สนช.ประกาศผลสุดยอดนวัตกรรมไทยปีนี้

Post Reply
brid.siriwan
Posts: 3942
Joined: 05 Apr 2013, 08:47

สนช.ประกาศผลสุดยอดนวัตกรรมไทยปีนี้

Post by brid.siriwan »

สนช.ประกาศผลสุดยอดนวัตกรรมไทยปีนี้

“แผ่นปิดแผลเคลือบสารเปลือกมังคุด-วัสดุคอมโพสิทจากยางรถยนต์เก่า” คว้าสุดยอดนวัตกรรมแห่งชาติปีนี้ ส่วนฟองน้ำห้ามเลือดทางศัลยศาสตร์จากแป้งข้าวเจ้า คว้าชนะเลิศรางวัลนวัตกรรมข้าวไทย

วันนี้( 2 ตุลาคม 2557) ที่โรงแรมเซ็นทารา แกรนด์ แอท เซ็นทรัลพลาซา ลาดพร้าว สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ สนช. ร่วมกับมูลนิธิข้าวไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ จัดแถลงข่าวการประกาศผลรางวัลนวัตกรรม ประจำปี 2557 จำนวน 3 รางวัลคือ รางวัลนวัตกรรมแห่งชาติ รางวัลนวัตกรรมข้าวไทย และ รางวัลการออกแบบเชิงนวัตกรรม โดยจะมีพิธีมอบรางวัลอีกครั้งในวันที่ 5 ตุลาคม2557 ซึ่งเป็นวันนวัตกรรมแห่งชาติ



นายพยุงศักดิ์ ชาติสุทธิผล กรรมการนวัตกรรมแห่งชาติปฎิบัติหน้าที่แทนผู้อำนวยการ สนช. เปิดเผยว่าสนช.ส่งเสริมและสนับสนุนการประกวดรางวัลนวัตกรรมต่อเนื่องทุกปี ทั้งด้านรางวัลนวัตกรรมแห่งชาติรางวัลนวัตกรรมข้าวไทย และรางวัลการออกแบบเชิงนวัตกรรม เพื่อกระตุ้นให้เกิดการนำนวัตกรรมมาใช้ในการพัฒนาประเทศ

สำหรับรางวัลนวัตกรรมแห่งชาติ ที่ปีนี้จัดขึ้นเป็นปีที่ 10มีผู้ส่งผลงานเข้าร่วมประกวดจำนวน130 ผลงาน แบ่งรางวัลเป็น 2 ประเภทโดยผลงานที่ได้รับรางวัลชนะเลิศด้านสังคม คือ GermGuard (เจิร์มการ์ด ) ผลงานของบริษัท อินโนเวทีฟ ฟิลเทรชั่น เทคโนโลยี (ไอเอฟที) ซึ่งเป็นนวัตกรรมผลิตภัณฑ์ทางการแพทย์ที่เคลือบด้วยสารสกัดจากเปลือกมังคุด ปัจจุบันพัฒนาเป็นแผ่นปิดแผลฆ่าเชื้อโรคลดการติดเชื้อ ส่วนรางวัลชนะเลิศด้านเศรษฐกิจ คือ Redika (เรดิก้า)นวัตกรรมวัสดุคอมโพสิทจากยางรถยนต์รีเคลม ของบริษัท เรดิเจน จำกัด ที่เพิ่มมูลค่าให้กับวัสดุเหลือทิ้งโดยนำ ยางรถยนต์ใช้แล้วและพลาสติกรีไซเคิล มาทำเป็นวัสดุคอมโพสิทที่มีความแข็งแรง สามารถนำไปผลิตเป็นชิ้นส่วนอุตสาหกรรม ยานยนต์และก่อสร้าง มีราคาถูกและสามารถปรับสมบัติได้อย่างหลากหลายตามที่ลูกค้าต้องการ

ศ.ดร.พิชญ์ ศุภผล ผู้บริหารบริษัทอินโนเวทีฟ ฟิลเทรชั่น เทคโนโลยี (ไอเอฟที) จำกัด เปิดเผยว่า เจิร์มการ์ดเป็นนวัตกรรมด้านผลิตภัณฑ์ทางการแพทย์ที่เคลือบด้วยสารสกัดจากเปลือกมังคุดที่เหลือทิ้งจากภาคการเกษตร โดยใช้การกักเก็บสารด้วยวิธีการเอ็นแคปซูเลชั่น( encapsulation) ก่อนนำมาเคลือบบนหน้ากากอนามัยและแผ่นกรองอากาศ ทำให้คงฤทธิ์ได้ถึง 3ปีก่อนการใช้งาน มีความสามารถในการฆ่าเชื้อแบคทีเรียก่อโรคทั้งชนิดแกรมบวกและแกรมลบรวมถึงเชื้อไวรัสและเชื้อราบางชนิด ปัจจุบันบริษัทฯมีการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง โดยทำเป็นผลิตภัณฑ์ที่หลากหลายรวมถึงเป็นแผ่นปิดแผลสำหรับผู้ป่วยแผลไฟไหม้-น้ำร้อนลวกเบาหวาน แผลติดเชื้อ ซึ่งวัสดุชนิดนี้มีนอกจากมีสมบัติการฆ่าเชื้อโรแล้ว ยังสามารถลดอาการบาดเจ็บ ลดอาการติดเชื้อมีฤทธิ์สมานแผลและมีราคาถูก ลดการนำเข้าสินค้าจากต่างประเทศอีกด้วย

ด้านรางวัลนวัตกรรมข้าวไทย ดร. สุเมธ ตันติเวชกุล ประธานมูลนิธิข้าวไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ ประธานกรรมการตัดสินรางวัล ดังกล่าวเปิดเผยว่า มูลนิธิฯ ร่วมกับ สนช.จัดการประกวดรางวัลนวัตกรรมข้าวไทย มาอย่างต่อเนื่องเป็นปีที่ 8 โดยมุ่งหวังยกระดับอุตสาหกรรมข้าวไทยให้สามารถสร้างมูลค่าเพิ่มได้ทั้งระบบด้วยองค์ความรู้ทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีและที่สำคัญคือการสร้างความแตกต่างให้กับผลผลิตข้าวด้วยความคิดสร้างสรรค์และภูมิปัญญา

ทั้งนี้ผลการตัดสินรางวัลนวัตกรรมข้าวไทยประจำปีนี้ ผลงานที่ได้รับรางวัลชนะเลิศอันดับหนึ่ง ระดับอุตสาหกรรม คือฟองข้าวสุรดา ฟองน้ำห้ามเลือดทางศัลยศาสตร์จากแป้งข้าวเจ้าของบริษัทบุณยนิตย์วัสดุแพทย์ จำกัด ซึ่งเป็นการนำแป้งข้าวเจ้าดัดแปรมาพัฒนาเป็นวัสดุที่มีรูพรุนแล้วฆ่าเชื้อด้วยรังสีแกมมา สามารถใช้ห้ามเลือดกับแผลผ่าตัดที่บริเวณอวัยวะอ่อนนุ่มภายในร่างกายคุณภาพใกล้เคียงกับผลิตภัณฑ์ที่ผลิตจากเจลลาตินที่นำเข้าจากต่างประเทศแต่ราคาถูกกว่า 3เท่าเหมาะสำหรับเป็นวัสดุการแพทย์ทางเลือกสำหรับผู้ป่วยที่มีรายได้น้อย

นอกจากนี้รางวัลนวัตกรรมข้าวไทยยังมอบรางวัลพิเศษให้แก่ผลงาน “นาโนซิลิกอน” สำหรับใช้เป็นขั้วไฟฟ้าในแบตเตอรี่ชนิดลิเทียมไอออนจากภาควิชาฟิสิกส์ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น เนื่องจากเป็นผลงานที่มีศักยภาพด้านนวัตกรรม โดยเป็นผลิตภัณฑ์นาโนซิลิกอน ที่มีวัสดุดิบมาจากแกลบวัสดุเหลือใช้จากกระบวนการสีข้าวนำมากระบวนการรีฟลักซ์ด้วยกรด นำไปเผาในอากาศที่อุณหภูมิประมาณ 500-700องศาเซลเซียส จะได้ซิลิกาบริสุทธิ์แล้วนำไปผสมกับแมกนีเซียม ผ่านกระบวนการเผาในบรรยากาศก๊าซอาร์กอนจะได้ผงนาโนซิลิกอนที่มีขนาดอนุภาค15-20 นาโนเมตร มีความสม่ำเสมอของอนุภาค และความบริสุทธิ์สูง โดยสามารถนำไปผลิตเป็นขั้วไฟฟ้าแอโนดในอุตสาหกรรมแบตเตอรี่สำหรับอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์และรถยนต์ไฟฟ้าซึ่งมีสามารถเก็บประจุไฟฟ้าได้สูงกว่าวัสดุแกรไฟต์ที่ใช้อยู่ในปัจจุบันสูงถึง 12เท่า

ส่วนรางวัลการออกแบบเชิงนวัตกรรม ประจำปีนี้ รางวัลชนะเลิศด้านการออกแบบผลิตภัณฑ์คือ“P-sync” อุปกรณ์เหนี่ยวนำการเป็นสัดสำหรับวัวเนื้อและวัวนมแบบพลาสเตอร์ฮอร์โมนติดผิวหนัง จากคณะสัตวศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยแม่โจ้ และรางวัลชนะเลิศด้านการออกแบบอาหาร คือ “ทำมานาน” น้ำตาลมะพร้าวทรายทอง จาก บจก.ชีวาดี โปรดักส์ ที่พัฒนาสารให้ความหวานรูปแบบใหม่ที่มีค่าดัชนีน้ำตาลต่ำมีวิตามินและแร่ธาตุที่เป็นประโยชน์จากใยอาหารของธัญพืช

ที่มา เดลินิวส์
วันที่ 2 ตุลาคม 2557
Post Reply

Return to “แจ้งข่าว ไทย ERP และข่าวอื่นๆที่น่าสนใจ”