Page 1 of 1

เครื่องพิมพ์อวัยวะเทียม 3 มิติ - รอบรู้ไอที รอบโลกเทคโนโลยี

Posted: 07 Aug 2014, 08:50
by brid.siriwan
เครื่องพิมพ์อวัยวะเทียม 3 มิติ - รอบรู้ไอที รอบโลกเทคโนโลยี

ในทุกวันนี้ที่เทคโนโลยีเข้ามามีบทบาทในชีวิตประจำวันของพวกเรามากขึ้นจนแทบจะเรียกได้ว่ามองไปทางไหนก็เจอ ขนาดหลับตาก็ยังได้ยินเสียง คุณผู้อ่านเคยนึกกลัวการใช้เทคโนโลยีเหล่านี้บ้างไหมครับ

ในทุกวันนี้ที่เทคโนโลยีเข้ามามีบทบาทในชีวิตประจำวันของพวกเรามากขึ้นจนแทบจะเรียกได้ว่ามองไปทางไหนก็เจอ ขนาดหลับตาก็ยังได้ยินเสียง คุณผู้อ่านเคยนึกกลัวการใช้เทคโนโลยีเหล่านี้บ้างไหมครับ เคยนึกกลัวไหมครับว่าการที่ต้องนั่งอยู่แต่หน้าคอมพ์หรือก้มหน้าจิ้มมือถือตลอดเวลาจะทำให้สุขภาพย่ำแย่ สมรรถภาพร่างกายเสื่อมถอยเร็วขึ้น แน่ล่ะครับว่าทุกสิ่งในโลกล้วนเป็นดาบสองคม มองในคมหนึ่งสิ่งที่กลัวกันนี้ก็ไม่ได้เกินกว่าเหตุเพราะเป็นความจริงที่มีให้เห็นอยู่รอบตัวบ่อย ๆ แต่ถ้ามองอีกคมหนึ่งที่เหลือ และมองในมิติที่กว้างขึ้นด้วยก็จะเห็นนะครับว่าเทคโนโลยีและวิทยาศาสตร์สมัยใหม่นี้ หลาย ๆ อย่างออกแบบมาเพื่อช่วยในเรื่องสุขภาพและกลายเป็นสิ่งที่เพิ่มโอกาสให้ผู้ป่วยแทบทุกกลุ่มมีโอกาสในการใช้ชีวิตที่ยืนยาวมากขึ้นเช่นกัน

คุณผู้อ่านคอลัมน์ประจำวันพุธของผมหลาย ๆ คนน่าจะเคยได้ยินเรื่องของการผ่าตัดเปลี่ยนอวัยวะหรือการปลูกถ่ายอวัยวะผ่านหูผ่านตากันมาบ้างใช่ไหมครับ เรื่องนี้ไม่ใช่เรื่องใหม่อะไร มีทำกันมาเป็นเวลาหลายสิบปีแล้วในวงการแพทย์ ในหนังในละครหรือแม้แต่ในฟอร์เวิร์ดเมลก็มีพูดถึงกันอยู่บ่อย ๆ สิ่งหนึ่งที่เป็นปัญหามากในการเปลี่ยนหรือปลูกถ่ายอวัยวะก็คงหนีไม่พ้นเรื่องที่ว่าจะหาเนื้อเยื่อหรืออวัยวะเทียมที่เข้ากันได้กับร่างกายของผู้ป่วยคนนั้น ๆ และไม่เกิดผลกระทบข้างเคียงมาได้อย่างไร ถ้าเป็นเนื้อเยื่อหรืออวัยวะจากญาติที่มีสายเลือดใกล้ชิดกันก็มีโอกาสที่จะเข้ากันได้มากขึ้น แต่ก็ไม่การันตีเสมอไปอยู่ดี ซึ่งประเด็นนี้เป็นเรื่องที่ไม่ง่ายเลยจริง ๆ

แต่อย่าลืมนะครับว่าตอนนี้เราอยู่ในโลกศตวรรษที่ 21 แล้ว โลกที่อะไร ๆ ก็สามารถเป็นไปได้ทั้งนั้น แม้แต่เรื่องการปลูกถ่ายอวัยวะนี้ก็เช่นกัน ตอนนี้คณะวิจัยจาก Brigham & Women’s Hospital ซึ่งเป็นโรงพยาบาลในเครือของมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด ได้คิดค้นเครื่องพิมพ์ชีวภาพ 3 มิติ หรือที่เรียกเป็นภาษาอังกฤษว่า 3D Bioprinting ขึ้น ทั้งนี้ได้มีการทดสอบสร้างหลอดเลือดเทียมเพื่อใช้กับมนุษย์โดยการใช้เครื่องพิมพ์ชีวภาพสามมิตินี้เป็นตัวช่วย ซึ่งงานนี้สื่อมวลชนต่างประเทศหลายสื่อถึงขนาดกล่าวว่า นี่เป็นครั้งแรกของโลกที่มีการทดลองเรื่องนี้เลยทีเดียวครับ

ในส่วนหลักการของเครื่องพิมพ์ 3 มิตินั้นถือว่าไม่ใช่เรื่องใหม่อะไรในแวดวงเทคโน โลยี แต่เมื่อคณะวิจัยนี้นำเครื่องพิมพ์ 3 มิติมาผนวกกับเทคนิคเฉพาะของการสร้างเนื้อเยื่อหรือหลอดเลือดจำลอง ผลที่ได้เลยน่าสนใจไม่น้อยว่าจะออกหัวหรือก้อยยังไง เมื่อพูดถึงเครื่องพิมพ์ สองอย่างแรกที่พวกเรานึกถึงกันก็คือ หมึกพิมพ์กับกระดาษ ใช่ไหมครับ แต่ถ้าจะพิมพ์หลอดเลือดเทียม 3 มิติออกมานี่ล่ะจะเอาอะไรเป็นหมึก เอาอะไรเป็นกระดาษหรือฐานดี

สำหรับคณะวิจัยนี้พวกเขาใช้เซลล์ต้นกำเนิดจากผู้ป่วยซึ่งรวมถึงโปรตีนที่เร่งการเจริญเติบโต แล้วสารเชื่อมโยงที่เป็นไฮโดรเจลต่าง ๆ อย่างเจลาตินหรืออะกาโรสที่ทำให้เซลล์เติบโตได้ดี หรือที่เรียกกันว่า สเต็มเซลล์ ซึ่งเหตุผลที่ใช้สเต็มเซลล์ เพราะว่าเขาเชื่อว่าการใช้เซลล์ต้นกำเนิดที่เอามาตั้งต้นจากผู้ป่วยเองทำให้เราสามารถลดปัญหาความไม่เข้ากันของอวัยวะได้

นอกจากหลอดเลือดเทียมแล้วทางคณะวิจัยนี้ยังสามารถสร้างโครงสร้างร่างแหที่ทำหน้าที่เป็นหลอดเลือดให้มีลักษณะต่าง ๆ กันได้อีกด้วย ซึ่งพวกเขาเชื่อว่าในอนาคตเทคโนโลยีของเครื่องพิมพ์ชีวภาพ 3 มิตินี้ จะเข้ามามีบทบาทในการพัฒนาการปลูกถ่ายเนื้อเยื่อให้เป็นไปตามที่ผู้ป่วยต้องการมากขึ้น

ในปัจจุบันเราเริ่มเห็นงานวิจัยที่เกี่ยวกับเครื่องพิมพ์ชีวภาพมากขึ้น อีกทั้งผลการทดลองเพื่อสนับสนุน พัฒนา และปรับปรุงก็มีออกมาเรื่อย ๆ ทำให้พอมองเห็นภาพได้เลยนะครับว่าในอนาคตที่ไม่ไกลนักนี้เครื่อง พิมพ์ชีวภาพสามมิติน่าจะเป็นฮีโร่ขี่ม้าขาวที่มาช่วยเหลือผู้ป่วยซึ่งกำลังรอคอยอวัยวะจากผู้บริจาคอยู่ได้ ช่วยให้พวกเขาได้กลับมาใช้ชีวิตอย่างปกติสุขอีกครั้ง เป็นการยกระดับคุณภาพชีวิตและยืดอายุขัยของมนุษย์ให้ยาวนานขึ้นได้เลยล่ะครับ

เห็นไหมครับว่าโลกแห่งเทคโนโลยียังมีอะไรให้รอค้นพบอีกมากมาย เทคโน โลยีหลาย ๆ อย่างที่อาจจะดูอิ่มตัวแล้ว ธรรมดาแล้ว เป็นของทั่ว ๆ ไปแล้ว แต่พอถูกนำมาบูรณาการกับเทคโนโลยีในอีกสายหนึ่งเท่านั้นเองก็สามารถก่อให้เกิดนวัตกรรม ใหม่ที่หล่อเลี้ยงหรือแม้แต่สั่นคลอนโลกศตวรรษที่ 21 ของพวกเราได้ เพราะฉะนั้นเราคนไทยก็อย่าลืมมาช่วยกันคิด มาร่วมกันบูรณาการ มาแข่งกันสรรค์สร้างนวัตกรรม ใหม่ ๆ อย่างสร้างสรรค์ เพื่อช่วยขับเคลื่อนประเทศไทยของเราให้โดดเด่นขึ้นในเวทีโลกกันเถอะครับ.

ผศ.ดร.ชุติสันต์ เกิดวิบูลย์เวช

หัวหน้าภาควิชาเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ICT)

วิทยาลัยนานาชาติ มหาวิทยาลัยรังสิต

chutisant.k@rsu.ac.th

ที่มา เดลินิวส์
วันพุธ 6 สิงหาคม 2557