Page 1 of 1

แจงยุบ 'สมศ.' ไม่ใช่ทางออก จวก 'อธิการฯ-คณบดี' กลัวถูกประเมิ

Posted: 17 Jul 2014, 13:57
by brid.siriwan
แจงยุบ 'สมศ.' ไม่ใช่ทางออก จวก 'อธิการฯ-คณบดี' กลัวถูกประเมินต่ำ

"ดร.อุทุมพร" โต้กรณียุบ สมศ.ไม่ใช่ทางออก ชี้ควรเสนอให้ปรับปรุงวิธีทำงานให้ดีขึ้นมากกว่า จวก "อธิการบดี-คณบดี" กลัวถูกประเมินต่ำ แนะใช้ World Ranking เป็นตัวประกันคุณภาพแทน...

เมื่อวันที่ 17 ก.ค. 57 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ศ.ดร.อุทุมพร จามรมาน นักวิชาการผู้ทรงคุณวุฒิ และอดีตผู้อำนวยการสำนักทดสอบทางการศึกษา (องค์การมหาชน) เปิดเผยในกรณี อธิการบดีมหาวิทยาลัยแห่งหนึ่ง เสนอผลการประชุม 7 ประเด็น และหนึ่งในนั้น คือ พิจารณาปรับปรุงหรือยกเลิก สำนักงานรับรองมาตรฐานและประเมินคุณภาพการศึกษา (องค์การมหาชน) หรือ สมศ.ว่า เนื่องจากเป็นการเพิ่มภาระและเป็นอุปสรรคในการจัดการศึกษา ในฐานะนักการศึกษา และอดีตผู้บริหารองค์กรมหาชน เห็นว่า การบริหารงานขององค์กรทุกประเภท ต้องได้รับการตรวจสอบการใช้เงินและคุณภาพของผลงาน โดยองค์กรภายนอกที่เป็นอิสระ เพื่อให้เกิดความโปร่งใส ในการปฏิบัติงานของผู้บริหารและเจ้าหน้าที่ ในกรณีมหาวิทยาลัยของรัฐจะต้องถูกตรวจสอบโดยหน่วยงานภายนอก เช่น สตง. หรือองค์กรอื่น ซึ่งไม่จำเป็นต้องเป็น สมศ.ก็ได้ ว่ามหาวิทยาลัยของรัฐหรือในกำกับรัฐ ใช้เงินภาษีประชาชนอย่างคุ้มค่าหรือไม่ และผลผลิตได้คุณภาพตามมาตรฐานสากลหรือไม่

"มหาวิทยาลัยของรัฐ ที่ใช้เงินภาษีของประชาชน ต้องให้ข้อมูลข่าวสารแก่ประชาชน เกี่ยวกับคุณภาพผลงานของตน เพื่อผู้ปกครอง นักเรียน และประชาชนจะได้ทราบและตัดสินใจเกี่ยวกับหน่วยงานนั้นๆ ว่าควรจะอยู่ หรือถูกยุบ ในกรณีของมหาวิทยาลัยเอกชน เจ้าของมหาวิทยาลัยทำหน้าที่ตรวจสอบการใช้เงินอยู่แล้ว แต่ก็ต้องมีหน่วยงานภายนอก ที่มาตรวจสอบคุณภาพเพื่อผู้ปกครอง และนักเรียนจะได้ตัดสินใจว่า จะให้บุตรหลานของตนมาศึกษาหรือไม่ การยุบ สมศ.อาจทำได้ตามที่อธิการบดีมหาวิทยาลัยแห่งหนึ่งต้องการ แต่ต้องมีการตรวจสอบ โดยหน่วยงานภายนอกมาทำหน้าที่แทน ในที่นี้เสนอให้ใช้ผล World Ranking เป็นตัวชี้คุณภาพว่า มหาวิทยาลัยดังกล่าวอยู่ลำดับที่เท่าไรของโลก และต้องขอให้อธิการบดีมาชี้แจงว่า ผลการบริหารงานของตน มีคุณภาพอะไร มากน้อยเพียงไร" ศ.ดร.อุทุมพร กล่าว

นอกจากนี้ ศ.ดร.อุทุมพร กล่าวว่า การประเมินภายนอกของ สมศ. เป็นการเพิ่มภาระนั้น แท้จริงการประกันคุณภาพ เป็นการทำงานตามปกติ ที่ใช้ระบบมาตรฐานข้อมูลเป็นกลไกขับเคลื่อน ในกรณีที่มหาวิทยาลัยคิดว่าเป็นภาระ เพราะมหาวิทยาลัยมิได้ใช้ระบบฐานข้อมูลในการบริหารจัดการ รวมทั้งใช้ในการตัดสินใจ ดังนั้นเมื่อ สมศ. ส่งคณะผู้ประเมินคุณภาพของผลงานตามพันธกิจของมหาวิทยาลัย เจ้าหน้าที่สายสนับสนุนที่เกี่ยวข้อง จึงต้องไปขอผลงานจากผู้บริหาร อาจารย์ และบุคลากร เพื่อนำมาสร้างหลักฐานให้คณะผู้ประเมินของ สมศ. ซึ่งสะท้อนว่า ผู้บริหารมหาวิทยาลัย มิได้เข้าใจว่าการประเมินคุณภาพของ สมศ. ทุก 5 ปี เป็นการช่วยอธิการบดีและคณบดี ในการส่องกระจกดูตัวเอง และถ้าพบว่า จุดใดเป็นจุดอ่อน จะได้แก้ปรับปรุง จุดใดเป็นจุดแข็ง จะได้เสริมให้แข็งขึ้นอีก

"เมื่ออธิการบดีและคณบดี ไม่เข้าใจความสำคัญของผลการประเมิน ก็สั่งการให้เจ้าหน้าที่สายสนับสนุนไปดำเนินการ ซึ่งเขาเหล่านั้นไม่ใช่ผู้บริหาร จึงไม่เข้าใจวิธีทำประกันคุณภาพ เมื่อ สมศ.ส่งคณะผู้ประเมิน ซึ่งก็คือ ผู้บริหารและอาจารย์จากสถาบันอื่นมาประเมิน อธิการบดีและคณบดี ก็กลัวจะได้คะแนนต่ำ ต่างพยายามทุกวิถีทางที่จะให้ได้คะแนนสูง ทั้งที่มิใช่สภาพที่แท้จริงของตน ดังนั้น การยุบ สมศ.จึงมิใช่คำตอบ หากแต่มหาวิทยาลัย ควรประเมินตนเองตามสภาพจริงแล้ว ช่วยกันพัฒนามหาวิทยาลัยเพื่อให้บัณฑิตที่จบไปมีคุณภาพ ทำงานได้เลยและเป็นคนดี อาจารย์ที่สอน มีทักษะทางคุรุศึกษา และมีผลงานวิจัยตีพิมพ์ในวารสารโลก หรือมีงานสร้างสรรค์ที่เผยแพร่ และผลงานเหล่านี้ได้ถูกนำมาใช้ประโยชน์ เพื่อการพัฒนาประเทศไทย เจ้าหน้าที่สายสนับสนุนได้รับการพัฒนาวิธีปฏิบัติงาน เพื่อช่วยให้อาจารย์ทำงานได้เต็มที่ อธิการบดีและคณบดีมีการบริหารจัดการที่ใช้ฐานข้อมูลและหลักธรรมาภิบาล โปร่งใส ตรวจสอบได้ ตลอดจนใส่ใจงานของตนตามที่เสนอตัวมาดำรงตำแหน่ง ถ้าอธิการบดีและคณบดีเข้าใจเหตุผลว่า ทำไมต้องประกันคุณภาพผลผลิตของตน และปรับปรุงผลผลิตให้มีคุณภาพสูงขึ้นเรื่อยๆ คุณภาพการอุดมศึกษา ก็น่าจะเทียบเท่า หรือสูงกว่าประเทศอื่นในโลก แต่ถ้าไม่เข้าใจว่า ทำการประกันคุณภาพการศึกษาไปทำไม ก็น่าจะให้บุคคลอื่นมาบริหารงานแทน" ศ.ดร.อุทุมพร กล่าว

อย่างไรก็ตาม ศ.ดร.อุทุมพร ยังกล่าวถึงการยุบ สมศ.ว่า การยุบ สมศ.มิใช่คำตอบ แต่ถ้าเสนอให้ สมศ. ปรับปรุงวิธีทำงานให้ดีขึ้น น่าจะเป็นทางออกที่ดี หรือถ้ายุบ สมศ. ก็น่าจะใช้ World Ranking เป็นตัวประกันคุณภาพแทน ซึ่งจากการตรวจสอบลำดับของมหาวิทยาลัยไทย เทียบกับมหาวิทยาลัยในโลกพบว่า อยู่ในระดับไม่สูง และไม่เคยสูง บางแห่งติดลำดับ 3,000 ของโลก แพ้มหาวิทยาลัยในประเทศด้อยพัฒนาบางประเทศเสียอีก จึงเสนอว่า ถ้าอธิการบดีและคณบดี ยอมรับความจริงเรื่องคุณภาพ แล้วหันมาช่วยกันพัฒนาคุณภาพผลผลิต 4 อย่าง ตามพันธกิจของมหาวิทยาลัยของตน ก็จะเป็นการปฏิรูปการศึกษาที่แท้จริง นั่นคือตัวเองประเมินตัวเองก่อน แต่ถ้าทำไม่ได้ ก็ใช้เกณฑ์ว่า ถ้ามหาวิทยาลัยใดไม่ติดลำดับ 500 ลำดับแรกของโลก ก็ยุบมหาวิทยาลัยนั้นเสีย.

ที่มา ไทยรัฐออนไลน์
วันที่ 17 ก.ค. 2557