Page 1 of 1

รากลึกปัญหาการศึกษา..ต้องใช้วิธีพิเศษถึงจะแก้ไขได้

Posted: 22 Jul 2014, 08:56
by brid.siriwan
รากลึกปัญหาการศึกษา..ต้องใช้วิธีพิเศษถึงจะแก้ไขได้

จากการบริหารประเทศของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.) ในช่วงไม่นานนักก็สามารถสร้างความพึงพอใจให้กับประชาชนส่วนใหญ่ได้มากทีเดียว เพราะดูจากผลโพลสํานักต่าง ๆ แล้วก็ออกมาในทางบวกทั้งสิ้น ที่เป็นเช่นนี้ก็น่าจะมาจากการแก้ปัญหาความเดือดร้อนของประชาชนจนเห็นผลเป็นรูปธรรมและรวดเร็ว

อย่างไรก็ตามการที่จะทําให้คนไทยมีความสุขอย่างยั่งยืนได้นั้นคงจะต้องแก้ปัญหาที่เกี่ยวข้องกับคุณภาพชีวิตคนไทยอีกหลายด้าน และด้านหนึ่งนั้นก็คงหนีไม่พ้นเรื่องการศึกษา เพราะคุณภาพการศึกษาของไทยที่เป็นอยู่ แม้แต่กลุ่มอาเซียนด้วยกันเองที่เป็นเช่นนี้ก็ด้วยยังมีสารพัดปัญหาอยู่ ซึ่งเคยนําเสนอไปหลายครั้งแล้ว แต่ปัญหาทั้งหลายก็ยังไม่ได้รับการแก้ไขเท่าที่ควรเมื่อ คสช. แก้ปัญหาต่าง ๆ ลุล่วงไปด้วยดีจึงอยากให้ได้ผ่าทางตันกับเครื่องมือพัฒนาคุณภาพชีวิตบุคลากรของชาติด้านนี้ เพราะเป็นดินพอกหางหมูมานานแล้วคงจะแก้ไขด้วยวิธีการปกติได้ยาก ซึ่งปัญหาที่ว่านี้มีอยู่หลายปัจจัยแต่ด้วยเนื้อที่มีจํากัดจึงขอนําเสนอเฉพาะเรื่องที่เห็นว่าจําเป็นเร่งด่วนก่อนดังนี้

เรื่องแรก ปัญหาขาดแคลนครู ที่เกิดขึ้นใน 2 ลักษณะ คือ ครูไม่พอสอนครบชั้น ซึ่งจะเกิดขึ้นกับโรงเรียนขนาดเล็กที่มีอยู่อีกเป็นหมื่นแห่งที่ขาดครูสะสมมานานตั้งแต่ฟองสบู่แตก แล้ว ADB เข้ามากําหนดอัตราส่วนครูต่อเด็กในภาพรวม 1:25 วิธีคิดเช่นนี้หากโรงเรียนมีเด็ก 50-60 คน จะมีครูได้แค่ 2 คน แต่ต้องเปิดเรียน 6 ชั้น ครูต้องปฏิบัติงานเหมือนโรงเรียนขนาดใหญ่ทุกอย่าง การขาดแคลนครูยิ่งหนักขึ้นเมื่อมีโครงการเกษียณอายุราชการก่อนกําหนดติดต่อกันหลายครั้งทํา

ให้ครูออกจากระบบเป็นแสนราย ทําให้โรงเรียนขนาดเล็กบางแห่งไม่เหลือครูอยู่เลยหรือเหลืออยู่แค่ 1-2 คน ด้วยอัตราจะต้องถูกยุบไปด้วย แม้ช่วงหลังจะคืนให้ 100 เปอร์เซ็นต์ แต่กว่าจะได้คืนมาต้องใช้เวลาเป็นปีที่สําคัญจะไม่มีเงินมาให้ด้วยหากต้นสังกัดไม่มีเงินเหลือยู่ก็ต้องรอของบประมาณในปีต่อไปถึงจะบรรจุได้ แต่เด็กต้องเรียนรู้ทุกวันจะทําอย่างไร ยิ่งหน่วยงานดูแลบุคลากรภาครัฐเห็นดีเห็นงามกับเกณฑ์ดังกล่าวเลยคิดว่าครูในภาพรวมเกินเกณฑ์อยู่ ซึ่งก็เป็นข้อเท็จจริงแต่หากเจาะลึกเป็นรายโรงโดยเฉพาะโรงเรียนขนาดเล็กด้วยแล้วปัญหาขาดแคลนครูก็มีอยู่การที่จะให้เกลี่ยครูจากโรงเรียนเกินเกณฑ์ไปให้โรงเรียนขนาดเล็กพื้นที่ห่างไกลนั้นจะทําได้อย่างไร เมื่อทั้งตำแหน่งและเงินเดือนก็อยู่โรงเรียนนั้นแล้ว หากครูไม่ขอย้ายไปจับย้ายคงถูกฟ้องร้องกันวุ่น วายแน่ ส่วนจะมัวรอให้เกษียณอายุราชการหรือเกิดอัตราครูว่างก่อนแล้วค่อยตัดอัตราไปให้โรงเรียนขาดแคลนจะต้องใช้เวลาอีกกี่สิบปีปัญหานี้ถึงจะยุติได้ แล้วเด็กที่รอครูอยู่ที่ต้องเสียโอกาสกับการพัฒนาคุณภาพชีวิตมากมาย

ลักษณะที่ 2 คือ ครูไม่พอสอนครบวิชา จะเกิดขึ้นไม่เว้นแม้แต่โรงเรียนขนาดใหญ่ที่มีครูเกินเกณฑ์ เพราะเมื่อโรงเรียนเหล่านี้เกิดอัตราว่างขึ้นจะถูกตัดอัตราไปให้กับโรงเรียนขาดแคลนทำให้ครูวิชาเอกนั้น ๆ ของโรงเรียนลดลงโดยเฉพาะครูสาขาขาดแคลนกลุ่ม คณิตศาสตร์ ภาษาต่างประเทศ ที่มีครูน้อยอยู่ก่อนแล้ว หากต้องเจอกับสภาพดังกล่าวยิ่งต้องขาดแคลนไปกันใหญ่ กับบางวิชาเอกแต่จะไปเกินเกณฑ์กับบางวิชาเอก ส่วนนี้หากโรงเรียนที่มีเงินก็พอแก้ไขได้ด้วยการจัดหาครูอัตราจ้างมาทดแทนแต่หากเป็นโรงเรียนที่ไม่มีเงินปัญหาดังกล่าวก็จะแก้ไขได้ยาก

สําหรับวิธีการแก้ปัญหานี้เมื่อไหน ๆ ก็ต้องคืนอัตราครูเกษียณให้ 100 เปอร์เซ็นต์และก็รู้จํานวนครูที่จะเกษียณแต่ละปีอยู่แล้วก็น่าจะกําหนดอัตราครูใหม่ทดแทนให้ 5 ปีล่วงหน้าก่อนเลยเมื่อมีอัตราครูว่างแล้วค่อยยุบไปดีกว่ามัวรอให้เกิดอัตราว่างก่อนแล้วค่อยตัดโอนไปให้การปล่อยให้โรงเรียนครูไม่พอสอนอยู่อย่างนี้แล้วอีกกี่ปีถึงจะแก้ปัญหาคุณภาพผู้เรียนได้

เรื่องที่ 2 ปัญหาโรงเรียนขนาดเล็ก ที่ปัจจุวันอังคาร 22 กรกฎาคม 2557 เวลา 00:00 น.บันยังมีอยู่อีกเป็นหมื่นแห่ง ซึ่งจะขาดความพร้อมทั้ง ครู อาคารสถานที่ สื่อ เทคโนโลยีรวมถึงปัจจัยภายนอกที่จะมาส่งเสริมสนับสนุน รัฐต้องจัดหาให้แทบทุกด้าน แต่คุณภาพการศึกษาก็เกิดได้ไม่เต็มที่จึงเป็นการจัดการศึกษาที่ไม่คุ้มทุน โรงเรียนที่ว่านี้เด็กก็มีน้อยและลดลงทุกปี บางแห่งเปิดสอนได้เฉพาะบางชั้นการหวังพึ่งชุมชนให้เข้ามาช่วยเหลือคงเป็นได้แค่ทฤษฎี เพราะประชาชนเองก็ขาดแคลนหรือไม่ก็ทิ้งถิ่นฐานไปหากินที่อื่น เมื่อโรงเรียนขาดความพร้อมแล้วจะให้คุณภาพเด็กดีได้อย่างไร การแก้ปัญหาที่ดีที่สุดก็คือการยุบโรงเรียนขนาดเล็กกลุ่มที่อยู่ในพื้นที่ราบการคมนาคมสะดวกระยะทางไม่ห่างจากโรงเรียนที่จะไปยุบรวมมากนักโดยภาครัฐต้องหาวิธีการให้เด็กเดินทางได้สะดวกที่สุดอาจจัดเป็นค่าพาหนะหรือรถรับส่งรวมถึงการสร้างความมั่นใจให้กับผู้ปกครองด้านความปลอดภัยด้วย หากทําได้เช่นนี้เชื่อว่าการยุบโรงเรียนขนาดเล็กในบริบทดังกล่าวจะเกิดขึ้นได้เด็กก็จะได้รับประโยชน์ รัฐก็จะเหลือทรัพยากรไปช่วยโรงเรียนขนาดเล็กอื่นที่ไม่สามารถยุบได้อีกไม่น้อย ปัญหาขาดแคลนครูก็จะลดลง ซึ่งการยุบโรงเรียนขนาดเล็กที่ผ่านมาทําได้ยากก็ด้วยมี ผู้บริหารโรงเรียน ผู้นําท้องถิ่น นักการเมือง บางคนต่อต้านทั้งที่เขาเหล่านี้อาจไม่มีบุตรหลานเรียนอยู่ในโรงเรียนนั้นแล้วก็ได้แต่ด้วยต้องการให้มีโรงเรียนอยู่คู่กับหมู่บ้านโดยเฉพาะผู้บริหารโรงเรียนที่เกรงว่าตําแหน่งตนเองจะถูกแขวน ลอยไปอยู่ที่อื่นจึงไม่อยากให้ยุบ ซึ่งปัญหานี้หมักหมมมานานหากปล่อยให้เป็นไปตามระบบคงแก้ได้ยาก

เรื่องที่ 3 ธุรกิจการศึกษาหากินกับเด็กที่มีหลากหลายวิธีการด้วยกัน แต่ในที่นี้จะขอนําเฉพาะส่วนที่เกี่ยวข้องกับเด็กโดยตรง คือ การสอนพิเศษที่ปัจจุบันกลายเป็นธุรกิจหลายหมื่นล้านไปแล้วที่เป็นเช่นนี้ก็เพราะทุกฝ่ายมุ่งแต่ผลสัมฤทธิ์ด้านวิชาการเป็นหลัก ไม่เว้นแม้แต่เด็กปฐมวัยทั้งที่เด็กระดับนี้จะต้องสร้างพัฒนาการด้านร่างกาย ปลูกฝังสิ่งดีงามให้เกิดขึ้นในจิตสํานึกแต่กลับใส่วิชาการจนเด็กเบื่อโรงเรียนยิ่งเรียนระดับสูงขึ้นเนื้อหาก็จะยิ่งมากขึ้นและเมื่อต้องมีการสอบเข้ามหาวิทยาลัยแบบรับตรงก่อนเด็กเรียนจบหลักสูตร ม.6 ด้วยแล้ว การเรียนพิเศษจึงกลายเป็นความจําเป็นสูงสุดของเด็กมากกว่าการเรียนในห้องเรียน ทําให้เด็กเรียนแบบไม่มีวันพัก ไม่มีเวลาพัฒนาด้านอื่น เวลาสร้างสายใยรักครอบครัวก็ไม่เหลือรายจ่ายกับการศึกษาก็มากขึ้นแต่คุณภาพชีวิตกลับลดลง ซึ่งส่วนนี้หากเห็นว่าการติวเตอร์มีความสําคัญทําไมรัฐไม่นําครูที่สอนเก่งหรือที่รับสอนติวเตอร์อยู่มาสอนแล้วบันทึกซีดีในทุกเนื้อหาจนจบหลักสูตรแต่ละระดับแล้วสําเนาให้กับทุกโรงเรียนเพื่อเด็กทุกพื้นที่จะได้เรียนกับครูที่สอนเก่งแม้จะผ่านสื่อก็ตาม ส่วนครูที่สอนอยู่ในโรงเรียนก็จะได้ศึกษาวิธีการและสรุปให้เด็กเข้าใจมากขึ้นหรือหากเด็กไม่เข้าใจบทเรียนก็สามารถกลับไปเปิดดูย้อนหลังได้ ซึ่งวิธีการเช่นนี้จะกล้าทําหรือไม่

เรื่องที่ 4 ควรแก้ไข พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ 2542 ให้เหมาะสมกับวิถีชีวิตความเป็นไทยให้มากขึ้นโดยเฉพาะการสร้างคนดี ด้วยกฎหมายที่ว่านี้ใช้มาแล้ว 15 ปี ผลเป็นอย่างไรก็อย่างที่รู้กันอยู่จึงน่าจะแก้ไขในหลายส่วนทั้งโครงสร้างที่ควรกลับไปใช้ระบบกรมเช่นเดิม รวมถึงควรปรับวิธีการดําเนินการของสำนักรับรองมาตรฐานและประเมินคุณภาพการศึกษา(สมศ.) และ สถาบันทดสอบทางการศึกษาแห่งชาติ (สทศ.) หรือหากยกเลิกไปเลย ครูทั้งประเทศคงดีใจเพราะได้ดําเนินการไปแล้วหลายปีใช้เงินไปแล้วมิใช่น้อยแต่คุณภาพเด็กก็ไม่ได้ดีขึ้น ที่สําคัญวิธีการที่ทําอยู่ก็ไม่ได้ช่วยเหลือที่ยังมีอุปสรรคปัญหาอยู่เพราะทั้งการประเมินและการวัดผลไม่ได้คํานึงถึงบริบทการจัดการศึกษาของแต่ละพื้นที่ว่าแตกต่างกันอย่างไรหรือต้องพัฒนาคุณภาพชีวิตเด็กแต่ละบริบทอย่างไร

ปัญหาที่นํามาเสนอบางส่วนนี้คิดว่าหน่วยงานที่รับผิดชอบก็ทราบดีอยู่แล้วจนเห็นเป็นปัญหาปกติจึงไม่ค่อยใส่ใจเหมือนกับการคิดเทรนด์ใหม่ ๆ ที่จะทําให้ได้งบประมาณมาดําเนินการง่ายกว่าทั้งที่สิ่งที่ว่ามานี้ล้วนส่งผลต่อคุณภาพชีวิตของเด็กโดยตรงทั้งสิ้น เมื่อ คสช. ต้องการสร้างความสุขให้กับประชาชนแล้วก็อยากให้สร้างความสุขอย่างยั่งยืนวิธีการที่ดีที่สุดก็คือทําให้คนในชาติมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น และการศึกษาที่มีคุณภาพเท่านั้นที่จะตอบโจทย์นี้ได้.

กลิ่น สระทองเนียม

ที่มา เดลินิวส์
วันที่ 22 กรกฎาคม 2557