Page 1 of 1

ผลงาน “นักวิทย์รุ่นใหม่” ใช้กราฟีนแก้เชื้อรารายแรกของโลก

Posted: 07 Aug 2014, 17:57
by brid.siriwan
ผลงาน “นักวิทย์รุ่นใหม่” ใช้กราฟีนแก้เชื้อรารายแรกของโลก

คลิกที่ภาพเพื่อดูขนาดใหญ่ขึ้น
ผลงาน “นักวิทย์รุ่นใหม่” ใช้กราฟีนแก้เชื้อรารายแรกของโลก
ดร.มนตรี สว่างพฤกษ์

ผลงาน “นักวิทย์รุ่นใหม่” ใช้กราฟีนแก้เชื้อรารายแรกของโลก
ผศ.ดร.ทรงยศ นาคอริยกุล

ผลงาน “นักวิทย์รุ่นใหม่” ใช้กราฟีนแก้เชื้อรารายแรกของโลก
ผศ.ดร.ธงไชย วิฑูรย์

ผลงาน “นักวิทย์รุ่นใหม่” ใช้กราฟีนแก้เชื้อรารายแรกของโลก
ดร.ปริญญา การดำริห์


ผลงาน “นักวิทย์รุ่นใหม่” ปีล่าสุด ใช้ “กราฟีน” แก้ปัญหาเชื้อราเป็นรายแรกของโลก โดยประเดิมใช้ในยางพารา แก้ปัญหาชาวสวนถูกกดราคาจากพ่อค้าคนกลาง และวางแผนต่อยอดใช้ในผลผลิตทางการเกษตรอื่นๆ อาทิ ลองกอง มะขาม ข้าว และดอกไม้

ดร.มนตรี สว่างพฤกษ์ อาจารย์ประจำภาควิชาวิศวกรรมเคมี คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เพิ่งได้รับรางวัลนักวิทยาศาสตร์รุ่นใหม่ ประจำปี 2557 จากมูลนิธิส่งเสริมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีในพระบรมราชูปถัมภ์ ร่วมกับนักวิทยาศาสตร์อีก 3 คน ได้แก่ ผศ.ดร.ทรงยศ นาคอริยกุล ภาควิชาวิศวกรรมไฟฟ้าและคอมพิวเตอร์ คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, ผศ.ดร.ธงไชย วิฑูรย์ ภาควิชาวิศวกรรมเคมี คระวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และ ดร.ปริญญา การดำริห์ ภาควิชาฟิสิกส์ คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

สำหรับผลงานที่โดดเด่นของ ดร.มนตรีนั้นเป็นการนำกราฟีนไปใช้แก้ปัญหาเชื้อราในยางพารา โดยเจ้าตัวเผยว่านับเป็นกลุ่มวิจัยแรกที่นำกราฟีนไปใช้ยับยั้งเชื้อรา โดยพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์ต้นแบบที่เป็นสารเนื้อผสมระหว่างกราฟีนและน้ำ ซึ่งเกษตรกรสามารถฉีดพ่นลงบนแผ่นยางพาราก่อนนำไปตากแห้ง ทดแทนสารเคมีอย่างไนโตรฟีนอลและแคปแทน ซึ่งเป็นสารก่อมะเร็ง และมักตกค้างบนแผ่นยางพารา

ทั้งนี้ กราฟีนเป็นผลงานการค้นพบของ ศ.อังเดร ไกม์ และ ศ.คอนสแตนติน โนโวเซลอฟ ซึ่งได้รับรางวัลโนเบลสาขาฟิสิกส์เมื่อปี 2553 ระหว่างเตรียมกราฟีนจากกราไฟต์ด้วยการลอกเทปกาว จากนั้นได้มีการพัฒนาเทคนิคการเตรียมกราฟีนและการประยุกต์ใช้งานในหลายๆ ด้าน ซึ่งการนำมายับยั้งเชื้อราของทีม ดร.มนตรีนั้น พบว่าขอบและมุมของกราฟีนที่บางและแหลมคมนั้นสัมผัสเยื่อหุ้มเซลล์ของจุลินทรีย์ และกราฟีนยังจับกับชั้นไขมันของผนังหุ้มเซลล์ของเชื้อรา ทำให้ผนังเซลล์เสียหายและเชื้อราตายในที่สุด

“เรานำกราฟีนไปใช้กับยางพาราเนื่องจากทีมศิษย์ที่อยู่ในทีมวิจัยมีสวนยางพาราอยู่ทางภาคใต้ จึงได้ทดลองนำไปใช้ในสวนยางจริงๆ และเราก็ได้ถ่ายทอดเทคโนโลยีนี้ให้แก่ชาวสวนยางแล้ว ซึ่งต้นทุนในการใช้กราฟีนยับยั้งเชื้อรานี้ยังมีราคาถูกกว่าการรมควันที่มีต้นทุนสูงด้วย โดยมีต้นทุนเพียงแผ่นละ 25 สตางค์เท่านั้น และต่อไปคือการต่อยอดงานวิจัยกับผลไม้มีเปลือก อาทิ มะขาม ลองกอง มังคุด เงาะ รวมถึงดอกไม้และข้าว” ดร.มนตรีเผย

ส่วนนักวิทยาศาสตร์รุ่นใหม่คนอื่นๆ ก็มีผลงานที่โดดเด่นไม่แพ้กัน อย่าง ผศ.ดร.ธงไทย ได้พัฒนาตัวดูดซับคาร์บอนไดออกไซด์ ซึ่งเป็นก๊าซเรือนกระจกที่มีบทบาทสำคัญในการก่อภาวะโลกร้อน โดยได้นำเปลือกไข่ซึ่งมี “แคลเซียมออกไซด์” มาใช้เป็นตัวดูดซับคาร์บอนไดออกไซด์ออกจากก๊าซผสมที่ได้จากกระบวนการเผาไหม้ถ่านหิน และได้ปรับปรุงโครงสร้างและปริมาตรรูพรุนของแคลเซียมออกไซด์ในเปลือกไข่ เพื่อเพิ่มพื้นที่ผิวจำเพาะ และเพิ่มประสิทธิภาพการดูดซับและคายก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์

ทางด้าน ดร.ทรงยศ ได้ใช้องค์ความรู้ด้านวิทยาศาสตร์คอมพิวเตอร์เรื่อง “การคัดเลือกคุณลักษณะ” (feature selection) มาประยุกต์ใช้ในงานด้านอาหารและการแพทย์ ในด้านอาหารนั้นใช้ตรวจคุณภาพของอาหารว่าเป็นพิษหรือปลอดภัยต่อผู้บริโภคหรือไม่ ส่วนด้านการแพทย์นำไปใช้คัดแยกผู้ป่วยมะเร็งระยะแรก เพื่อการรักษาที่ทันท่วงที นอกจากนี้ยังนำไปใช้ทางการทหารในด้านการตรวจจับระยะไกลและการสำรวจเชิงพื้นที่

ขณะที่ ดร.ปริญญาทำการศึกษาเชิงทฤษฎีเกี่ยวกับทฤษฎีสตริง (String Theory) ซึ่งเป็นทฤษฎีที่ช่วยเสริมจุดบกพร่องของทฤษฎีควอนตัมและทฤษฎีสัมพัทธภาพทั่วไป และช่วยลดความยุ่งยากของการรวมทฤษฎีทั้งสอง โดยทฤษฎีสตริงจะเปลี่ยนการมองอนุภาคจากเป็นจุดไปเป็นลักษณะเส้นเชือก ซึ่งการสั่นที่ความถี่ต่างกันทำให้เกิดการลักษณะที่แตกต่างกัน

นอกจากรางวัลนักวิทยาศาสตร์รุ่นใหม่แล้ว มูลนิธิส่งเสริมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีในพระบรมราชูปถัมภ์ยังมอบรางวัลนักวิทยาศาสตร์ดีเด่น โดยปี 2557 มอบรางวัลให้แก่ ศ.ดร.ธวัชชัย ตัณฑุลานิ และ ศ.ดร.ธรยุทธ วิไลวัลย์ จากภาควิชาเคมี คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
*******************************

ที่มา ASTVผู้จัดการออนไลน์
วันที่ 7 สิงหาคม 2557