เทคโนโลยีจอภาพ จากอดีตสู่อนาคต - รอบรู้ไอที รอบโลกเทคโนโลยี

Post Reply
brid.siriwan
Posts: 3942
Joined: 05 Apr 2013, 08:47

เทคโนโลยีจอภาพ จากอดีตสู่อนาคต - รอบรู้ไอที รอบโลกเทคโนโลยี

Post by brid.siriwan »

เทคโนโลยีจอภาพ จากอดีตสู่อนาคต - รอบรู้ไอที รอบโลกเทคโนโลยี

ในยุคที่สมาร์ทโฟน คอมพิวเตอร์ และ เครื่องใช้อิเล็กทรอนิกส์กำลังแข่งกันพัฒนาขีดความสามารถอย่างไม่หยุดหย่อนเช่นตอนนี้ นอกจากจะแข่งขันกันในเรื่องของหน่วยความจำที่มีขนาดความจุมากขึ้น

ในยุคที่สมาร์ทโฟน คอมพิวเตอร์ และ เครื่องใช้อิเล็กทรอนิกส์กำลังแข่งกันพัฒนาขีดความสามารถอย่างไม่หยุดหย่อนเช่นตอนนี้ นอกจากจะแข่งขันกันในเรื่องของหน่วยความจำที่มีขนาดความจุมากขึ้น รูปลักษณะภายนอกที่บางลง น้ำหนักที่เบาลง แบตเตอรี่ที่ใช้งานได้ยาวนานขึ้น สิ่งที่ขาดไปไม่ได้เลยก็คือการแข่งขันในเรื่องเทคโนโลยีจอภาพแสดงผลนั่นเองครับ สมาร์ทโฟนไหนจอภาพไม่ดีถ่ายรูปแล้วออกมาดูไม่สวย ก็คงยากที่จะครองใจผู้คนในยุคโซเชียลเน็ตเวิร์ค like & share นี้ได้ใช่ไหมล่ะครับ

ถ้าคุณผู้อ่านคอลัมน์เทคโนโลยีวันพุธของผมคนไหนอายุเกิน 30 ปีขึ้นไป คงพอจำกันได้กับจอภาพหนา ๆ หนัก ๆ ของคอมพิวเตอร์ตั้งโต๊ะและโทรทัศน์ในยุคเก่า ๆ ที่เรียกกันว่า ซีอาร์ที (Cathode Ray Tube: CRT Monitor) ซึ่งต่อมาก็เสื่อมความนิยมลงเพราะคนหันไปใช้จอภาพแบน ๆ รุ่นใหม่ ๆ อย่างจอ LCD จอ LED หรือจอพลาสมาแทน ซึ่งนอกจากเรื่องของรูปลักษณะภายนอกที่กินพื้นที่น้อยลงดูทันสมัยมากกว่าแล้ว ในเรื่องของประสิทธิภาพการแสดงภาพและการประหยัดพลังงานก็ดีขึ้นกว่าจอหนา ๆ หนัก ๆ แบบเดิมมากอีกด้วย

แต่อย่างที่พวกเรารู้กันครับว่าโลกเทคโนโลยีไม่เคยที่จะยอมหยุดนิ่งอยู่กับที่ ถ้าพูดถึงเทคโนโลยีจอภาพแบบใหม่ที่กำลังมาแรงก็คงจะหนีไม่พ้น จอภาพชนิด OLED (Organic Light Emitting Diodes) นั่นเอง จอภาพ OLED นี้เป็นนวัตกรรมที่พลิกโฉมเปลี่ยนไปจากจอภาพในยุคแรก ๆ เกือบจะโดยสิ้นเชิงเลยล่ะครับ ในขณะที่จอภาพยุคก่อน ๆ มีกลไกการแสดงภาพหรือกลไกการให้กำเนิดแสงที่ประกอบขึ้นจากอุปกรณ์หลาย ๆ ชนิดที่ถูกใส่มาให้ทำงานร่วมกัน จอภาพชนิด OLED นี้กลับมีลักษณะเป็นเหมือนแค่แผ่นฟิล์มบาง ๆ ที่สารอินทรีย์ที่เรียงตัวกันอยู่ภายในมีคุณสมบัติสามารถเปล่งแสงได้ด้วยตัวเองเมื่อมีกระแสไฟฟ้าไหลผ่าน

ลักษณะของจอ OLED ที่เป็นสารเปล่งแสงด้วยตัวเองแทนที่จะเป็นกลไกหรืออุปกรณ์ซับซ้อนอยู่ภายในนี้มีประโยชน์หลายอย่างเลยล่ะครับ อย่างแรกคือทำให้จอภาพชนิดนี้สามารถบางได้จนเหมือนแผ่นฟิล์มหรือแผ่นพลาสติกกลาย ๆ อย่างที่สองคือเวลาที่ต้องการแสดงภาพสีดำ ก็เพียงแค่ทำให้สารอินทรีย์บริเวณนั้นไม่มีการเปล่งแสงใด ๆ ผลก็จะได้สีดำที่ดำสนิทจริง ๆ ทำให้คอนทราสต์ของภาพสูงขึ้น แถมไม่กินพลังงานไฟฟ้า ซึ่งจุดนี้จะต่างกับจอภาพแบบ LCD ที่ใช้ระบบ backlight ที่ต้องใช้แสงหล่อเลี้ยงหน้าจออยู่ตลอดเวลา แม้จะแสดงภาพสีดำก็ไม่สามารถที่จะดับแสงของจุดบนจอภาพให้เป็นสีดำสนิทได้จริง

และอย่างสุดท้ายคือมุมมองการมองภาพที่กว้างขึ้นของจอ OLED ที่ผมบอกว่ามุมมองกว้างนี้ไม่ได้หมายความว่าจอ OLED นี้มีขนาดใหญ่กว่าหน้าจอแบบอื่น ๆ นะครับ แต่ด้วยลักษณะที่แต่ละจุดบนจอ OLED เปล่งแสงได้ด้วยตัวเอง ไม่ใช่แสงจากกลไกกำเนิดแสงภายในที่ถูกสะท้อนหรือส่งต่อขึ้นมาแสดงที่แผ่นหน้าจอ ทำให้เราสามารถมองภาพบนจอ OLED นี้ได้จากหลาย ๆ มุมหลาย ๆ องศาโดยที่ยังคงเห็นภาพชัดเจนอยู่ เปรียบเทียบกับหน้าจอประเภทอื่นที่ถ้าไม่มองจากมุมหน้าตรงแล้วก็จะเห็นภาพไม่ค่อยชัดนัก

ถึงปี ค.ศ.2014 ณ ตอนนี้มีโทรทัศน์หน้าจอ OLED วางจำหน่ายในท้องตลาดอยู่หลายรุ่น มือถือเองก็มีบางรุ่นที่ทดลองใช้หน้าจอประเภทนี้บ้างแล้ว แม้จำนวนผลิตภัณฑ์จะยังน้อยและราคาก็ยังค่อนข้างแพง แต่คุณภาพของภาพและสีที่ได้จากจอแบบนี้ก็ได้ยินมาว่าอยู่ในระดับยอดเยี่ยมเลยทีเดียวนะครับ ทั้งนี้ทั้งนั้นก็ใช่ว่าจอ OLED นี้จะดีเลิศไปเสียหมดนะครับ นอกจากราคาที่ยังแพงอยู่ เทคโนโลยีที่ยังไม่ค่อยนิ่งแล้ว จุดบนจอ OLED ยังสามารถเกิดอาการที่เรียกว่า burn (ไหม้) ได้ด้วยครับ อาการที่ว่านี้เกิดจากการที่เราเปิดภาพหรือสีใด ๆ ค้างไว้บนจอ OLED นาน ๆ แล้วพอเปลี่ยนภาพไปแสดงภาพหรือสีอื่นบ้าง กลับมีจุดบางจุดบนจอที่ยังคงแสดงสีของภาพเดิมค้างอยู่นั่นเอง

ลักษณะที่น่าสนใจที่สุดอีกประการหนึ่งของจอภาพแบบ OLED ที่ดึงดูดนักวิจัยทั่วโลกนั้น คือ ลักษณะที่ว่าจอประเภทนี้สามารถนำมาทำให้เป็นหน้าจอแสดงภาพที่มีความยืดหยุ่น สามารถถูกม้วนหรือดัดหรือบิดให้โค้งงอตามความต้องการได้ เป็นอีกหนึ่งหลักการที่สำคัญของการพัฒนา e-Paper หรือ กระดาษอิเล็กทรอนิกส์ ที่กำลังมาแรงเลยล่ะครับ ซึ่งล่าสุดในปีนี้เองทางบริษัท LG ก็ทำสำเร็จออกมาประมาณหนึ่งแล้ว ได้เป็นหน้าจอ OLED ขนาด 18 นิ้วที่สามารถม้วนได้เหมือนม้วนหนังสือพิมพ์จนกลายเป็นทรงกระบอกกลมเส้นผ่านศูนย์กลางแค่ 3 เซนติเมตรอันนึง และหน้าจอ OLED ขนาด 18 นิ้วที่มีความโปร่งแสงมาก ๆ อีกอันนึง

แต่อย่างที่ผมเกริ่นไปก่อนหน้านี้ล่ะครับว่าเทคโนโลยีด้านนี้ยังอยู่ในช่วงกำลังเติบโต จอ OLED 18 นิ้วของ LG ตอนนี้ยังมีความละเอียดที่ต่ำอยู่มาก ในแวดวงการวิจัยและพัฒนาก็ยังมีประเด็นอื่น ๆ ให้คิดค้นหาวิธีแก้ไข ตัวอย่างเช่น ถ้าหน้าจอแบน ๆ บิดได้แบบนี้แล้วแบตเตอรี่หรือถ่านล่ะจะเป็นยังไง? หน้าจอแบบนี้จะรองรับการบิดโค้งได้สักกี่ครั้งก่อนจะเริ่มเสื่อมสภาพ? หน้าจอแบบนี้จะสามารถทำเป็นหน้าจอระบบสัมผัสได้ไหม? หรือ แม้แต่ประเด็นที่ว่าจะนำเซนเซอร์มาติดบนหน้าจอ OLED เพื่อให้รู้ว่าตอนนี้หน้าจอถูกบิดในลักษณะไหนจะได้ทำการโต้ตอบได้ถูกต้อง เป็นต้น

ณ ตอนนี้ถึงแม้ว่าจอภาพแบบ OLED จะยังไม่สามารถเข้ามาเป็นเทคโนโลยีหลักที่วางจำหน่ายอยู่กลาดเกลื่อนในท้องตลาดได้ แต่ในเมื่อโลกเทคโนโลยีของเราหมุนด้วยความเร่งอยู่ตลอดเวลา ผมเชื่อนะครับว่าสุดท้ายแล้วจอภาพชนิดใหม่นี้ที่รวมเอาข้อดีของจอภาพอิเล็กทรอนิกส์ที่แสดงภาพได้หลากหลายเข้ากับความบางยืดหยุ่นพกพาง่ายของแผ่นกระดาษ จะค่อย ๆ เข้ามาแทนที่จอภาพในปัจจุบัน และลามไปถึงแทนที่สิ่งพิมพ์รูปแบบกระดาษอย่างหนังสือพิมพ์ นิตยสาร หรือแผ่นป้ายโฆษณาด้วย

จะว่าไปแล้วนี่ก็ไม่ต่างจากวัฏจักรเทคโนโลยีและนวัตกรรมอื่น ๆ นะครับ มีมาก็มีไป ในเมื่อโลกศตวรรษที่ 21 ของเรามีการเปลี่ยนถ่าย เปลี่ยนแปลง เปลี่ยนรูปแบบไปตามพลวัตความต้องการของผู้บริโภคอยู่ตลอดเวลาเช่นนี้ คนที่พร้อมจะปรับเปลี่ยนตัวเองไปด้วยกันกับความเปลี่ยนแปลงเหล่านี้ รู้จักที่จะใช้ประโยชน์จากความเปลี่ยนแปลงเหล่านี้เท่านั้นล่ะครับ ที่จะสามารถอยู่รอดในโลกใบเล็ก ๆ นี้ได้อย่างสะดวกสบายที่สุด.

ผศ.ดร.ชุติสันต์ เกิดวิบูลย์เวช

มหาวิทยาลัยรังสิต

chutisant.k@rsu.ac.th

ที่มา เดลินิวส์
วันที่ 13 สิงหาคม 2557
Post Reply

Return to “แจ้งข่าว ไทย ERP และข่าวอื่นๆที่น่าสนใจ”