ผลิตภัณฑ์เครื่องสำอาง

- แสดงสรรพคุณทางยา เช่น รักษาสิวโดยไม่ต้องทานยา , บรรเทาอาการสิว อักเสบ และผดผื่นคัน , ลดอาการปวดประจำเดือน , บรรเทาอาการริดสีดวงทวาร ลดอาการติดเชื้อที่ทวารหนัก และลำไส้ใหญ่ , ดีต่อเข่าเสื่อม ไม่ต้องเสี่ยงผ่าเข่า บำบัดอาการของโรคข้อเข่าเสื่อม เป็นต้น

- ทำให้เข้าใจว่ามีผล เปลี่ยนแปลงโครงสร้างของร่างกาย เช่น ลดเซลลูไลท์บริเวณขา ต้นแขน ต้นขา สะโพก , โครงหน้ายกกระชับ , ขยายทรวงอก ทำให้ทรวงอกอวบอิ่ม , กระชับช่องคลอด-รีแพร์-ช่องคลอดฟิต , ฟื้นฟูการแข็งตัวของอวัยวะเพศ ชายได้อย่างถาวร , ปรับรูปหน้าเรียวเล็ก , ขนาดแก้มลดลง เป็นต้น

- ทำให้เข้าใจว่ามีผลต่อการกระทำหน้าที่ใดๆ ของร่างกาย เช่น ต่อต้านการเกิดอนุมูลอิสระ , ยับยั้งการเกิดแผลเป็นชนิดคีรอยด์ , ยับยั้งการหลุดร่วงของเส้นผม, ช่วยกระตุ้นการทำงานของเอนไซม์ในการล้างสารพิษออกจากผิว , ยับยั้งการสร้างเม็ดสีผิว เป็นต้น ผลิตภัณฑ์วัตถุออกฤทธิ์และยาเสพติดให้โทษที่ใช้ในทางการแพทย์ เช่น ยาสลบ , ยานอนหลับ และยาลดความเครียด และอาการวิตกกังวล เป็นต้น

"อย.จะไม่หยุดนิ่งดำเนินการทุกวิถีทาง เพื่อกำจัดโฆษณาผลิตภัณฑ์สุขภาพผิดกฎหมายให้หมดสิ้นไป จากสื่อทุกสื่อ เพื่อคุ้มครองความปลอดภัยให้แก่ผู้บริโภค และขอให้ผู้บริโภคช่วยเป็นตาแทนราชการด้วย และแจ้ง ร้องเรียนโฆษณาผลิตภัณฑ์สุขภาพที่เห็นว่าโอ้อวดสรรพคุณเกินจริง ได้ที่ สายด่วน อย.1556 ตลอด 24 ชั่วโมง" เลขาธิการฯ อย.กล่าว.

ที่มา ไทยรัฐออนไลน์
วันที่ 15 ก.ค. 2557