Page 1 of 1

จุฬาโชว์แล็ปตรวจดีเอ็นเอสมุนไพรแห่งแรกในไทย

Posted: 04 Sep 2014, 16:51
by brid.siriwan
จุฬาโชว์แล็ปตรวจดีเอ็นเอสมุนไพรแห่งแรกในไทย

จุฬาฯ โชว์แล็ปตรวจดีเอ็นเอสมุนไพรแห่งแรกในไทย ชี้ระบุได้ชัดเจนว่าเป็นสมุนไพรของจริง หรือใช้ถูกต้นหรือไม่ พร้อมเตือน”รากไคร้เครือ"แม้ถูกตัดออกจากทะเบียนตำรับยาไทยแล้ว แต่ยังพบการจำหน่าย หากไม่ระวังนำไปใช้อาจเป็นพิษถึงตายได้

วันนี้(4 กย.57)ที่ศูนย์นวัตกรรมทางยาและผลิตภัณฑ์สุขภาพแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย รองศาสตราจารย์ เภสัชกรหญิง ร.ต.อ.หญิงดร.สุชาดา สุขหร่อง อาจารย์ภาควิชาเภสัชเวทและเภสัชพฤกษศาสตร์คณะเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เปิดเผยว่า เนื่องจากการใช้สมุนไพรจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องใช้แบบถูกต้น ถูกขนาด ถูกส่วนและถูกวิธี ซึ่งปัจจุบันพบว่ามีการใช้สมุนไพรผิดต้นหรือสับสนในการเรียกชื่อเป็นจำนวนมาก เพราะการนำมาแปรรูปจำหน่าย จะมีรูปลักษณ์ภายนอกที่คล้ายกันมาก ยากต่อการชี้เฉพาะลงไปว่าเป็นต้นใดหรือมาจากต้นใด หากใช้ผิดนอกจากจะขาดประสิทธิภาพในการรักษาแล้วบางชนิดอาจเป็นพิษร้ายแรงถึงตายได้

หน่วยวิจัยสมุนไพรและผลิตภัณฑ์ธรรมชาติภายใต้โครงการศูนย์นวัตกรรมทางยาและผลิตภัณฑ์สุขภาพแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จึงร่วมกับภาควิชาเภสัชเวทและเภสัชพฤกษศาสตร์คณะเภสัชศาสตร์ จุฬา ฯ เปิดให้บริการตรวจสอบเอกลักษณ์พืชสมุนไพรเป็นแห่งแรกในประเทศไทยโดยใช้ลายพิมพ์ดีเอ็นเอ ลักษณะทางสัณฐานวิทยา ร่วมกับข้อมูลทางพฤกษเคมีสนองพระราชดำริในโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี (อพ.สธ.) เพื่ออนุรักษ์และพัฒนา ภูมิปัญญาไทยให้คงอยู่เป็นสมบัติของชาติต่อไป

ทั้งนี้บริการดังกล่าวจะช่วยยืนยันว่ามีการใช้สมุนไพรที่ถูกต้อง100 % ตรงตามตำรับยา สร้างความน่าเชื่อถือให้กับผู้บริโภค และสร้างมาตรฐานให้กับผลิตภัณฑ์สมุนไพรไทยที่สามารถนำไปทำตลาดต่างประเทศได้ ปัจจุบันมีผู้มาใช้บริการลายพิมพ์ดีเอ็นเอสำหรับตรวจพิสูจน์เอกลักษณ์พืชสมุนไพรไทยเป็นจำนวนมาก โดยหน่วยวิจัย ฯ ได้มีการเก็บข้อมูลพันธุกรรมหรือลายพิมพ์ดีเอ็นเอของพืชสมุนไพรไทยไว้สำหรับอ้างอิง โดยฝากไว้ในฐานข้อมูลด้านพันธุกรรมของโลกแล้วกว่า 100 ชนิด บริการนี้สามารถตรวจสอบได้อย่างรวดเร็วภายใน2 ชั่วโมง ตรวจสมุนไพรได้ทั้งสดและแห้ง หรือที่เก็บไว้นานหลายสิบปี



สำหรับสมุนไพรที่ถูกนำมาศึกษาลายพิมพ์ดีเอ็นเอแล้วจะเป็นสมุนไพรที่มีความสับสนในการใช้ หรือพบการปนปลอมด้วยสมุนไพรชนิดอื่นที่มีราคาถูกกว่า เช่น รางจืดและกวาวเครือที่มีหลายชนิดและมีสรรพคุณไม่เหมือนกัน และที่สำคัญคือสมุนไพรที่เกิดพิษขึ้นเมื่อใช้ผิดต้นเช่น สมุนไพร “รากไคร้เครือ” ตามตำรายาไทยโบราณ ที่ใช้รากของพืชในสกุล Aristolochia วงศ์ Aristolociaceae เช่นต้นหนอนตาย กระเช้าผีมด และกระเช้าถุงทอง มาทำเป็นเครื่องยา มีสรรพคุณแก้ไข้ ขับเหงื่อเจริญอาหาร และชูกำลัง



“ เนื่องจากมีการวิจัยพบว่ารากไคร้เครือ มีสารสำคัญที่เป็นพิษและก่อมะเร็งในสัตว์และมนุษย์ทำให้ทั่วโลกมีการระงับใช้ผลิตภัณฑ์ทุกชนิดที่มีพืชสกุลนี้เป็นส่วนประกอบ รวมถึงประเทศไทยที่ปี 2556 คณะกรรมการยา ฯ ได้มีมติให้ตัดไคร้เครือออกจากทะเบียนตำรับยาที่ได้ขึ้นทะเบียนไว้แล้ว แต่จากการสุ่มสอบร้านจำหน่ายเครื่องยาสมุนไพรหลายแห่งในจังหวัดต่างๆของประเทศไทยพบว่ายังคงมีการจำหน่ายสมุนไพรไคร้เครือ ทั้งในลักษณะรากแห้งและผงยา ทำให้หากมีการใช้เครื่องยาไคร้เครือเป็นวัตถุดิบหรือส่วนประกอบของตำรับยาอาจก่อให้เกิดอันตรายและความเป็นพิษร้ายแรงต่อผู้บริโภคได้ ดังนั้นจึงได้มีการนำเทคโนโลยีการตรวจดีเอ็นเอชนิดตรวจลำดับนิวคลีโอไทด์ เพื่อตรวจเครื่องยาไคร้เครือที่เป็นส่วนประกอบในผลิตภัณฑ์จากสมุนไพรต่างๆเพื่อป้องกันการเกิดอันตรายและพิษจากการใช้ผลิตภัณฑ์เหล่านั้น” รองศาสตราจารย์ เภสัชกรหญิง ร.ต.อ.หญิงดร.สุชาดา กล่าว

ที่มา เดลินิวส์
วันที่ 4 กันยายน 2557