Page 1 of 1

ONE's View : ปรับพอร์ตเพิ่มทางเลือก กระจายการลงทุนกองทุนอสัง

Posted: 21 Jul 2014, 10:05
by brid.siriwan
ONE's View : ปรับพอร์ตเพิ่มทางเลือก กระจายการลงทุนกองทุนอสังหาฯ


สวัสดีครับ ในช่วงที่ผ่านมาตลาดหุ้นทั่วโลกได้ปรับขึ้นค่อนข้างมากจากเศรษฐกิจโลกที่เริ่มฟื้นตัวต่อเนื่อง หลังเริ่มผ่านพ้นวิกฤตเศรษฐกิจการเงินปี 2008-2009 ของทางสหรัฐอเมริกาและยูโรโซน ประกอบกับแรงอัดฉีดของการผ่อนคลายนโยบายการเงินของธนาคารกลางต่างๆ โดยเฉพาะประเทศที่พัฒนาแล้ว อย่างเช่น สหรัฐอเมริกา และยูโรโซน เพื่อเข้าแก้ไขปัญหาดังกล่าวผ่านการดำเนินนโยบายการเงินเชิงปริมาณแบบผ่อนคลาย (QE) และการปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายให้อยู่ในระดับต่ำที่ 0.00-0.25% ทำให้สภาพคล่องในระบบเศรษฐกิจเพิ่มขึ้นค่อนข้างมาก

การดำเนินนโยบายการเงินดังกล่าวผลักดันให้สภาพคล่องล้นระบบ ขณะที่อัตราดอกเบี้ยที่อยู่ในระดับต่ำทำให้นักลงทุนส่วนใหญ่เริ่มมองหาการลงทุนที่ให้ผลตอบแทนที่สูงขึ้นเพื่อเพิ่มมูลค่าการลงทุนให้แก่ตนเองทั้งผ่านการลงทุนในตราสารหนี้ที่มีความซับซ้อน (complex debt securities) มากขึ้นจากที่เคยลงทุนในตราสารหนี้ทั่วไป (Debt securities) และเพิ่มน้ำหนักการลงทุนในหุ้นมากขึ้น ซึ่งผลักดันให้ Dow Jonesและ S&P500 Index ช่วงปี 2013 ปัจจุบันปรับตัวขึ้นค่อนข้างมากกว่า 30.2% และ 38.4 ตามลำดับ หลังจากที่ในปี 2008 ซึ่งเป็นช่วงที่ประสบวิกฤตการเงิน ปรับตัวลง -31.9% และ -36.5% ขณะที่ตลาดหุ้นไทยก็ได้อานิสงส์เช่นกัน โดย SET Indexปรับตัวเพิ่มขึ้นกว่า 17.4% ตั้งแต่ต้นปีถึงปัจจุบัน

ในฐานะของนักลงทุนประเภทสถาบัน อีกหนึ่งปัจจัยที่สะท้อนการปรับตัวของตลาดหุ้น ได้แก่ ดัชนีค่าความผันผวน (Volatility Index) ซึ่งสะท้อนความเชื่อมั่นในสินทรัพย์เสี่ยงเพิ่มขึ้น โดยมักใช้เป็นเครื่องมือในการพิจารณาแนวโน้มที่นักลงทุนมองสินทรัพย์ในอนาคตประมาณ 1-3 ปี ในการดำเนินงานของนักลงทุนสถาบันต่างๆ โดยหากราคาสินทรัพย์ปรับเพิ่มขึ้น ดัชนีค่าความผันผวนมักปรับตัวลดลง

ซึ่งปัจจุบันดัชนีฯ ดังกล่าวได้บ่งชี้ว่าความผันผวนที่ปรับลดลงทั้งในส่วนของตลาดหุ้นและตลาดตราสารหนี้เช่นเดียวกัน โดยจะเห็นได้จากดัชนีความผันผวนของอัตราแลกเปลี่ยนต่างประเทศผ่าน JPMorgan’s Global FX Volatility Index ที่ปรับลดลงมาแตะที่ระดับ 5.45 หลังจากที่ปรับตัวสูงขึ้นอยู่ที่ระดับ 11.77 ในช่วงกลางปี 2013 / ดัชนี CBOE S&P500 Volatility Index (VIX)ที่คำนวณจากดัชนี S&P500 ปรับลดลงมาที่ 10.3 ในเดือน ก.ค. 2014 หลังจากที่ปรับขึ้นสูงสุดที่ระดับ 80.86 ในเดือน พ.ย. 2008 โดยแตะระดับต่ำสุดตั้งแต่เดือน ก.พ. 2007 รวมทั้งดัชนี Merrill Lynch Option Volatility Estimate (MOVE) ซึ่งคำนวณจากตลาดพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ ก็ได้ปรับตัวลดลงจากระดับ 117.9 ในเดือน ก.ค. 2013 มาแตะที่ระดับ 52.74 ในช่วงสิ้นเดือน มิ.ย. 2014 บวกได้

อย่างไรก็ดี ในมุมมองของผม ผมมองว่าการที่ดัชนีต่างๆ ได้ปรับตัวเพิ่มขึ้นค่อนข้างมาก แม้ว่าค่าความผันผวนของตลาดหุ้นจะปรับลดลงจากแรงซื้อเข้ามาในสินทรัพย์เสี่ยงในช่วงที่ผ่านมา ซึ่งหากตลาดหุ้นยังคงปรับตัวเพิ่มขึ้นได้ต่อเนื่องจากแรงสนับสนุนของปัจจัยบวกดังกล่าวได้นับว่าเป็นโอกาสดีที่จะหนุนให้ราคาสินทรัพย์เสี่ยงยังคงปรับตัวขึ้นและผลักดันให้ดัชนีต่างๆ ปรับตัวเพิ่มขึ้นได้ต่อไป แต่หากไม่เป็นไปตามที่คาด เนื่องจากในช่วงที่ผ่านมาดัชนีฯ ต่างๆ ได้ปรับตัวขึ้นค่อนข้างแรงและเร็ว ขณะที่ยังมีปัจจัยเฉพาะหน้าบางประการที่ตลาดหุ้นยังต้องเผชิญ โดยเฉพาะแนวโน้มการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายของธนาคารกลางสหรัฐฯ หลังจากที่ล่าสุดนางเจเน็ต เยลเลน ประธานธนาคารกลางสหรัฐฯ ได้ระบุถึงแนวโน้มการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่อาจเร็วกว่าที่ตลาดคาดการณ์ต่อสภาคองเกรส หากตลาดแรงงานได้ส่งสัญญาณการฟื้นตัวอย่างโดดเด่น เนื่องจากหากตลาดแรงงานตึงตัวแล้วนั้นอาจกดดันให้อัตราค่าจ้างแรงงานต้องปรับตัวเพิ่มขึ้นตาม และนำมาซึ่งอัตราเงินเฟ้อที่เร่งขึ้นค่อนข้างเร็วและส่งผลกระทบต่อปัญหาฟองสบู่ในระบบเศรษฐกิจอีกครั้ง ก็อาจส่งผลเชิงลบต่อตลาดหุ้นให้ดัชนีฯ ปรับตัวลดลงอย่างเช่นในช่วงที่ผ่านมาได้ โดยเฉพาะในช่วงกลางปี 2013 จากท่าทีของการชะลอนโยบายการเงินเชิงปริมาณ (QE) ของธนาคารกลางสหรัฐฯ ที่กดดันให้ตลาดหุ้นไทยปรับตัวลดลงกว่า -18.3%

ดังนั้น จากความไม่แน่นอนดังกล่าว ผมจึงแนะนำว่า หากเป็นนักลงทุนระยะสั้นอาจลงทุนโดยการจับจังหวะการลงทุนเพื่อสร้างผลตอบแทนให้กับการลงทุน (Trading) ได้บ้างในช่วงเวลานี้ แต่หากเป็นนักลงทุนระยะยาวอาจเลือกกระจายการลงทุนไปยังสินทรัพย์อื่นเพื่อกระจายความเสี่ยงจากพอร์ตการลงทุน โดยเฉพาะการลงทุนในสินทรัพย์ที่ให้รายได้อย่างแน่นอน อย่างเช่น กองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์ที่มีการจ่ายผลตอบแทนในรูปเงินปันผลในแต่ละปี แม้ว่าการลงทุนในกองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์จะมีการ Mark to market เพื่อให้สะท้อนถึงราคาซื้อขายที่แท้จริงในตลาดหลักทรัพย์ฯ ก็ตาม

ทั้งนี้ สำหรับกองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์น่าจะเริ่มมี IPO เข้ามาในตลาดมากขึ้น หลังจากที่ Sentiment เริ่มปรับตัวดีขึ้น โดยในส่วนของ บลจ.วรรณ ได้นำเสนอกองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์ ทรัพย์ศรีไทย สมาร์ท สโตเรจ (SSTSS) ซึ่งจะเสนอขายครั้งแรกระหว่างวันที่ 22-31 ก.ค. 2557 โดยกองทุนฯ นี้จะนำเงินไปลงทุนในโครงการทรัพย์ศรีไทย สมาร์ท สโตเรจ ซึ่งเป็นธุรกิจคลังเอกสารที่บริหารทรัพย์สินโดยบริษัท ทรัพย์ศรีไทย จำกัด (มหาชน) ซึ่งมีความเป็นมืออาชีพและมีประสบการณ์ในธุรกิจคลังเอกสารมายาวนาน และมีการนำระบบการจัดเก็บเอกสารอัตโนมัติ (Automation) เข้ามาช่วยในการจัดเก็บ ทำให้มีประสิทธิภาพในการใช้พื้นที่และลดต้นทุนแรงงานในการดูแลและจัดเก็บเอกสารได้เป็นอย่างดี โดยผู้ลงทุนสามารถเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ (Freehold) ในอสังหาริมทรัพย์และมีรายได้จากค่าเช่าที่สม่ำเสมอเป็นระยะเวลา 10 ปี โดยกองทุนฯ จะรับค่าเช่าคงที่ชำระทุก 6 เดือนในอัตราเริ่มต้นปีละ 63 ล้านบาทและปรับค่าเช่าเพิ่มขึ้น 2 ล้านบาททุก ๆ 3 ปี รวมทั้งมีหลักประกันการเช่าเป็นเงินรับประกันการเช่าในอัตราครึ่งหนึ่งของค่าเช่ารายปีตลอดระยะเวลาการเช่า 10 ปี และมีหนังสือค้ำประกันจากธนาคารพาณิชย์ในอัตราครึ่งหนึ่งของค่าเช่ารายปี ตลอดระยะเวลาในการเช่า 5 ปีแรก โดยโครงสร้างค่าเช่าและหลักประกันนี้จะเพิ่มความมั่นใจให้แก่นักลงทุน และคาดว่าจะสามารถจ่ายเงินปันผลให้แก่นักลงทุนในช่วง 10 ปีในอัตราเฉลี่ยประมาณ 7% ต่อปี ทั้งนี้ ผู้ลงทุนที่สนใจสามารถสอบถามเพิ่มเติมได้ที่ บลจ.วรรณ การลงทุนมีความเสี่ยง ผู้ลงทุนควรศึกษาข้อมูลก่อนการตัดสินใจลงทุน ครับ

ที่มา ASTVผู้จัดการออนไลน์
วันที่ 20 กรกฎาคม 2557