Page 1 of 1

กสทช.นัดค่ายมือถือถกเรื่องการถือหุ้นต่างชาติ 24 ก.ค.

Posted: 18 Jul 2014, 14:40
by brid.siriwan
กสทช.นัดค่ายมือถือถกเรื่องการถือหุ้นต่างชาติ 24 ก.ค.

พ.อ.เศรษฐพงค์ มะลิสุวรรณ รองประธานกสทช.ในฐานะประธานคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคม (กทค.)
กสทช.นัด 3 ค่ายมือถือเอไอเอส ดีแทค ทรู ถกเรื่องการถือหุ้นต่างชาติ ใน 3 ประเด็นหลัก เพื่อเตรียมความพร้อมรอการประมูลความถี่ 1800 MHz กับ 900 MHz หาก คสช.มีคำสั่งให้จัดประมูลได้

พ.อ.เศรษฐพงค์ มะลิสุวรรณ รองประธาน กสทช.ในฐานะประธานคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคม (กทค.) กล่าวว่า ถึงแม้คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ยังไม่มีคำสั่งเรื่องการประมูลความถี่ 1800 MHz และ 900 MHz หลังจากที่ให้ชะลอออกไปก่อน แต่ กทค.จำเป็นต้องเตรียมความพร้อมล่วงหน้า เพื่อรองรับการประมูลที่ไม่ว่าจะออกมาในรูปแบบใดก็ตาม โดยในวันที่ 24 ก.ค. จะเรียกโอเปอเรเตอร์มาประชุมเพื่อหารือในเรื่องการถือหุ้นของต่างชาติ เพื่อให้เป็นไปตามประกาศของ กสทช.เรื่องการกำหนดข้อห้ามการกระทำที่มีลักษณะเป็นการครอบงำโดยคนต่างด้าว

ทั้งนี้ โอเปอเรเตอร์ที่เข้าร่วมประชุมจะต้องเตรียมข้อมูลเพื่อชี้แจงประกอบด้วย 1.ภาพรวมการประกอบธุรกิจของบริษัท และนิติบุคคลที่เป็นบริษัทใหญ่ บริษัทย่อย และบริษัทร่วม รวมถึงโครงสร้างการถือหุ้น และการถือครองธุรกิจของกลุ่มบริษัทในเครือ 2.ข้อกำหนดหรือสิทธิในการออกเสียงของผู้ถือหุ้นของบริษัท และ 3.โครงสร้างการบริหารภายในบริษัท โดยแสดงให้เห็นถึงรายชื่อ และตำแหน่งของผู้บริหารที่มีความสำคัญ

“ประเด็นการตรวจสอบการถือหุ้นของต่างชาติว่าเป็นไปตามกฎหมาย และประกาศของ กสทช.นั้น เป็นการตรวจสอบอย่างตรงไปตรงมา และเป็นการตรวจสอบทุกราย มิใช่รายใดรายหนึ่งเท่านั้น”

ก่อนหน้าที่ คสช.จะมีคำสั่งให้ชะลอการประมูลความถี่ 1800 MHz และ 900 MHz นั้น กทค.ได้มีการเปลี่ยนแปลงเงื่อนไขร่างประกาศ กสทช. เรื่อง หลักเกณฑ์และวิธีการอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่สำหรับกิจการโทรคมนาคมย่านความถี่ 1800 MHz ตามที่คณะอนุกรรมการ 1800 MHz เสนอมาภายหลังได้นำความคิดเห็นต่างๆ ที่ได้จากเวทีรับฟังความคิดเห็นสาธารณะ (ประชาพิจารณ์) เมื่อวันที่ 28 พ.ค.มาวิเคราะห์โดยสรุปมีประเด็นที่ต้องปรับแก้ไขเพียงเรื่องเดียวที่สำคัญคือ วิธีการจัดสรรใบอนุญาต

โดยถ้ามีผู้เข้าประมูลไม่ถึง 3 ราย คือ มีเพียง 2 ราย หรือแค่ 1 รายเท่านั้น กสทช.ก็จะเปิดประมูลต่อไปเช่นเดิม แต่ กสทช.จะขยายวันรับสมัครผู้เข้าประมูลออกไปอีก 30 วัน แต่หากครบกำหนดยังไม่มีผู้เข้าร่วมประมูลเพิ่มขึ้น กสทช.ก็ยืนยันเปิดการประมูลต่อไป เพราะในเมื่อบทบาทของ กสทช.จะต้องเป็นจัดสรรคลื่นความถี่ให้แก่ผู้ประกอบการ ก็จำเป็นต้องทำหน้าที่ต่อไป จากเดิมที่ประเด็นวิธีการจัดสรรใบอนุญาตจะระบุไว้ว่า หากมีผู้เข้าร่วมประมูลเพียง 2 ราย ซึ่งจะเท่ากับจำนวนใบอนุญาต หรือเข้าประมูลเพียง 1 ราย กสทช.จะยกเลิกการประมูลในทันที

ขณะที่เกณฑ์การประมูลสำคัญอื่นๆ ไม่ได้มีการเปลี่ยนแปลงแต่อย่างใด เช่น ราคาตั้งต้นของใบอนุญาตที่ใบละ 11,600 ล้านบาท ต่อ 12.5 MHz อายุใบอนุญาต 19 ปี การเคาะราคาต่อ 1 ครั้ง จะเพิ่มขึ้น 580 ล้านบาท หรือ 5% ของราคาตั้งต้น อนุญาตให้บริษัท ทีโอที และบริษัท กสท โทรคมนาคม สามารถเข้าร่วมประมูลได้ การชำระเงินค่าใบอนุญาตแบ่งเป็น 3 งวด คือ งวดที่ 1 จำนวน 50% งวดที่ 2 และ 3 งวดละ 25% และกำหนดความครอบคลุมโครงข่ายที่ 40% ของอัตราประชากรภายในระยะเวลา 4 ปี

ทั้งนี้ การปรับแก้ในประเด็นวิธีการจัดสรรใบอนุญาตในเรื่องการเปลี่ยนแปลงจำนวนผู้เข้าร่วมประมูลใบอนุญาตดังกล่าว อาจมีผลสืบเนื่องจากความขัดแย้งอย่างรุนแรงระหว่าง กทค.กับบริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น (ดีแทค) ภายหลังผู้ถือหุ้นคือ เทเลนอร์ เอเชีย ให้สัมภาษณ์แก่หนังสือพิมพ์ต่างประเทศว่า กทค.ได้สั่งให้ดีแทคดำเนินการปิดเฟซบุ๊ก ต่อมายังล็อบบี้ กทค.ห้ามไม่ให้พูดถึงเรื่องนี้ จนเป็นสาเหตุให้ กทค.จะมีการตรวจสอบโครงสร้างผู้ถือหุ้นของบุคคลต่างด้าวในกิจการโทรคมนาคมก่อนเข้าประมูล 1800 MHz อย่างเข้มข้น จนอาจจะเป็นสาเหตุทำให้ดีแทคไม่ผ่านหลักเกณฑ์การเข้าประมูล และเมื่อพิจารณาตามข้อกำหนดในหลักเกณฑ์ใหม่นี้ หากมีเพียง บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส (เอไอเอส) และบริษัท ทรูคอร์ปอเรชั่น เพียง 2 ราย กสทช.ก็จะสามารถเดินหน้าการประมูลได้ ต่างจากเดิมที่หากมีผู้เข้าประมูลเพียง 2 ราย หรือน้อยกว่าใบอนุญาตที่จัดสรร กสทช.จะต้องยกเลิกการประมูลทันที

*** กสทช.รีฟาร์มมิ่งความถี่ทหาร

นายฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) กล่าวว่า ที่ประชุม กสทช.วันที่ 16 ก.ค.มีมติเห็นชอบ ร่างแผนปฏิบัติการกำหนด และจัดสรรคลื่นความถี่ใหม่ หรือการกำหนดและจัดสรรคลื่นความถี่ใหม่ เพื่อปรับปรุงการใช้งานคลื่นความถี่ (รีฟาร์มมิ่ง) ในกิจการวิทยุคมนาคมบนความถี่วิทยุย่าน 790-960 MHz และ 1710 - 1880 MHz เพื่อมาใช้ในการประมูลคลื่นความถี่ในกิจการโทรคมนาคม ทั้งย่าน 900 และ 1800 MHz โดยแผนการรีฟาร์มมิ่ง ความถี่ 900 MHz จะเริ่มดำเนินการตามระยะเวลา ส่วนความถี่ 1800 MHz จะให้แล้วเสร็จภายใน 1 ปี นับตั้งแต่วันที่ 16 ก.ค.นี้

โดยการรีฟาร์มมิ่งความถี่ ดังกล่าว เป็นการนำความถี่จากการใช้งานด้านความมั่นคงของทหาร เพื่อมาจัดสรรใช้ในความถี่กิจการโทรคมนาคม และหาความถี่ทดแทนใหม่ให้ทหารได้ใช้ในงานด้านความมั่นคงต่อไป โดยมติดังกล่าวเป็นผลมาจากการประชุมร่วมกันมาตลอด 2 ปี ของคณะอนุกรรมการประสานงานการบริหารคลื่นความถี่เพื่อความมั่นคงของรัฐในกิจการโทรคมนาคมและกิจการวิทยุคมนาคม

นอกจากนี้ ที่ประชุมยังได้กำหนดวาระพิเศษเพื่อกำหนดหลักเกณฑ์การแจกคูปองกล่องรับสัญญาณทีวีดิจิตอลแก่ประชาชน โดยเบื้องต้นเชื่อว่าหลักเกณฑ์จะแล้วเสร็จในเดือน ส.ค.นี้ และน่าจะเริ่มขั้นตอนการแจกคูปองให้แก่ประชาชนได้ไม่เกินวันที่ 15 ก.ย.นี้

ที่ประชุม กสทช.ยังมีมติเห็นชอบสรุปผลการรับฟังความเห็นสาธารณะ และ (ร่าง) ประกาศ กสทช.เรื่องหลักเกณฑ์การพิจารณากำหนดผู้มีอำนาจเหนือตลาดอย่างมีนัยสำคัญในตลาด เพื่อป้องกันมิให้มีการกระทำอันเป็นการผูกขาด หรือก่อให้เกิดความไม่เป็นธรรม ในการแข่งขัน พ.ศ. ... และ (ร่าง) ประกาศ กสทช.เรื่องหลักเกณฑ์การพิจารณาและกำหนดมาตรการเฉพาะเพื่อแก้ไขผลที่เกิดจากพฤติกรรมอันเป็นการผูกขาดหรือก่อให้เกิดความไม่เป็นธรรมในการแข่งขันใน กิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ พ.ศ. ... ซึ่งได้ปรับปรุงภายหลังการรับฟังความคิดเห็นสาธารณะ และผ่านความเห็นชอบของที่ประชุมคณะกรรมการกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ (กสท.) แล้ว

สำหรับสาระสำคัญของประกาศเรื่องหลักเกณฑ์การพิจารณากำหนดผู้มีอำนาจเหนือตลาดฯ ได้มีการกำหนดนิยามของตลาด และขอบเขตของตลาดที่เกี่ยวข้องในกิจการกระจายเสียง และกิจการโทรทัศน์ เพื่อใช้ในการประเมินสภาพการแข่งขัน และกำหนดมาตรการเฉพาะสำหรับตลาดที่เกี่ยวข้อง และให้มีการพิจารณาทบทวนนิยามที่เกี่ยวข้องทุกระยะเวลา 3 ปี หรือตามที่ กสท.เห็นสมควร

ส่วนสาระสำคัญเรื่อง หลักเกณฑ์การพิจารณาและกำหนดมาตรการเฉพาะเพื่อแก้ไขผลที่เกิดจากพฤติกรรมฯ นั้น ได้แก่ หลักเกณฑ์การพิจารณาพฤติกรรมที่เป็นการผูกขาด หรือก่อให้เกิดความไม่เป็นธรรมในกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ มาตรการเฉพาะเพื่อเป็นการเยียวยาผลจากการกระทำอันเป็นการผูกขาด หรือก่อให้เกิดความไม่เป็นธรรมในการแข่งขันในกิจการฯ

สำหรับการพิจารณาในด้านอื่นนั้น ที่ประชุมยังได้มีมติเห็นชอบ (ร่าง) ประกาศ กสทช.เรื่องหลักเกณฑ์การจัดทำผังรายการสำหรับการให้บริการกระจายเสียงหรือโทรทัศน์ (ฉบับที่ 3) พ.ศ. ...เพื่อนำไปรับฟังความคิดเห็นสาธารณะ ตามมาตรา 28 แห่ง พ.ร.บ.องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่และกำกับการประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม พ.ศ.2553 ต่อไป โดยสาระสำคัญของร่างประกาศ กสทช. ดังกล่าว เป็นการปรับปรุงเนื้อหาจากประกาศ กสทช. เรื่อง หลักเกณฑ์การจัดทำผังรายการสำหรับการให้บริการกระจายเสียงหรือโทรทัศน์ พ.ศ.2556 เพื่อให้การออกอากาศรายการข่าวในพระราชสำนักสามารถออกอากาศได้ในช่วงเวลาที่เหมาะสม โดยขยายระยะเวลาการออกอากาศรายการข่าวในพระราชสำนักในเวลาที่มีเหตุจำเป็นทำให้ไม่สามารถออกอากาศได้ในเวลาปกติ เป็นให้ออกอากาศได้ในช่วงระหว่างเวลา 18.00-22.00 น. โดยในเวลาปกติกำหนดให้ผู้รับใบอนุญาตที่ใช้คลื่นความถี่ที่ให้บริการเป็นการทั่วไป ต้องจัดให้มีการออกอากาศ รายการเพลงชาติไทย ทุกวัน วันละ 2 ครั้ง ในเวลา 08.00 น. และเวลา 18.00 น. และรายการข่าวในพระราชสำนัก โดยสำหรับกิจการกระจายเสียง และกิจการโทรทัศน์ กำหนดให้ออกอากาศทุกวัน ในระหว่างเวลา 19.00-20.30 น.

นายฐากร กล่าวว่า สำหรับยอดผู้ประกอบการวิทยุกระจายเสียงเข้ามายืนยันตนและดำเนินการขอออกอากาศ ณ สำนักงาน กสทช. เขตทั้ง 14 เขต มีจำนวนทั้งสิ้น 460 ราย โดยสำนักงาน กสทช. ได้ประกาศรายชื่อผู้ได้รับอนุญาตทดลองประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียงที่สามารถออกอากาศทางเว็บไซต์สำนักงาน กสทช. https://broadcast.nbtc.go.th/radio/ แล้ว 82 ราย แบ่งเป็นผู้ประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียงประเภทธุรกิจ 73 ราย สาธารณะ 6 ราย และชุมชน 3 ราย

ที่มา ASTVผู้จัดการออนไลน์
วันที่ 17 กรกฎาคม 2557