Page 1 of 1

“ณัฐภัทร อุนจะนำ” นักกิจกรรมบำบัดเพื่อเด็กพิเศษ

Posted: 04 Oct 2014, 14:34
by brid.siriwan
“ณัฐภัทร อุนจะนำ” นักกิจกรรมบำบัดเพื่อเด็กพิเศษ
อาคารบ้านหนอนที่ดูแลเด็กพิเศษ
โดย...สิรวุฒิ รวีไชยวัฒน์

ท่ามกลางขุนเขาและต้นไม้เขียวชอุ่ม บริเวณด้านหลังของ รพ.จอมทอง อ.จอมทอง จ.เชียงใหม่ มีอาคารรูปทรงตัวหนอนสีเขียวขนาดใหญ่แทรกตัวอยู่ โดยรอบมีเด็กจำนวนหนึ่งเล่นกันอย่างสนุกสนาน บางคนก็กำลังนั่งขี่ม้าแคระ โดยมีเจ้าหน้าที่ประจำโรงพยาบาลส่วนหนึ่งดูแลอย่างใกล้ชิด

ที่แห่งนี้...ไม่ใช่ว่าเด็กที่ไหนก็สามารถเข้ามาเล่นสนุกได้ แต่ต้องเป็น “เด็กพิเศษ” หรือเด็กที่มีความต้องการพิเศษ อันเนื่องมาจากขาดความสามารถไม่ว่าจะเป็นด้านร่างกาย จิตใจ หรือสติปัญญา จึงจำเป็นต้องได้รับการดูแลอย่างใกล้ชิดเท่านั้น

ภายในบ้านหนอนพบหนุ่มนักกิจกรรมบำบัดรายหนึ่งกำลังพูดคุยดูแลเด็กด้วยท่าทีที่คล่องแคล่ว เป็นมืออาชีพ ใบหน้าเปื้อนยิ้มตลอดเวลา และคำพูดจาปราศรัยที่เต็มไปด้วยความสุภาพไพเราะ เขาคือ “นายณัฐภัทร อุนจะนำ” นักกิจกรรมบำบัด ประจำ รพ.จอมทอง ซึ่งจากการสนทนาพบว่า นักกิจกรรมบำบัดหนุ่มรายนี้เพิ่งผ่านการทำงานได้เพียง 5 เดือนเท่านั้น

“ผมเพิ่งศึกษาจบจากภาควิชากิจกรรมบำบัด คณะเทคนิคการแพทย์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ที่เลือกเรียนทางด้านนี้ เพราะผมชอบพูดคุย อยู่กับผู้คน การเข้าสังคม และการฟื้นฟู ซึ่งตรงกับงานด้านกิจกรรมบำบัด เมื่อเรียนจบแล้วก็เข้ามาทำงานที่นี่เลย ซึ่งการเป็นนักกิจกรรมบำบัดทำให้ผมได้ช่วยเหลือผู้คน ทั้งเด็กและผู้สูงอายุจริง อย่างบางคนเขามีปัญหามือไม่สามารถหยิบสิ่งของได้ เราจะทำอย่างไร ช่วยเขาอย่างไรให้เขาสามารถใช้มือกลับมาหยิบสิ่งของได้อีก”

“ณัฐภัทร อุนจะนำ” นักกิจกรรมบำบัดเพื่อเด็กพิเศษ
นายณัฐภัทร อุนจะนำ
สำหรับการดูแลเด็กพิเศษนั้น ณัฐภัทร เล่าว่า รพ.จอมทอง ได้ให้ความสำคัญและมีการเดินหน้างานส่วนนี้มาก่อนแล้ว โดยกิจกรรมในการช่วยเหลือเด็กพิเศษจะมี 2 ส่วนคือ ส่วนของบ้านหนอน ซึ่งจะแบ่งออกเป็น 4 ห้อง ได้แก่ ห้องกิจกรรมบำบัด 2 ห้อง ห้องกายภาพบำบัด 1 ห้อง และห้องดนตรีบำบัดอีก 1 ห้อง ส่วนกิจกรรมอีกส่วนคืออาชาบำบัด ซึ่งถือเป็นโรงพยาบาลชุมชนแห่งแรกที่มีนำการขี่ม้ามาช่วยในการบำบัดเด็กพิเศษ

“เด็กพิเศษที่นี่จะมีประมาณ 20 กว่าคน โดยจะนัดเด็กมารับการดูแลรักษาที่นี่ประมาณ 3 ครั้งต่อสัปดาห์ หากเด็กคนไหนที่บ้านไกลก็จะนัดให้มาสัปดาห์ละครั้ง โดยโรงพยาบาลมีค่าเดินทางให้ด้วย เด็กพิเศษที่มาดูแลบำบัดรักษาที่นี่ส่วนใหญ่จะเป็นออทิสติก ดาวน์ซินโดรม เด็กแอลดีหรือเรียนรู้ช้า เด็กที่บกพร่องทางสติปัญญา สมาธิสั้น หรือมีพฤติกรรมก้าวร้าวรุนแรง เป็นต้น”

ในการรักษา ณัฐภัทร อธิบายว่า จะต้องพิจารณาแต่ละเคสว่ามีอาการเช่นนี้ต้องบำบัดรักษาด้วยวิธีการใดบ้าง ซึ่งการประเมินจะประเมินร่วมกันหลายวิชาชีพ ทั้งนักจิตวิทยา พยาบาล นักกิจกรรมบำบัด นักกายภาพบำบัด แต่เด็กทุกคนจะได้รับการบำบัดด้วยอาชาบำบัดทุกคน แต่แนวทางจะต่างกัน เพราะโดยส่วนใหญ่เด็กพิเศษจะแบ่งเป็นสองลักษณะคือ เด็กที่สติปัญญาดีแต่บกพร่องทางร่างกาย และเด็กที่สติปัญญาไม่ดี แต่ร่างกายดี อย่างกลุ่มที่บกพร่องทางร่างกายก็จะใช้การขี่ม้ามาช่วยระบบกล้ามเนื้อ เอ็นและข้อต่อ ช่วยจัดบาลานซ์การทรงตัวบนหลังม้า ส่วนเด็กที่บกพร่องทางสติปัญญา เช่น พูดช้า ดีเลย์ ก็จะใช้แนวการออกคำสั่งกับม้า เช่น ลูบคอ สั่งม้าให้หยุดเดิน เป็นต้น

“ณัฐภัทร อุนจะนำ” นักกิจกรรมบำบัดเพื่อเด็กพิเศษ
แม้จะเคยมีประสบการณ์ฝึกงานกิจกรรมบำบัดมาก่อนก็ตาม แต่ณัฐภัทรยอมรับว่า มาทำงานที่นี่ก็เคยเจอเคสหนักๆ ที่ดูแลยากเช่นกัน

“เคยเจอเคสที่อาการหนักเหมือนกัน คือเด็กเอาหัวโขกพื้น ตบตีตัวเอง ซึ่งตรงนี้ต้องปรับพฤติกรรม โดยการเข้าไปสร้างความคุ้นเคยกับเขาก่อน ต้องเข้าหาเขาแสดงไมตรีที่ดีต่อกัน ทำอย่างนี้เรื่อยๆ สักประมาณ 1-2 เดือน เขาคุ้นเคยกับเราก็จะให้ความร่วมมือในการบำบัดรักษา ตอนนี้ก็ไม่ค่อยแสดงพฤติกรรมเหล่านี้แล้ว”

แต่การดูแลบำบัดรักษาที่ยั่งยืนนั้นจะพึ่งพาแต่นักกิจกรรมบำบัดอย่างเดียวไม่ได้ ณัฐภัทร บอกว่า พ่อแม่ผู้ปกครองมีความสำคัญอย่างมาก เพราะอยู่กับเด็กแทบตลอดเวลา เราก็ต้องฝึกผู้ปกครองให้การบ้านเขาด้วยว่า เวลากลับไปบ้านแล้วจะต้องดูแล ฝึกลูกของเขาอย่างไรให้มีพัฒนาการที่ดีขึ้น ช่วยเหลือตนเองได้

จากการดูแลบำบัดเด็กพิเศษ เรื่องการได้แผลจากเด็กที่มีพฤติกรรมรุนแรงก้าวร้าว จึงเป็นเรื่องปกติ แต่ก็เป็นบทพิสูจน์ถึงความอดทน และความมีจิตใจที่ดี ปรารถนาดีต่อเด็กของณัฐภัทรได้อย่างชัดเจน ซึ่งสุดท้ายเด็กหลายคนก็มีพัฒนาการที่ดีขึ้น สามารถช่วยเหลือตัวเองได้ นับเป็นความสำเร็จก้าวหนึ่งที่ณัฐภัทร รู้สึกยินดีเป็นอย่างยิ่งในฐานะนักกิจกรรมบำบัด ที่มีส่วนช่วยพัฒนาให้เด็กจำนวนหนึ่งสามรถใช้ชีวิตต่อไปบนโลกได้ต่อไปอย่างงดงาม


ที่มา ผู้จัดการออนไลน์
วันที่ 29 กันยายน 2557