Page 1 of 1

วิจัยอย่างยั่งยืน! มหกรรมงานวิจัยแห่งชาติ ปีนี้ - ฉลาดคิด

Posted: 07 Aug 2014, 08:36
by brid.siriwan
วิจัยอย่างยั่งยืน! มหกรรมงานวิจัยแห่งชาติ ปีนี้ - ฉลาดคิด

เป็นประจำทุกปีกับการนำเสนอผลงานวิจัย ที่แสดงให้เห็นว่าศักยภาพของคนไทยไม่ใช่สู้ใครเขาไม่ได้ หากมีโอกาสและได้รับการสนับสนุน

ซึ่ง “มหกรรมงานวิจัยแห่งชาติ” ก็เป็นอีกหนึ่งเวที ในการนำเสนอต้นแบบ ความคิด และสิ่งประดิษฐ์ผลงานนักวิจัยไทยจากหน่วยงานเครือข่ายในระบบวิจัยทั่วประเทศ

“ศาสตราจารย์นายแพทย์สุทธิพร จิตต์มิตรภาพ” เลขาธิการคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ บอกว่า ปีนี้ วช.หรือ สำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ จัดงาน “มหกรรมงานวิจัยแห่งชาติ” ขึ้น

ด้วยแนวคิด “วิจัยเพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิต เศรษฐกิจและสังคม อย่างยั่งยืน”

มีการนำเสนอผลงานวิจัยจากหน่วยงานเครือข่ายในระบบวิจัยทั่วประเทศมากกว่า 100 หน่วยงาน มีผลงานกว่า 250 เรื่อง

ทั้งนี้ไฮไลต์ผลงานที่จะนำมาจัดแสดง เช่น นวัตกรรมยานพาหนะสำหรับผู้พิการทางการเคลื่อนไหว จากสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง ที่ออกแบบรถมอเตอร์ไซค์สามล้อให้ผู้พิการสามารถเข็นรถเข็นขึ้นมาเพื่อขับขี่ได้อย่างสะดวก ปลอดภัย และมีโครงสร้างที่ถูกต้องตามกฎหมาย

หุ่นยนต์ลิงปีนต้นหมาก ต้นแบบจากมหาวิทยาลัยนราธิวาสราชนครินทร์ ที่สร้างขึ้นด้วยท่อพีวีซี มีมอเตอร์ 2 ตัว ขับเคลื่อนด้วยแบตเตอรี่ สามารถใช้เก็บผลหมากแทนคน ใช้เวลาในการขึ้นลง 6 นาทีต่อ 1 ต้น ช่วยลดความเสี่ยงจากการเกิดอุบัติเหตุของคนได้

การตรวจวัดความหอมของข้าวไทย ผลงานนักวิจัยจากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลสุวรรณภูมิ ที่นำเทคโนโลยีการตรวจจับกลิ่น โดยการประมวลผลอาเรย์หัววัดทางเคมี มาผลิตเป็นเครื่องมือที่เรียกว่าจมูกอิเล็กทรอนิกส์ สำหรับวัดระดับความหอมของข้าว

นอกจากนี้ยังมีไอโซนาร์ เครื่องบอกเตือนสิ่งกีดขวางสำหรับผู้พิการทางสายตา จากมหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง ผลิตภัณฑ์เวชสำอางไบโอเจลจากสาหร่ายไก จากมหาวิทยาลัยแม่โจ้ที่นำสาหร่ายไก สาหร่ายน้ำจืดสีเขียวที่พบมากในแม่น้ำน่าน และวิจัยพบว่ามีสารต้านอนุมูลอิสระต้านการอักเสบ มาพัฒนาต่อยอดเป็นผลิตภัณฑ์เจลลบริ้วรอยและเจลปิดใต้ตาและจมูก เก้าอี้เคลื่อนย้ายผู้สูงอายุ จากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ที่ช่วยในการเคลื่อนย้ายตัวผู้สูงอายุจากเตียงไปยังจุดต่าง ๆ ของที่พักอาศัยและสามารถปรับเปลี่ยนท่าจากนอนเป็นนั่งหรือจากนั่งเป็นนอนได้

และโทรวัดน้ำ ฝีมือ ดร.วิชญ์ ศรีวงษา นักวิจัยจากสำนักวิจัยและพัฒนา กรมชลประทาน ที่ทำขึ้นเพื่อแก้ปัญหาการขาดแคลนแรงงานฝีมือในการเก็บข้อมูลระดับน้ำ และทดแทนการทำระบบโทรมาตรที่ต้องใช้เงินลงทุนสูง สำหรับระบบนี้สามารถนำมือถือแบบเติมเงินมาใช้บอกข้อมูลระดับน้ำแบบเรียลไทม์ได้อย่างแม่นยำ

นี่แค่ตัวอย่าง ..ยังมีผลงานวิจัยคนไทยให้ชมอีกมาก

อยากรู้ว่าวิจัยอย่างไร ถึงจะเกิดการพัฒนาอย่างยั่งยืน ชมได้ในงานมหกรรมงานวิจัยแห่งชาติ 7-11 ส.ค. นี้ที่บางกอกคอนเวนชั่นเซ็นเตอร์ เซ็นทรัลเวิลด์ กรุงเทพฯ.

นาตยา คชินทร

nattayap.k@gmail.com

ที่มา เดลินิวส์
วันที่ 7 สิงหาคม 2557