Page 1 of 1

เทคโนโลยีในสวนพฤกษศาสตร์ฯ

Posted: 01 Sep 2014, 12:17
by brid.siriwan
เทคโนโลยีในสวนพฤกษศาสตร์ฯ

โปรแกรมนี้สามารถอ่านภาพได้ทั้งหมด 60 ภาพ โดยจะเป็นป้ายบอกรายละเอียดพรรณไม้ 30 ชนิด ที่อยู่ในโรงเรือนกระจก 4 เรือนได้แก่ เรือนป่าดิบชื้น เรือนพืชทนแล้ง เรือนกล้วยไม้และเฟิร์น และเรือนพรรณไม้น้ำ

พระตำหนักภูพิงคราชนิเวศน์ และ สวนพฤกษศาสตร์สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ ถือเป็นสถานที่ท่องเที่ยวและให้ความรู้ด้านพรรณพืชที่มีชื่อเสียงในจังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งมีนักท่องเที่ยวจำนวนมากทั้งชาวไทยและต่างประเทศ มาศึกษาและได้รับความรู้มากมาย

ปัจจุบันจึงมีแนวคิดในการนำเทคโนโลยีเข้ามาใช้ในการเสนอข้อมูลความรู้ต่างๆ ให้แก่นักท่องเที่ยว และผู้ที่สนใจ แทนการให้ข้อมูลผ่านทางป้ายแสดงรายละเอียดของพรรณพืชต่าง ๆ เหมือนที่ผ่านมา

ดร.สุญาณี เวสสบุตร ผู้อำนวยการองค์การสวนพฤกษศาสตร์ฯ บอกว่า สวนพฤกษศาสตร์ฯ ได้นำเทคโนโลยีสมัยใหม่อย่างเทคโนโลยี AR (Augmented Reality) มาประยุกต์ใช้เพื่อนำเสนอข้อมูลความรู้เกี่ยวกับพรรณไม้ต่าง ๆ แก่นักเรียน นักท่องเที่ยว และประชาชนทั่วไป ผ่านอุปกรณ์เคลื่อนที่ต่าง ๆ และให้ วิทยาลัยศิลปะ สื่อและเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เป็นผู้พัฒนาแอพพลิเคชั่น เพื่อการท่องเที่ยวสวนพฤกษศาสตร์ฯ โดยใช้ชื่อว่า “Smart Garden”(สมาร์ท การ์เด้น)

เบื้องต้น “Smart Garden” เป็นโปรแกรมที่ทำหน้าที่คล้ายกับโปรแกรมอ่าน คิวอาร์โค้ด แต่โปรแกรมจะอ่านเฉพาะรูปภาพป้ายบอกพรรณไม้ที่ใส่ไว้ในโปรแกรมเท่านั้น และเมื่ออ่านภาพที่ถูกโปรแกรมไว้ จะปรากฏการ์ตูนแอนิเมชั่น ทำให้เกิดความน่าสนใจ สนุกและสามารถสอดแทรกความรู้ให้กับผู้ชมได้

โปรแกรมนี้สามารถอ่านภาพได้ทั้งหมด 60 ภาพ โดยจะเป็นป้ายบอกรายละเอียดพรรณไม้ 30 ชนิด ที่อยู่ในโรงเรือนกระจก 4 เรือนได้แก่ เรือนป่าดิบชื้น เรือนพืชทนแล้ง เรือนกล้วยไม้และเฟิร์น และเรือนพรรณไม้น้ำ และ โลโก้ของพรรณไม้ 30 ชนิดข้างต้น

ล่าสุดเพื่อให้โครงการดังกล่าวมีความสมบูรณ์มากขึ้น สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ หรือสวทช. ภาคเหนือ ได้เข้าร่วมในการพัฒนาโครงการ “Smart Gaden” ระยะที่ 2 ซึ่งกำลังดำเนินการ คาดแล้วเสร็จช่วงหน้าหนาวที่จะถึงนี้

Smart Garden ระยะที่ 2 จะมีหน้าที่เหมือนมัคคุเทศก์ช่วยนำทางและให้ข้อมูลแก่นักท่องเที่ยวที่เข้าเยี่ยมชมสวนพฤกษศาสตร์สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ โดยใช้การตรวจจับตำแหน่งดาวเทียมหรือจีพีเอสของอุปกรณ์เคลื่อนที่ของนักท่องเที่ยว และจะแสดงสื่อมัลติมีเดียเมื่อนักท่องเที่ยวอยู่ในพิกัดที่ถูกโปรแกรมไว้

ขณะเดียวกัน สวทช. ภาคเหนือ ยังได้สนับสนุนให้มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ พัฒนาโปรแกรมท่องเที่ยวสำหรับพระตำหนักภูพิงคราชนิเวศน์ โดยชื่อว่า Bhuping (ภูพิงคฯ)

โดยแอพพลิเคชั่น “Bhuping” จะเป็นทั้งมัคคุเทศก์นำชมพระตำหนักภูพิงคฯ และให้ข้อมูลทั้งภาพและเสียงสำหรับสถานที่สำคัญ โดยจะแสดงขึ้นมาเมื่ออยู่ในตำแหน่งดาวเทียมจีพีเอสที่กำหนดไว้ และสามารถอ่านภาพป้ายชื่อกุหลาบต่าง ๆ ในพระตำหนัก รวมถึงแสดงข้อมูลของกุหลาบนั้น ๆ ออกมาได้โปรแกรมนี้รองรับ 3 ภาษา คือไทย จีน และอังกฤษ

นอกจากแอพพลิเคชั่น Smart Garden ดร.สุญาณี ยังมีแนวคิดในการพัฒนาการท่องเที่ยว สวนพฤกษศาสตร์สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ อย่างต่อเนื่อง จึงได้มีการพัฒนาปรับปรุงตกแต่ง พิพิธภัณฑ์ธรรมชาติ ที่มีอยู่ในสวนพฤกษศาสตร์ให้มีความน่าสนใจ และใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่ ที่เรียกว่า “Smart Museum” (สมาร์ท มิวเซียม) อีกด้วย

Smart Museum จะเป็นพิพิธภัณฑ์ธรรมชาติที่เน้นให้ผู้ชมได้รับความสุข ความสนุกสนาน เสมือนได้ท่องอยู่ในโลกของต้นไม้ และได้รับความรู้ต่าง ๆ เช่น การพรางตัวของแมลงซึ่งใช้เทคนิคโปรเจคชั่น แม็พปิง (Projection Mapping) ความมหัศจรรย์ของพืช เมล็ดพืช การ์ตูนแอนิเมชั่นการสร้างอาหารของพืช และความสวยงามของเซลล์พืชจากส่วนต่าง ๆ ของพืช

จากจุดเริ่มต้น กลายเป็นความร่วมมือจากหลายหน่วยงาน ทำให้การเกิดการท่องเที่ยวที่มีความน่าสนใจ และสามารถให้ความรู้ต่าง ๆ แก่นักเรียน นักท่องเที่ยวทั้งชาวไทย และชาวต่างประเทศ และเป็นการประชาสัมพันธ์สถานที่ท่องเที่ยวได้เป็นอย่างดี

ผู้สนใจสามารถดาวน์โหลด Bhuping และ Smart Garden ได้ที่เพลย์สโตร์บนระบบปฏิบัติการแอนดรอยด์ ส่วนไอโอเอส อยู่ระหว่างการพัฒนา.

ที่มา เดลินิวส์
วันที่ 1 กันยายน 2557