Page 1 of 1

“เตาเผาพลอยไฟฟ้า” ไม่ต้องเฝ้า-ควบคุมผ่านเน็ต

Posted: 26 Aug 2014, 13:01
by brid.siriwan
“เตาเผาพลอยไฟฟ้า” ไม่ต้องเฝ้า-ควบคุมผ่านเน็ต
กระทรวงวิทย์จับมือสถาบันอัญมณีพัมนา “เตาเผาพลอยไฟฟ้า” ไม่ต้องเฝ้าหน้าเตา ควบคุมผ่านเน็ต เผาได้อุณหภูมิสูง 1,800 องศาเซลเซียส และมีระบบป้องหันไอความร้อน ไม่ให้เปิดประตูถ้าอุณหภูมิสูงกว่า 500 องศาเซลเซียส

นางนิตยา พัฒนรัชต์ ผู้อำนวยการสำนักส่งเสริมและถ่ายทอดเทคโนโลยี สำนักงานปลัดกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ผู้แทนสำนักงานปลัดกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี กล่าวว่า พลอยสีจากประเทศไทย เป็นอัญมณีที่ทั่วโลกต่างยอมรับ ด้วยความงามบวกกับคุณสมบัติที่แตกต่างรวมไปถึงการมีอุตสาหกรรมการผลิตที่ทันสมัยได้รับความไว้วางใจจากนานาชาติทำให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางการค้าพลอยสีของโลก โดยเฉพาะพลอยเนื้อแข็ง หรือ พลอยคอรันดัม ทับทิมและไพลินเป็นอัญมณีส่งออกที่มีชื่อเสียงมาก

ในขั้นตอนกระบวนการผลิตนั้นจะเริ่มจากพลอยก้อนที่มีการนำเข้าจากต่างประเทศ จะต้องผ่านการปรับปรุงคุณภาพด้วยการเผาให้ความร้อนก่อน เพื่อให้พลอยมีสีสันที่สวยงามและใสสะอาดมากยิ่งขึ้น ซึ่งจะช่วยเพิ่มมูลค่าให้กับพลอยเพิ่มขึ้นสูงกว่าก่อนเผาหลายเท่าตัว การพัฒนาเตาเผาไฟฟ้าเพื่อใช้ในการปรับปรุงคุณภาพพลอยด้วยความร้อนจึงเป็นสิ่งสำคัญ จนทำให้เกิดความร่วมมือจากทางสถาบันวิจัยและพัฒนาอัญมณีและเครื่องประดับแห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ GIT กับศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ (MTEC) ในการพัฒนาเตาเผาไฟฟ้าอุณหภูมิสูงเพื่อการปรับปรุงคุณภาพพลอยคอรันดัมขึ้น

ผศ.ดร.พรสวาท วัฒนกูล ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยและพัฒนาอัญมณีและเครื่องประดับแห่งชาติ (GIT) ผู้รับผิดชอบโครงการ เผยว่า ในแวดวงอัญมณีทุกคนจะทราบดีกว่าการเผาพลอยเป็นเรื่องที่ลำบากมาก บางครั้งจำเป็นต้องนอนเฝ้าเตาเผาพลอยเป็นเวลานานหลายวัน เพื่อดูว่ามีความผิดพลาดอะไรหรือไม่ GIT จึงต้องการเตาเผารุ่นใหม่ที่มีประสิทธิภาพในการให้ความร้อน และการควบคุมความร้อนดีขึ้น โดยเจ้าหน้าที่ไม่จำเป็นต้องอยู่เฝ้าเตาเผาพลอยอยู่ตลอดเวลา

“จึงเสนอแนวความคิดไปที่ภาควิชาวิทยาศาสตร์พื้นพิภพ คณะวิทยาศาสตร์ และภาควิชาวิศวกรรมเครื่องกล คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และได้รับความร่วมมืออย่างดีในการพัฒนาเครื่องต้นแบบเผาพลอยไฟฟ้าที่สามารถปรับและควบคุมอุณหภูมิได้สูงถึง 1,800 องศาเซลเซียส โดยนำระบบเทคโนโลยีสารสนเทศมาประยุกต์ใช้ในการควบคุมการทำงานของเตาเผาในระยะยทางไกลด้วยการเชื่อมต่อทางอินเทอร์เนต และใช้ระบบจอสัมผัสในการกำหนดอุณหภูมิ และเวลา สภาวะในการเผา โดยการเปิด-ปิดเตาจะเป็นแบบอัตโนมัติเช่นเดียวกันเพื่อความปลอดภัย โดยจะไม่สามารถเปิดเตาเผาได้หากมีอุณหภูมิภายในเตาสูงกว่า 500 องศาเซลเซียส” ผศ.ดร.พรสวาทกล่าว

ด้าน รศ.ดร.ธัญญะ เกียรติวัฒน์ คณบดีคณะวิศวกรรมศาสตร์ ที่ปรึกษาโครงการ กล่าวว่าเตาเผาไฟฟ้าอุณภูมิสูงที่นักวิจัยของมหาวิทยาลัยวิจัยขึ้นนี้เป็นการออกแบบงานวิจัย โดยใช้ไอทีมาสนับสนุนผลงานชิ้นนี้เหมาะสำหรับนักวิจัย หรือนักศึกษาที่ต้องการติดตาม ควบคุมระบบการทำงานของเตา จากแต่เดิมที่ต้องเฝ้าอยู่กับตัวเครื่อง แต่ตอนนี้สามารถเฝ้าผ่านระบบทางไกลได้แล้วโดยผ่านโปรแกรมที่เชื่อมต่อกับอินเทอร์เนต

“นอกจากการใช้เทคโนโลยีเข้ามาช่วยในการดูแลเตาเผาแล้ว การควบคุมต่างๆ ก็ทำผ่านหน้าจอสัมผัสทั้งหมด หลังจากนี้จะมีการทำวิจัยต่อเพื่อให้ได้เตาเผาที่มีประสิทธิภาพการใช้งานที่ดีขึ้น มีการพัฒนาระบบเปิด-ปิดทางด้านล่าง ที่ใช้ในการควบคุมการเลี่ยนแปลงของอุณภูมิ และยืดอายุการใช้งานของเตา โดยขณะนี้การพัฒนายังอยู่ในขั้นตอนการใช้งานภายในเท่านั้นยังไม่มีการผลิตออกจำหน่าย” รศ.ดร.ธัญญะกล่าว

สำหรับคุณสมบัติเฉพาะของเตาคือสามารถปรับสภาวะอากาศในการเผาโดยการใส่แก๊สเฉื่อยที่ต้องการได้ และควบคุมระบบการเพิ่มและลดอุณหภูมิด้วยเครื่องควบคุมอุณหภูมิอัตโนมัติ ที่มีความละเอียดถึง 1-2 องศาเซลเซียส มีระบบระบายอากาศรอบนอก ผนังเตาด้านนอกสามารถสัมผัสได้โดยไม่เป็นอันตรายจากไอความร้อนในขณะที่ด้านในมีอุณหภูมิสูง ซึ่ง รศ.ดร.ธัญญะ กล่าวว่าเป็นประโยชน์สำหรับกลุ่มนักวิจัยที่ต้องการใช้เตาเผาเพื่อการทดลองวิจัยที่จำเป็นต้องควบคุมปัจจัยต่างๆ ในส่วนของข้อมูลก็สามารถเก็บข้อมูลผ่านระบบดิจิทัลได้ และในอีกกลุ่มหนึ่งคือ กลุ่มผู้ประกอบการที่ต้องการใช้เตาเผาไฟฟ้าอุณหภูมิสูงที่ต้องการความแม่นยำ และมาตรฐานของค่าความร้อนที่ใชืในการปรับปรุงคุณภาพพลอย

“เตาเผาพลอยไฟฟ้า” ไม่ต้องเฝ้า-ควบคุมผ่านเน็ต

Instagram

ที่มา ASTVผู้จัดการออนไลน์
วันที่ 26 สิงหาคม 2557