Page 1 of 1

คลังดันกองทุนวายุภักดิ์ถือหุ้นบริษัทท่อก๊าซฯ ปตท.

Posted: 22 Aug 2014, 10:54
by brid.siriwan
คลังดันกองทุนวายุภักดิ์ถือหุ้นบริษัทท่อก๊าซฯ ปตท.

คลังหนุนกองทุนวายุภักดิ์ถือหุ้นบริษัทท่อก๊าซฯ ปตท. 25% ชี้อนาคตคนไทยได้ใช้ก๊าซ ฯ ถูกลง เหตุมีการแข่งขันเพิ่ม ไม่มีการแปรรูปธุรกิจท่อก๊าซฯเข้าตลาดหุ้นแน่นอน ยันคืนทรัพย์สินแผ่นดินครบ

นายรังสรรค์ ศรีวรศาสตร์ ปลัดกระทรวงการคลังเปิดเผยถึงกรณีคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ(กพช.)ระบุให้ตั้งบริษัทขึ้นมาเพื่อดูแลกิจการท่อก๊าซธรรมชาติ โดยให้บริษัท ปตท. จำกัด(มหาชน) ถือหุ้น 100% ว่ายืนยันว่า ไม่ใช่การผูกขาดธุรกิจแน่นอน เนื่องจากปัจจุบันกระทรวงการคลังถือหุ้นอยู่ใน บมจ.ปตท. 51% และมีกองทุนวายุภักษ์ถือหุ้นด้วย 14% รวมเป็น 65% และในระยะต่อไปกระทรวงการคลังอยู่ระหว่างการพิจารณาว่าจะเข้าไปถือหุ้นในบริษัทท่อก๊าซ ฯ แห่งใหม่ในสัดส่วนเพิ่มขึ้นเท่าไรซึ่งเบื้องต้นอาจจะเข้าไปถือหุ้นเพิ่มในบริษัทท่อ ฯ แห่งใหม่ อีก 25% โดยอาจให้กองทุนรวมวายุภักษ์เข้าไปถือเพิ่มเติมและจะต้องพิจารณาความพร้อมทางการเงินด้วย

ส่วนกรณีที่มีกลุ่มบุคคลระบุว่า ปตท.ส่งคืนท่อก๊าซ ฯ ให้แก่กรมธนารักษ์ไม่หมด นั้นเป็นความเข้าใจที่ไม่ถูกต้อง เพราะจากการที่ได้ตรวจสอบกับกรมธนารักษ์และคำพิพากษาของศาลปกครองสูงสุด ตั้งแต่สมัยปี 50 พบว่าบมจ.ปตท. ได้ดำเนินการคืนท่อก๊าซตามคำพิพากษาของศาลครบถ้วนแล้วเสร็จตั้งแต่ปี 51คิดเป็นที่ราชพัสดุ 32 ไร่ โดยทรัพย์สินต่างๆที่บมจ.ปตท.โอนคืนให้เป็นสมบัติของชาติ คิดเป็นมูลค่าประมาณ 15,000 ล้านบาท โดยส่วนนี้เป็นค่าอุปกรณ์ และค่าท่อ 14,000 ล้านบาทที่เหลือเป็นที่ดินจำนวน 106 แปลง หรือ 32 ไร่ คิดเป็นมูลค่า 1,000 ล้านบาท



อย่างไรก็ตามข้อสังสัยเกี่ยวกับท่อก๊าซที่อยู่เหนือทะเลว่าสาเหตุใด ยังไม่ส่งคืนนั้น ยืนยันว่า กระทรวงการคลัง, กรมธนารักษ์และ บมจ.ปตท.ได้ร่วมกับคณะกรรมการกฤษฎีกา ตั้งคณะทำงานขึ้นเพื่อพิจารณาข้อสังเกตในส่วนต่างๆ แล้วพบว่าท่อที่อยู่เหนือทะเลที่ไม่ได้ฝังลงไปในทะเลนั้นถือเป็นส่วนที่ปตท.ได้มาโดยสิทธิอันชอบ จึงไม่ถือเป็นสมบัติของชาติ ซึ่งภายหลังจากที่ ปตท.ส่งมอบท่อก๊าซ ฯ คืนเป็นที่เรียบร้อยแล้วได้จัดทำรายงานเสนอต่อศาลปกครองให้รับทราบ ซึ่งศาลปกครองก็ไม่ได้มีข้อสงสัยใดๆกลับมา ดังนั้นกรณีนี้จึงถือว่าเป็นข้อยุติแล้ว

สำหรับค่าเช่าพื้นที่ ที่ปตท.จ่ายให้แก่กรมธนารักษ์ได้ใช้วิธีการคำนวณตามรายได้แบบลำดับขั้นโดยหากปตท.มีรายได้จากธุรกิจท่อก๊าซเกินปีละ 5,000 ล้านบาทจะต้องจ่ายค่าเช่าสูงสุด 36% โดยที่ผ่านมาปตท.จ่ายให้กรมธนารักษ์เฉลี่ยปีละ 500-550 ล้านบาท

นอกจากนี้ยังได้สั่งการไปยังสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ(สคร.)ให้ไปตรวจสอบบริษัทลูกรัฐวิสาหกิจที่ตั้งขึ้นมาถึง 300 แห่งแล้วว่ามีสถานะการเงินเป็นอย่างไรซึ่งการตรวจสอบดังกล่าวนั้นไม่ใช่การไปกีดกันไม่ให้ตั้งแต่การตั้งบริษัทลูกขึ้นมาจำนวนมากและบางแห่งมีผลขาดทุนนั้นต้องไปดูว่าตั้งขึ้นมาทำหน้าที่อย่างเหมาะสมหรือไม่เพราะบางแห่งในช่วงแรกอาจจะมีผลขาดทุนบ้างแต่ในระยะยาวจะเป็นประโยชน์กับบริษัท ต้องมาพิจารณากัน

นายอารีพงศ์ ภู่ชอุ่ม ปลัดกระทรวงการคลัง กล่าวว่าได้หารือกับกรมธนารักษ์ กระทรวงการคลังเพื่อสร้างความชัดเจนกรณีการเข้าถือหุ้นในธุรกิจท่อก๊าซธรรมชาติ ภายหลังจากที่บมจ.ปตท.ดำเนินการแยกธุรกิจท่อก๊าซฯเสร็จ ตามนโนบายของกพช. คาดว่า จะตั้งบริษัทท่อก๊าซฯแล้วเสร็จประมาณเดือนมิ.ย. 58 โดยเบื้องต้นจะให้ ปตท.ถือหุ้น 100%ไปก่อน จากนั้นจะให้กระทรวงการคลังเข้ามาถือหุ้นร่วมต่อไป

อย่างไรก็ตามการแยกท่อก๊าซฯ จะส่งผลดีทำให้ประชาชนได้ใช้ราคาก๊าซ ฯ ถูกลงในอนาคตเพราะมีการแข่งขันธุรกิจท่อก๊าซฯ มีผู้ให้บริการท่อก๊าซ ฯ มากขึ้นและจะไม่ส่งผลกระทบต่อการเปลี่ยนแปลงราคาค่าใช้บริการผ่านท่อก๊าซฯเพราะมีคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน(กกพ.)หรือเรกูเลเรเตอร์กำหนดราคาค่าผ่านท่อไว้ประมาณ 21.76 บาทต่อล้านบีทียู

นอกจากนี้เรกูเลเตอร์จะเข้ามาเป็นผู้ดูแลราคาค่าผ่านท่อต่อไปในอนาคตเพื่อให้เกิดความเป็นธรรมในการใช้ท่อก๊าซฯของทุกฝ่ายต่อไปด้วย

“ เบื้องต้นจะหารือกับกระทรวงการคลังเพื่อให้เกิดความชัดเจนต่อสังคมกรณีการเข้าถือหุ้นธุรกิจท่อก๊าซฯโดยกระทรวงคลังจะเข้าไปถือหุ้นอย่างน้อย 25% ในธุรกิจท่อส่งก๊าซฯโดยกำลังพิจารณาว่าจะใช้เงินจากกองทุนวายุภักดิ์ หรือถือหุ้นผ่านกองทุนโครงสร้างพื้นฐานสำหรับใช้ในการเข้าไปถือหุ้นดังกล่าว โดยยืนยันว่าจะไม่มีการแปรรูปธุรกิจท่อก๊าซฯเข้าตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย(ตลท.)แน่นอนโดยเป็นเพียงแค่การทำให้ทรัพย์สินเกิดความชัดเจนเท่านั้น และเปิดให้ผู้ประกอบการอื่นๆสามารถเข้ามาใช้ท่อก๊าซฯได้ ลดปัญหาการผูกขาดธุรกิจท่อก๊าซฯลง “

“กรณีที่ประชาชนบางกลุ่มมีความเป็นห่วงว่า ปตท.คืนทรัพย์สินท่อก๊าซฯของปตท. ให้กระทรวงการคลังไม่ครบถ้วนนั้นขอยืนยันว่าที่ผ่านมากระทรวงพลังงานและกระทรวงการคลังได้ดำเนินการแบ่งแยกทรัพย์สินในส่วนที่เป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินรวมถึงสิทธิการใช้ที่ดินเพื่อวางระบบท่อก๊าซ และการแยกอำนาจและสิทธิในส่วนที่เป็นอำนาจมหาชนของรัฐออกจากอำนาจและสิทธิของปตท.ตามคำพิพากษาศาลปกครองสูงสุดครบถ้วนแล้ว นับตั้งแต่ปี 51 และศาลฯได้พิจารณายืนยันว่าหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ดำเนินการตามคำพิพากษาครบถ้วนแล้ว”

ที่มา เดลินิวส์
วันที่ 21 สิงหาคม 2557