Page 1 of 1

เจิร์มการ์ด : สุดยอดนวัตกรรมแห่งชาติเพื่อสังคม - ฉลาดคิด

Posted: 09 Oct 2014, 08:46
by brid.siriwan
เจิร์มการ์ด : สุดยอดนวัตกรรมแห่งชาติเพื่อสังคม - ฉลาดคิด

อนุพันธ์ของสารแซนโทน มีประโยชน์ทางการแพทย์มากมาย รวมถึงมีฤทธิ์ต้านการอักเสบ ฆ่าเชื้อแบคทีเรียก่อโรคทั้งชนิดแกรมบวกและแกรมลบ รวมถึงเชื้อไวรัสและเชื้อราบางชนิด

คว้ารางวัลสุดยอดนวัตกรรมแห่งชาติด้านสังคมประจำปีนี้ กับผลงาน “เจิร์มการ์ด” (GermGuard) ผลิตภัณฑ์ทางการแพทย์เคลือบด้วยสารสกัดจากเปลือกมังคุดของบริษัท อินโนเวทีฟ ฟิลเทรชั่น เทคโนโลยี (ไอเอฟที) จำกัด

“ศ.ดร.พิชญ์ ศุภผล” ผู้บริหารอินโนเวทีฟฯ และนักวิจัยจากวิทยาลัยปิโตรเลียมและปิโตรเคมี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย บอกว่า เป็นการต่อยอดผลงานวิจัยจากห้องปฏิบัติการมาสู่การสร้างผลิตภัณฑ์เชิงพาณิชย์ ด้วยฝีมือนักวิจัยไทย

เริ่มจากทีมวิจัยได้ทำการศึกษาและสกัดสาร “แซนโทน” (Xanthone) จากเปลือกมังคุด สิ่งที่เหลือทิ้งจากภาคการเกษตร

อนุพันธ์ของสารแซนโทน มีประโยชน์ทางการแพทย์มากมาย รวมถึงมีฤทธิ์ต้านการอักเสบ ฆ่าเชื้อแบคทีเรียก่อโรคทั้งชนิดแกรมบวกและแกรมลบ รวมถึงเชื้อไวรัสและเชื้อราบางชนิด

จึงมีการนำมาต่อยอด พัฒนาวิธีการนำไปประยุกต์ใช้งานกับผลิตภัณฑ์ทางการแพทย์ต่าง ๆ โดยใช้เทคโนโลยีกักเก็บสารในระดับนาโนหรือ encapsulation ก่อนที่นำไปเคลือบบนผลิตภัณฑ์ ทั้งหน้ากากอนามัย แผ่นกรองอากาศ วัสดุปิดแผล และแผ่นปิดสิว

จุดเด่นคือสามารถคงฤทธิ์ได้นานถึง 3 ปี ก่อนการใช้งาน

ผู้วิจัยบอกว่า ปัจจุบันมีการนำไปทำเป็นแผ่นปิดแผลสำหรับผู้ป่วยแผลไฟไหม้-น้ำร้อนลวก เบาหวาน และแผลติดเชื้อ

ซึ่งแผ่นปิดแผลเหล่านี้ ไม่ใช่ก๊อซที่ทำจากผ้าธรรมดา แต่ต้องป้องกันการติดแผลด้วย ส่วนใหญ่นำเข้าจากต่างประเทศ ถึง 90% และมีราคาแพง คนเป็นเบาหวานหรือผู้ป่วยไฟไหม้-น้ำร้อนลวก ต้องใช้แผ่นปิดแผลจำนวนมาก กว่าแผลจะหาย บางคนต้องเสียค่าวัสดุเหล่านี้ นับล้านบาททีเดียว

แผ่นปิดแผลเคลือบสารสกัดจากเปลือกมังคุด จึงเป็นอีกหนึ่งทางเลือกในการใช้งาน โดยมีราคาถูกกว่านำเข้า 3-9 เท่า

นอกจากจะมีคุณสมบัติการฆ่าเชื้อโรคลดอาการติดเชื้อแล้ว แผ่นปิดแผลนี้ยังสามารถลดอาการบาดเจ็บ และมีฤทธิ์สมานแผล ช่วยให้แผลหายเร็วขึ้นอีกด้วย

โดยผ่านการทดสอบใช้งานจริงในโรงพยาบาลต่าง ๆ มาแล้ว อย่างเช่น ที่แผนกตรวจโรคศัลยกรรม โรงพยาบาลสมเด็จพระปิ่นเกล้า แผ่นก๊อซปิดแผลที่พัฒนานี้ สามารถช่วยทำให้คนไข้ที่เป็นแผลไฟไหม้หายเร็วขึ้นภายใน 10 วัน

ทั้งนี้คาดว่าจะสามารถผลิตเพื่อจำหน่ายเชิงพาณิชย์ได้ภายในสิ้นปีนี้ หรือต้นปีหน้า

เชื่อ...งานวิจัยแบบนี้ ใช้ได้จริง ๆ !!!.

นาตยา คชินทร
nattayap.k@gmail.com

ที่มา เดลินิวส์
วันที่ 9 ตุลาคม 2557