Page 1 of 1

สทน.ใช้ซีทีสแกนแก่นต้นกฤษณา ค้นหาน้ำมันหอมโดยไม่ต้องตัด - ฉล

Posted: 17 Jul 2014, 07:59
by brid.siriwan
สทน.ใช้ซีทีสแกนแก่นต้นกฤษณา ค้นหาน้ำมันหอมโดยไม่ต้องตัด - ฉลาดคิด

ทั้งนี้ระหว่างการทดลองใช้งานเครื่องมือต้นแบบ ได้มีการติดต่อให้ถ่ายภาพเพื่อวิเคราะห์แก่นไม้กฤษณาอยู่ด้วย ทีมงานเห็นว่าชิ้นงานนี้น่าสนใจและพื้นที่อยู่ในจังหวัดนครนายกอีกด้วย

ทีมวิจัยของฝ่ายศูนย์เครื่องปฏิกรณ์นิวเคลียร์สถาบันเทคโนโลยีนิวเคลียร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ สทน. กำลังให้ความสนใจค้นคว้างานวิจัยใหม่ ในการพัฒนาเทคโนโลยีการถ่ายภาพด้วยรังสี โดยการสร้างภาพด้วยคอมพิวเตอร์ เพื่อสแกนหาแก่นสีดำของน้ำมันหอมในต้นกฤษณา โดยไม่ต้องใช้วิธีการตัดต้นมาตรวจสอบ

ดร.ชนาธิป ทิพยกุล นักวิศวกรนิวเคลียร์ ของ สทน. บอกว่า โครงการนี้เป็นโครงการพัฒนาเทคโนโลยีร่วมภายในหน่วยงานสายบริการเพื่อพัฒนางานบริการใหม่ของ สทน. โดยมุ่งพัฒนาและประยุกต์ใช้เทคโนโลยีการถ่ายภาพด้วยรังสี โดยการสร้างภาพด้วยคอมพิวเตอร์ สำหรับงานอุตสาหกรรม เช่น การถ่ายภาพความเสียหายของโครงสร้างภายในของอุปกรณ์ภายในโรงงานอุตสาหกรรมเคมี การอุดตันหรือการผุกร่อนของท่อที่ห่อหุ้มฉนวนต่าง ๆ

ทั้งนี้ระหว่างการทดลองใช้งานเครื่องมือต้นแบบ ได้มีการติดต่อให้ถ่ายภาพเพื่อวิเคราะห์แก่นไม้กฤษณาอยู่ด้วย ทีมงานเห็นว่าชิ้นงานนี้น่าสนใจและพื้นที่อยู่ในจังหวัดนครนายกอีกด้วย จึงได้เริ่มติดต่อประสานงานกับเจ้าของสวนไม้กฤษณา เพื่อเข้าไปดูพื้นที่และเก็บข้อมูลเบื้องต้น หลังจากนั้นได้ทดลองในห้องปฏิบัติการโดยได้ปรับเปลี่ยนต้นกำเนิดรังสีให้เหมาะสมขึ้น เมื่อได้ผลเบื้องต้นจึงได้ประสานงานเข้าไปขอทดลองในพื้นที่จริง

สำหรับเครื่องมือที่ใช้ หรือ คอมพิวเตอร์ โทโมกราฟี จะใช้หลักการเดียวกันกับเครื่องซีทีสแกนที่ใช้ในโรงพยาบาล ซึ่งใช้เครื่องกำเนิดรังสีเอ็กซ์เป็นต้นกำเนิดรังสี แต่เครื่องมือชนิดนี้จะใช้รังสีแกมมาเป็นต้นกำเนิดรังสี ทำให้สามารถเคลื่อนย้ายไปติดตั้งในพื้นที่หน้างานได้ โดยการถ่ายภาพแก่นไม้กฤษณาจะใช้ต้นกำเนิดรังสีชนิด อะเมริเซียม 241 (Am-241) ซึ่งมีช่วงพลังงานต่ำซึ่งเหมาะสมกับการถ่ายภาพแก่นไม้กฤษณามากที่สุด

การทำงานของเครื่อง อาศัยการนับวัดการส่งผ่านรังสีในหลาย ๆ มุม และนำผลที่นับวัดมาใช้ในการสร้างภาพด้วยเทคนิคทางคณิตศาสตร์ การถ่ายภาพในลักษณะนี้จะทำให้เห็นภาพในมุมตัดขวาง ซึ่งไม่สามารถเห็นได้ด้วยเทคนิคการถ่ายภาพด้วยรังสีแบบธรรมดา

ดร.ชนาธิป กล่าวอีกว่า ทีมวิจัยสนใจว่าเทคโนโลยีนี้ สามารถนำเข้าไปใช้ในการตรวจวิเคราะห์หาขนาดของแก่นไม้กฤษณาโดยไม่ต้องตัดหรือทำลายต้นไม้ได้หรือไม่ เนื่องจากราคาของแก่นไม้กฤษณาจะมีราคาสูงขึ้น หากแก่นไม้มีขนาดโตเป็นชิ้นเดียวกัน

นอกจากนี้การที่สามารถวิเคราะห์หาขนาดของแก่นไม้กฤษณาโดยไม่ทำลายได้ จะทำให้เจ้าของสามารถตัดสินใจได้ว่าจะปล่อยให้ต้นไม้โตต่อไปหรือจะตัดโค่น รวมถึงช่วยให้เจ้าของสนใจที่จะศึกษาผลของเทคนิคการ

กระตุ้นแก่นไม้กฤษณาได้อีกด้วย

และที่สำคัญผลการวิเคราะห์จะช่วยทำให้เจ้าของสวนสามารถต่อรองราคากับผู้ซื้อได้ดีขึ้น เนื่องจากในปัจจุบันไม่สามารถทราบได้ว่าต้นกฤษณาแต่ละต้นมีแก่นไม้ขนาดใด ทำให้มีการประเมินขายในราคาต่ำ.

ที่มา เดลินิวส์
วันที่ 17 ก.ค 2557