จับตา...‘กลุ่มตรวจการสหกรณ์’ มือปราบทุจริตขบวนการสหกรณ์ - นา

Post Reply
brid.siriwan
Posts: 3942
Joined: 05 Apr 2013, 08:47

จับตา...‘กลุ่มตรวจการสหกรณ์’ มือปราบทุจริตขบวนการสหกรณ์ - นา

Post by brid.siriwan »

จับตา...‘กลุ่มตรวจการสหกรณ์’ มือปราบทุจริตขบวนการสหกรณ์ - นานาสารพัน

ขณะที่ตัวเลขปริมาณธุรกิจสะสมของสหกรณ์ทุกประเภทรวมกันตั้งแต่ไตรมาสที่ 1 ถึง ไตรมาสที่ 4 ประจำปี 2556 มีมากถึงกว่า 2.04 ล้านล้านบาท!


“สหกรณ์” นับเป็นกลไกสำคัญหนึ่งในการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ ซึ่งจากข้อมูลของกรมส่งเสริมสหกรณ์ ณ วันที่ 1 มกราคม 2557 ประเทศไทยมีจำนวนสหกรณ์ประเภทต่าง ๆ อาทิ สหกรณ์การเกษตร สหกรณ์ออมทรัพย์ สหกรณ์ร้านค้า และสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยน ที่อยู่ในสถานะดำเนินการ 6,993 แห่ง และอยู่ระหว่างเตรียมดำเนินการ 221 แห่ง รวม 7,214 แห่ง และมีสมาชิกทั่วประเทศกว่า 11 ล้านคน

ขณะที่ตัวเลขปริมาณธุรกิจสะสมของสหกรณ์ทุกประเภทรวมกันตั้งแต่ไตรมาสที่ 1 ถึง ไตรมาสที่ 4 ประจำปี 2556 มีมากถึงกว่า 2.04 ล้านล้านบาท!

ตัวเลขทั้งหมดดังกล่าวสะท้อนให้เห็นถึง “พลัง” ของขบวนการสหกรณ์ในการเป็นฐานค้ำยันรากฐานเศรษฐกิจและสังคมของประเทศให้มั่นคงได้ หากมีการบริหารจัดการอย่างมีประสิทธิภาพ แต่ในทางตรงกันข้าม หากมีการบริหารที่ผิดพลาดหรือขาดความโปร่งใส สิ่งที่ตามมาย่อมหมายถึงผลกระทบอันรุนแรง

ดังเช่นกรณีปัญหาการทุจริตใน สหกรณ์ต่าง ๆ และเป็นข่าวผ่านตาให้รับทราบกันมาโดยตลอด ซึ่งไม่เพียงแต่จะสร้างความเสียหายให้กับสมาชิกเท่านั้น แต่ยังกระทบต่อเนื่องเป็นลูกโซ่ไปถึงสถานะความมั่นคงทางการเงินของสหกรณ์ และสร้างความเสียหายที่ไม่ดีแก่สหกรณ์ทั่วประเทศ

ดังนั้นเพื่อป้องกันไม่ให้ประวัติศาสตร์ซ้ำรอย จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการกำกับดูแลสหกรณ์ จะต้องเร่งวางมาตรการตรวจสอบและป้องกัน เพื่อสร้างหลักประกันความโปร่งใสให้กับขบวนการสหกรณ์ และเป็นที่พึ่งให้แก่สมาชิกได้อย่างแท้จริง

ดร.จุมพล สงวนสิน อธิบดีกรมส่งเสริมสหกรณ์ เปิดเผยว่า กรมส่งเสริมสหกรณ์ นอกจากจะมีภารกิจหลักเรื่องการเผยแพร่ให้ความรู้เกี่ยวกับอุดมการณ์ หลักการ และวิธีการสหกรณ์ รวมทั้งพัฒนาระบบสหกรณ์ให้เกิดความเข้มแข็งแล้ว ยังมีภารกิจอีกด้าน คือ การกำกับดูแลและคุ้มครองระบบสหกรณ์ให้เป็นไปตามกฎหมาย หรืออีกนัยหนึ่ง คือ การตรวจสอบการบริหารงานของสหกรณ์ให้เกิดประสิทธิภาพและความโปร่งใสนั่นเอง ดังนั้นเพื่อให้ภารกิจด้านนี้มีประสิทธิภาพ จึงได้ออกคำสั่งกรมส่งเสริมสหกรณ์ที่ 117/2557 ตั้ง “กลุ่มตรวจการสหกรณ์” เป็นการภายในสำนักงานสหกรณ์จังหวัดและสำนักงานส่งเสริมสหกรณ์กรุงเทพมหานคร พื้นที่ 1 และพื้นที่ 2 ขึ้น เพื่อทำหน้าที่ตรวจสอบกิจการและฐานะการเงินของสหกรณ์ เพื่อสอดส่องดูแลให้สหกรณ์ดำเนินการภายใต้กรอบแห่งกฎหมาย ข้อบังคับ ระเบียบของสหกรณ์ ระเบียบและคำสั่งนายทะเบียนสหกรณ์

“การตรวจการสหกรณ์ ไม่ได้มุ่งหวังเพื่อจับผิด แต่เป็นการสอดส่องดูแลการดำเนินกิจการของสหกรณ์ให้เกิดความถูกต้อง เป็นไปตามระเบียบ ข้อบังคับ รวมทั้ง กฎหมายที่เกี่ยวข้อง อีกทั้ง เป็นการป้องกันขัดขวางคนที่หวังเข้ามาใช้สหกรณ์เป็นเครื่องมือในการแสวงหาผลประโยชน์ และเป็นการสร้างความเชื่อมั่นของสมาชิกสหกรณ์ที่มีต่อสหกรณ์”

โดยกระ บวนการทำงาน ผู้ตรวจการสหกรณ์มีหน้าที่ตรวจสอบกิจการและฐานะการเงินของสหกรณ์โดยตรวจสอบการดำเนินงานของสหกรณ์ว่า มีการดำเนินการใดที่ฝ่าฝืนหรือปฏิบัตินอกขอบเขตวัตถุประสงค์ของสหกรณ์ หรือมีการปฏิบัติที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย ระเบียบข้อบังคับ หรือกระทำการใด ๆ ที่มีความเสี่ยงหรือว่าจะก่อให้เกิดความเสียหายต่อสหกรณ์หรือสมาชิกหรือไม่

ขณะที่กลุ่มตรวจการสหกรณ์ จะทำหน้าที่วิเคราะห์ผลการตรวจสอบและรายงานของผู้ตรวจการสหกรณ์ว่า ข้อมูล หลักฐานเอกสารครบถ้วนสมบูรณ์หรือไม่ หรือมีส่วนใดต้องตรวจสอบเพิ่มเติม เมื่อได้ข้อมูลครบถ้วนแล้ว หากพบว่าสหกรณ์มีข้อบกพร่อง จะต้องเสนอแนวทางแก้ไข พร้อมกำหนดระดับการใช้อำนาจตามกฎหมาย วิธีการและระยะเวลาการแก้ไขต่อนายทะเบียนสหกรณ์เพื่อพิจารณาสั่งการได้อย่างเหมาะสม

ดร.จุมพล ย้ำว่า หากผลการตรวจสอบพบข้อผิดพลาดหรือสิ่งที่ควรปรับปรุง ก็จะทำการแนะนำสหกรณ์ให้ดำเนินการแก้ไขทันที แต่หากมีการตรวจพบสหกรณ์ที่ดำเนินการแล้วส่อไปในทางที่จะทำให้เกิดการทุจริตก็จะดำเนินการหาทางป้องกันแก้ไขให้ทันท่วงที ไม่ปล่อยไว้จนยากที่จะแก้ไข หรือหากพบการฉ้อโกงหรือทุจริตเกิดขึ้นก็จะต้องมีการดำเนินการตามกฎหมายอย่างเฉียบขาด

อย่างไรก็ตาม อธิบดีกรมส่งเสริมสหกรณ์ชี้ว่า การตรวจสอบการดำเนินงานของสหกรณ์ให้อยู่ภายใต้กรอบการทำงานที่ถูกต้องและโปร่งใส คงไม่สามารถกระทำโดย “กลุ่มตรวจการสหกรณ์” ได้เพียงลำพัง เพราะกลไกสำคัญที่สุดที่จะสามารถตรวจสอบได้อย่างมีประสิทธิภาพ คือ ประชาชน โดยเฉพาะสมาชิกสหกรณ์ที่มีสถานภาพเป็นทั้ง “เจ้าของ” และ “ผู้ใช้บริการ” ของสหกรณ์ในเวลาเดียวกัน ทำให้มีโอกาสในการควบคุมดูแลการบริหารงานได้อย่างใกล้ชิด

ดังนั้นสมาชิกสหกรณ์ทุกคนจึงควรมีการ ติดตามสอดส่องการดำเนินงานของสหกรณ์ เช่น การมีส่วนร่วมในการเลือกตั้งคณะกรรมการดำเนินการสหกรณ์ และผู้ตรวจสอบกิจการสหกรณ์ เพื่อให้ได้คนดีมาทำงาน รวมทั้งต้องเข้าร่วมประชุมติดตามความเคลื่อนไหวในสหกรณ์อย่างใกล้ชิด เพื่อควบคุมการดำเนินงานสหกรณ์ให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์ของการจัดตั้ง เพื่อปกป้องและรักษาผลประโยชน์ของตนเอง... เพราะผลประโยชน์ของเรา ย่อมไม่มีใครปกป้องได้ดีไปกว่าตัวของเราเองแน่นอน!.

ที่มา เดลินิวส์
วันที่ 22 ก.ค 2557
Post Reply

Return to “แจ้งข่าว ไทย ERP และข่าวอื่นๆที่น่าสนใจ”