Page 1 of 1

ค้าชายแดนไทย-เมียนมาร์คึกคัก

Posted: 28 Aug 2014, 09:50
by brid.siriwan
ค้าชายแดนไทย-เมียนมาร์คึกคัก

แบงก์กรุงเทพชี้ 5 ปีค้าชายแดนไทย-เมียนมาร์ ขึ้นแท่นเบอร์1 แซงไทย-มาเลเซีย

นายกอบศักดิ์ ภูตระกูล ผู้ช่วยผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงเทพ เปิดเผยว่า มูลค่าการค้าชายแดนระหว่างไทยกับเมียนมาร์มีอัตราเติบโตสูงถึง20 % โดยด่านแม่สอด จ.ตาก มีมูลค่าการค้าถึง 50,000 ล้านบาทหลังจากที่เมียนมาร์เปิดประเทศส่งผลให้การค้าขายของทั้ง 2 ประเทศ เริ่มมีสัดส่วนที่เพิ่มขึ้น ดังนั้นเชื่อว่าภายในระยะเวลา 4-5 ปีข้างหน้าจะสามารถแซงการค้าระหว่างไทยและมาเลเซีย ที่มีมูลค่าซื้อขายอันดับ 1 อยู่ที่ 300,000 ล้านบาทได้

“ที่ผ่านมาไทยขาดดุลทางการค้ากับเมียนมาร์เนื่องจากไทยนำเข้าสินค้าจากเมียนมาร์ปีละ 100,000 ล้านบาทส่วนใหญ่เป็นการนำเข้าก๊าชธรรมชาติ แต่ขณะนี้การส่งออกสินค้าจากไทยไปเมียนมาร์โตแบบก้าวกระโดดทำให้ตัวเลขขาดดุลดลงจากปี 55 อยู่ที่ 70,000 ล้านบาทลดลงมาเหลือ 40,000 ล้านบาทในปี 56 และปี 57 จะเหลือเพียง 20,000ล้านบาท แต่หากนับรวมสินค้าไทยที่นำไปขายแบบกองทัพมดถือว่าไทยไม่ได้ขาดดุลการค้า”

นอกจากนี้มองว่าประเทศเมียนมาร์จะเป็นฐานการผลิตอาหารที่สำคัญเนื่องจากเมียนมาร์ติดอันดับ 1 ในการปลูกข้าวและส่งออกไปขายในตลาดโลกดังนั้นการกลับขึ้นเป็นอันดับ 1 เหมือนเดิมเชื่อว่าทำได้แน่นอน นอกจากนี้เมียนมาร์ยังมีแหล่งทรัพย์กรธรรมชาติเป็นจำนวนมากทั้งในเรื่องของป่าไม้ แร่ธาตุต่างๆ และในภาคใต้ยังเป็นแหล่งในการปลูกยางพาราและปาล์มน้ำมัน ทำให้นักธุรกิจไทยที่มีความเชี่ยวชาญในด้านการผลิตสนใจเข้าไปลงทุนในประเทศเมียนมาร์เพิ่มขึ้น


“จุดเด่นของเมียนมาร์ คือจำนวนประชากรที่มีอยู่60 ล้านคน มีอายุเฉลี่ยที่ 25 ปี และสัดส่วน 70 % เป็นคนหนุ่มสาวถือว่าเป็นวัยของการทำงานจึงทำให้โรงงานอุตสาหกรรมเริ่มย้ายฐานการผลิตไปเมียนมาร์เพราะมีต้นทุนที่ต่ำกว่า ส่วนเศรษฐกิจเมียนมาร์เติบโตปีละ 8 % และอีก 5 ปีข้างหน้าจะมีอัตราการเติบโตปีละ 10 %ซึ่งเหมือนกับไทยในอดีตที่เศรษฐกิจเติบโตอย่างมาก จากการส่งออกที่โตแบบก้าวกระโดด”


สำหรับการช่วยเหลือลูกค้าที่เข้าไปลงทุนในต่างประเทศนั้น ส่วนใหญ่จะเป็นสินเชื่อ เทรดไฟแนนซ์ เงินหมุนเวียน การให้บริการเรื่องอัตราแลกเปลี่ยน และบริการรับเงินโอนซึ่งยอมรับว่าการที่ลูกค้าจะไปทำตลาดต่างประเทศไม่ใช่เรื่องง่ายโดยเฉพาะรายเล็ก ซึ่งหากจะสำเร็จต้องเข้าใจตลาด วัฒนธรรม หาผู้ร่วมทุนในท้องถิ่นเพราะถ้าลูกค้าเติบโตธนาคารก็เติบโตไปด้วย

ที่มา เดลินิวส์
วันที่ 27 สิงหาคม 2557