Page 1 of 1

ศึกษาต่างชาติ หวังออก กม.คุมเข้มเครื่องดื่มเติมน้ำตาล

Posted: 02 Sep 2014, 12:57
by brid.siriwan
ศึกษาต่างชาติ หวังออก กม.คุมเข้มเครื่องดื่มเติมน้ำตาล

กรมควบคุมโรคเชิญนักกฎหมาย นักวิชาการ อย. ร่วมศึกษา กม. ป้องกันโรคไม่ติดต่อต่างประเทศ หวังจัดทำกฎหมายบ้าง ชี้ช่วยควบคุมปัจจัยเสี่ยงโรคได้ ห้ามการเติมน้ำตาลลงในเครื่องดื่ม

ศึกษาต่างชาติ หวังออก กม.คุมเข้มเครื่องดื่มเติมน้ำตาล
นพ.นพพร ชื่นกลิ่น รองอธิบดีกรมควบคุมโรค (คร.) กล่าวว่า คนไทยมีแนวโน้มป่วยและเสียชีวิตจากโรคไม่ติดต่อเรื้อรังเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทั้งโรคมะเร็ง เบาหวาน ความดัน และหัวใจ ซึ่งเกิดจากพฤติกรรมของตนเอง แต่ทำให้เกิดความสูญเสียค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพปีละกว่า 2 แสนล้านบาท แม้แต่องค์การอนามัยโลก (WHO) ยังมองว่าเป็นเรื่องที่แต่ละประเทศควรให้ความสำคัญ สอดคล้องกับองค์การสหประชาชาติ ที่ยอมรับว่าโรคไม่ติดต่อเรื้อรังเป็นปัญหาที่กระทบต่อเศรษฐกิจ สังคม ด้วย โดยแนวทางแก้ปัญหานอกจากการรณรงค์ให้ประชาชนเปลี่ยนพฤติกรรม ยังต้องมีมาตรการเพื่อทำให้นโยบายประสบความสำเร็จ ซึ่งมาตรการทางกฎหมายถือเป็นมาตรการหนึ่ง

นพ.นพพร กล่าวว่า จากการทบทวนกฎหมายของต่างประเทศ เกี่ยวกับมาตรการป้องกันโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง พบว่า มีหลายประเทศออกประกาศห้ามทำอาหารไซส์ใหญ่พิเศษ ห้ามการเติมน้ำตาล แต่เกิดปัญหาทางกฎหมาย จึงต้องมีการออกกฎหมายรองรับ ส่วนบางประเทศเริ่มมีการร่างกฎหมายเพื่อป้องกันปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้เกิดโรคไม่ติดต่อเรื้อรังบ้างแล้ว สำหรับประเทศไทย คร.กำลังเชิญนักกฎหมายจากหน่วยงานต่างๆ นักวิชาการ สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) เพื่อหารือและศึกษาการสร้างกฎหมายในประเทศต่างๆ เพื่อนำไปสู่การร่าง พ.ร.บ.ควบคุมโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง ซึ่งหากสามารถออกกฎหมายได้ ก็จะทำให้เกิดมาตรการตามมา เช่น ควบคุมปริมาณการเติมน้ำตาลในเครื่องดื่ม หรือ การสร้างแรงจูงใจหากส่งเสริมสุขภาพ เป็นต้น

“แต่ละปีมีคนไทยตายจากโรคไม่ติดต่อเรื้อรังเป็นแสนราย ซึ่งขนาดของปัญหาถือว่ามากกว่าการตายจากสาเหตุอื่นๆ แต่คนมักคิดว่าเป็นเรื่องธรรมชาติ ทั้งที่สามารถป้องกันได้ และไม่ทำให้ต้องทุกข์ทรมานและใช้เงินจำนวนมากเมื่อเจ็บป่วย ปัจจุบันมีกฎหมายควบคุมโรคติดต่อ มีอำนาจของ อย. ในการดูแลอาหารบางประเภท เช่น ควบคุมปริมาณไขมันทรานส์ ที่ทำให้เกิดอันตรายต่อสุขภาพได้ แต่ก็ไม่ครอบคลุม ซึ่งเห็นได้ชัดว่าขนาดของอุตสาหกรรมอาหารเครื่องดื่มที่มีน้ำตาลสูง มีมูลค่าทางการตลาดสูงมาก จึงจำเป็นต้องคิดกระบวนการที่จะช่วยดูแลสุขภาพประชาชนเพื่อนำไปสู่การมีสุขภาพที่ดี และผลภาระค่าใช้จ่ายทางสุขภาพลง” รองอธิบดี คร. กล่าว

ที่มา ASTVผู้จัดการออนไลน์
วันที่ 2 กันยายน 2557