Page 1 of 1

"30 บาท รักษาทุกโรค" รักษาทุกคน จริงหรือ !?(ตอน1)

Posted: 24 Jul 2014, 17:25
by brid.siriwan
"30 บาท รักษาทุกโรค" รักษาทุกคน จริงหรือ !?(ตอน1)

สถานการณ์ล่าสุดของโครงการ หลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าที่กำลังเป็นกระแสและข้อถกเถียงในหลากหลายประเด็นนั้น ซึ่งสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) เป็นหัวเรือใหญ่รับผิดชอบจัดและกระจายบริการ หรือต้นฉบับเริ่มแรก คือ "30 บาทรักษาทุกโรค"จากนโยบายประชานิยมในสมัยหนึ่งที่อยู่จนมาถึงวันนี้

และในปีนี้ 2557 กับในโอกาสครบรอบ 12 ปีของโครงการหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า "ไทยรัฐออนไลน์" ขอพาทุกท่านย้อนอดีตไปทำความรู้จักพื้นเพ เรียนรู้เบื้องหลังความเป็นมา และอย่างก้าวการพัฒนา เปลี่ยนแปลง สะสมประสบการณ์จนมาถึงวันนี้ ทั้งการเติบโตให้โอกาส แก้ปัญหาสุขภาพของคนในประเทศ การจัดการ "หมุน" วิกฤติและภาระที่ต้องแบกรับ มาทำความเข้าใจปฐมบทความเป็นมาของ 30 บาท รู้จักบัตรทองสุขภาพไปพร้อมกัน

จุดเริ่มต้น ก้าวแรกผู้บุกเบิก 30 บาท

นายแพทย์สงวน นิตยารัมภ์พงศ์ ประธานชมรมแพทย์ชนบท รุ่นที่ 8 บุกเบิกและผลักดันหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า โดยพรรคไทยรักไทยได้นำไปใช้เป็นนโยบายที่เรียกว่า "30 บาทรักษาทุกโรค" ในสมัยรัฐบาลทักษิณ 1 ซึ่งมีนายแพทย์สงวนเป็นเลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติคนแรก (ดำรงตำแหน่ง 2 สมัยติดกัน)

จุดเน้นเป้าหมายคือ "รากหญ้า"

โดยไม่มีการเลือกปฏิบัติ ด้านการรักษาสุขภาพ ถือว่าเป็นหน้าที่ของรัฐที่จะต้องดูแลคนไทย เมื่อนายแพทย์สงวนนำโครงการนี้ไปเสนอ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี (ในสมัยที่ 1)ในขณะนั้น และได้รับการขานรับ จนกลายมาเป็นนโยบายประชานิยมของพรรคไทยรักไทยในเวลานั้น และได้แปลงร่างนี้ให้เป็นนโยบาย 30 บาท รักษาทุกโรค ในเวลาต่อมาเรียกขนากันในนาม "บัตรทอง" เพราะไม่ต้องจ่ายเงินแม้แต่บาทเดียว

บัตรทองเริ่มต้นตั้งไข่ที่ งบประมาณจากรัฐจ่ายค่าเบี้ยประกันสังคมให้กับ ประชาชน หัวละ 1,250 บาท (จนถึงปัจจุบันดูแลครอบคลุมประชาชนในสิทธิบัตรทองกว่า 47 ล้านคน) โดยค่าบริการต่อหัวเพิ่มขึ้นเป็น 2,895 บาทแล้ว โดยไปขึ้นทะเบียนต่อกับโรงพยาบาล ในเขตที่ตนอาศัยอยู่แล้ว เมื่อเจ็บป่วยก็เข้ารักษาตามที่ลงทะเบียนไว้ ถ้าไม่เจ็บป่วยก็ไม่ต้อง โรงพยาบาลก็ได้เงินส่วนนี้ไปเฉลี่ยรักษาคนที่ป่วยลักษณะคล้ายกับการประกันสุขภาพ


โดยเว็บไซต์ สปสช. หัวเรือใหญ่ ให้ความรู้เกี่ยวกับ หลักประกันสุขภาพ เอาไว้ว่า คนไทยทุกคนมีสิทธิได้รับบริการสาธารณสุขที่มีมาตรฐานและมีประสิทธิภาพ ตาม พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ.2545 โดยมีสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ทำหน้าที่จัดบริการสาธารณสุขให้แก่บุคคลที่ไม่มีสิทธิสวัสดิการรักษาพยาบาลจากกฎหมายประกันสังคมหรือสิทธิสวัสดิการรักษาพยาบาลของข้าราชการ/รัฐวิสาหกิจ หรือหน่วยงานของรัฐอื่นๆ ภายใต้การควบคุมดูแลของคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ซึ่งมีชื่อ เรียกอย่างเป็นทางการว่า "สิทธิหลักประกันสุขภาพ" หรือที่เคยรู้จักกันในนาม สิทธิ 30 บาทหรือสิทธิบัตรทอง เพื่อเข้าถึงบริการสาธารณสุขที่มีมาตรฐานอย่างทั่วถึง ตั้งแต่ การสร้างเสริมสุขภาพ การป้องกันโรค การรักษาพยาบาล และการฟื้นฟูสมรรถภาพที่จำเป็นต่อสุขภาพ และการดำรงชีวิต

แล้วใครบ้างที่มีสิทธิ หลักประกันสุขภาพ?

ผู้มีสิทธิหลักประกันสุขภาพ คือ คนไทยทุกคนที่มีเลขประจำตัวประชาชน 13 หลัก และไม่มีสิทธิสวัสดิการรักษาพยาบาลตามกฎหมายประกันสังคมหรือสิทธิสวัสดิการรักษาพยาบาลของข้าราชการ/พนักงานรัฐวิสาหกิจ หรือสวัสดิการรักษาพยาบาลอย่างอื่นที่รัฐจัดให้

ฉุกเฉินถึงแก่ชีวิต ไม่ต้องบัตรทอง ใกล้ที่ไหนไปที่นั่น

สปสช.ชี้แจงในกรณีสงสัย ถึงความเจ็บป่วย ที่เกิดขึ้นอย่างปัจจุบันทันด่วน และรุนแรงถึงขั้นอาจเสียชีวิตได้ (เกณฑ์วัดความรุนแรงฉุกเฉินยังเป็นข้อถกเถียงกันอยู่) ว่า ผู้ป่วยเจ็บป่วยฉุกเฉินถึงแก่ชีวิต จำเป็นต้องได้รับการรักษาอย่างทันท่วงทีเพื่อการรอดชีวิต เมื่อมีอาการเจ็บป่วยฉุกเฉินถึงแก่ชีวิตสามารถเข้ารักษาพยาบาลได้ทุกโรงพยาบาลที่ใกล้ที่สุดได้ โดยใช้บัตรประชาชนเพื่อแสดงตนในการเข้ารับบริการ จะได้รับการรักษาโดยไม่ถูกปฏิเสธและไม่ต้องสำรองจ่าย ผู้ป่วยเจ็บป่วยฉุกเฉินถึงแก่ชีวิต จะได้รับการรักษาจนอาการพันวิกฤติ จากนั้น โรงพยาาลที่ให้การรักษาจะส่งตัวผู้ป่วยกลับไปยังหน่วยบริการประจำหรือโรงพยาบาลในระบบหลักประกันสุขภาพที่พร้อมให้การรักษาต่อไป

โดยบุคคลผู้ใช้สิทธิหลักประกันสุขภาพ เมื่อรับบริการรักษาพยาบาลและได้รับยา ต้องร่วมจ่ายค่าบริการครั้งละ 30 บาท จ่ายค่าบริการให้แก่โรงพยาบาลในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ตั้งแต่ระดับโรงพยาบาลชุมนุมขึ้นไป (สถานพยาบาลที่มีเตียงนอนตั้งแต่ 10 เตียงขึ้นไป)

และล่าสุด กับคำเชิญชวนที่ว่า 30 บาทยุคใหม่ เพิ่มคุณภาพเพื่อสุขภาพของคนไทยที่ดีขึ้น มีหมอใกล้บ้านใกล้ใจ มียาดีใช้เพียงพอ ไม่ต้องรอรักษานาน จัดการโรคเรื้อรัง


โรงพยาบาลบ้านแพ้วต้นแบบความสำเร็จ 30 บาทรักษาทุกโรค...

โรงพยาบาลบ้านแพ้วเป็นตัวอย่างของการสร้างรูปแบบการบริหารโรงพยาบาลแบบใหม่ ที่มีการกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่นเป็นอิสระ โรงพยาบาลต้นแบบของโครงการ 30 บาท เปลี่ยนการบริหารจากโรงพยาบาลราชการมาเป็นโรงพยาบาลในกำกับของรัฐ โดยนำจุดเด่นของการบริหารราชการภาครัฐและความอิสระคล่องตัวของภาคเอกชนมา บูรณาการการทำงาน มีกฎหมายคือพระราชบัญญัติองค์กรมหาชน พ.ศ. 2542 และพระราชกฤษฎีกาจัดตั้งโรงพยาบาลบ้านแพ้ว (องค์กรมหาชน) พ.ศ. 2543 รองรับและอยู่ในการกำกับดูแลของกระทรวงสาธารณสุข


ถึงวันนี้กับ Co-payment ชวนประชาชนมาจ่ายรวม

ในระยะเดินทางที่ผ่านมา ของบัตรทอง 30 บาทรักษาทุกโรค ถ้วนหน้าทุกคน นั้น ตลอดทางพบปัญหาอุปสรรคมากมาย บทเรียนที่หลายฝ่ายที่เกี่ยวข้องได้นำมาแก้ไข และหนึ่งปัญหาสำคัญที่เรื้อรัง และผูกปม ขมวดยุ่งเหยิง จนเป็นก้อน "ภาระหนี้" ก้อนใหญ่ ที่หน่วยงานบริการ ของโครงการบัตรทองนี้ต้องรับภาระ

จนเกิดข้อเสนอ "ร่วมจ่าย" ที่กำลังเป็นข้อถกเถียง ประเด็นร้อนอยู่ในขณะนี้ กระแสความคิดเห็นถึงประเด็นนี้ มีทั้งฝ่ายที่เห็นด้วย ที่จะให้ประชาชนที่เข้ารับการรักษาในหน่วยบริการ ช่วยจ่าย 30-50 เปอร์เซ็นต์ของค่ารักษาพยาบาลที่เกิดขึ้น

แต่ในอีกฝ่ายหนึ่งกลับมองในทางตรงข้ามว่า การร่วมจ่าย คือการผลักภาระการรักษาให้กับประชาชนที่ไม่พร้อมและยากจนมากเกินไป และอาจเป็นการปิดกั้นการเข้าถึงบริการรักษาพยาบาล ที่ครั้งหนึ่งเป็นความหวังของผู้ด้อยโอกาส ผู้ยากไร้ ที่ได้รับความเจ็บป่วย ทั้งๆ ที่ 30 บาทตามหลักประกันสุขภาพนั้น เป็นเหมือน "รัฐสวัสดิการ" ที่รัฐต้องจัดบริการให้ประชาชนในประเทศอยู่แล้ว

"อุ้มดูแลคน 48 ล้าน ผู้มีสิทธิได้รับบัตรทองคือประชาชนคนไทยทุกคนที่ยังไม่มีสิทธิใดๆ จากหลักประกันอื่น " เป็นรูปเป็นร่าง มาไกลจนถึงวันนี้ ตอนหน้า เรามารู้จักกับข้อเสนอแนะ แนวทางแก้ไข และทางออกของ 30 บาท รักษาทุกโรค ทุกคน ที่นำไปสู่ความยั่งยืนของระบบสุขภาพของคนไทยกันต่อ โปรดติดตาม...

ที่มา ไทยรัฐออนไลน์
วันที่ 24 ก.ค. 2557