Page 1 of 1

รู้จัก “แบคทีเรียกินเนื้อคน”ร้ายแรงในแอฟริกา

Posted: 26 Jul 2014, 15:57
by brid.siriwan
รู้จัก “แบคทีเรียกินเนื้อคน”ร้ายแรงในแอฟริกา

มารู้จัก “แบคทีเรียกินเนื้อคน”ร้ายแรง “บูรูลิ อัลเซอร์” ที่จะทำให้เนื้อหมดความรู้สึกและกัดกินผิวหนังเปิดลึกลงไปจนเห็นกล้ามเนื้อและกระดูก แพร่ระบาดในแอฟริกาและกว่า 30 ประเทศทั่วโลกโดยเฉพาะในเขตร้อน

จากกระแสของ “แบคทีเรียกินเนื้อคน” ที่เพิ่งเป็นข่าวในไทย ทีมข่าวต่างประเทศเดลินิวส์จึงมีโอกาสได้ทำความรู้จักกับแบคทีเรียตัวร้ายที่กินเนื้อคนอีกชนิดหนึ่งที่ก่อให้เกิด โรค “บูรูลิ อัลเซอร์” ซึ่งแพร่ระบาดอยู่ในอย่างน้อย 33 ประเทศทั่วโลก ส่วนมากเป็นประเทศในเขตร้อนโดยเฉพาะทวีปแอฟริกาและแอฟริกาทางตอนใต้ของทะเลทรายซาฮาร่า

“บูรูลิ อัลเซอร์”(Buruli ulcer) ซึ่งเป็นโรคผิวหนังร้ายแรงชนิดหนึ่ง สาเหตุมาจากแบคทีเรียที่ชื่อ Mycobacterium ulcerans ซึ่งเป็นแบคทีเรียตระกูลเดียวกับที่ก่อให้เกิดโรคเรื้อน ที่สร้างสารพิษไปทำลายเนื้อเยื่อไขมันใต้ผิวหนัง พิษของมันจะส่งผลถึงเนื้อเยื่อและกระดูก ทางองค์การอนามัยโลกได้ประกาศให้เป็นโรคติดเชื้อที่คุกคามต่อสุขภาพมวลชน ในตอนแรกที่ผู้ป่วยติดเชื้อนั้นจะเกิดตุ่มบวมใต้ผิวหนังแต่ไม่มีความเจ็บปวดเกิดขึ้น เหมือนการเป็นโรคเรื้อน ส่วนใหญ่มักจะเกิดบริเวณแขนขา ต่อมา ตุ่มจะบวมขึ้น และอาจมีไข้ในบางราย เมื่ออาการรุนแรงขึ้นก็จะเกิดแผลซึ่งแผลนั้นอาจลึกไปถึงกระดูก จากนั้นแผลจะเริ่มขยายออกเป็นแผลสดที่ผิวหนังถูกกัดกินโดยแบคทีเรียชนิดนี้ ผิวจะเปิดออกจนเห็นกล้ามเนื้อและกระดูกด้านใน

ผู้ป่วยโรคนี้มักเป็นเด็กวัยต่ำกว่า 15 ขวบ เนื่องจากแบคทีเรียจะออกฤทธิ์ได้เร็วก็ต่อเมื่อบุคลลนั้นๆ มีภูมิคุ้มกันไม่ดี ทั้งนี้ พิษของมันยังมีฤทธิ์เป็นสารกดภูมิคุ้มกันอีกด้วย ชื่อของโรคได้มาจากแหล่งกำเนิดคือเขตบูรูลิของประเทศยูกันดา

องค์กรอนามัยโลก (ฮู)เผยว่า ในแต่ละปีจะมีสถิติผู้ติดเชื้อดังกล่าว 5,000-6,000 ราย หากรักษาตั้งแต่เริ่มติดเชื้อแรกๆพบว่า ร้อยละ 80 สามารถรักษาได้ แต่หากเชื้อลุกลามทั่วตัวจะทำให้คนไข้เสียชีวิต ประเทศในเอเชียที่พบโรคนี้ได้แก่ ญี่ปุ่น ออสเตรเลีย มาเลเซีย จีนและอินโดนีเซีย ทั้งนี้ พาหะของโรคดังกล่าวยังไม่ทราบแน่ชัดแต่แพทย์เผยว่า อาจมาจากแมลงที่ได้รับเชื้อ Mycobacterium จากแหล่งน้ำ

อย่างไรก็ตาม ยังไม่เคยมีรายงานว่า พบผู้ป่วยโรคดังกล่าวในประเทศไทย แต่ผู้ที่จะเดินทางไปต่างประเทศสามารถตรวจสอบข้อมูลประเทศที่มีรายงานโรคดังกล่าวได้ที่เว็บไซต์ของฮู

เครดิตข้อมูล:องค์กรอนามัยโลก

ที่มา เดลินิวส์
วันที่ 26 ก.ค 2557