Page 1 of 1

อิฐกันตะไคร่น้ำ - ฉลาดคิด

Posted: 05 Apr 2013, 15:05
by brid.kavee
ladawan
Hero Member
*****
Posts: 824


View Profile Email


อิฐกันตะไคร่น้ำ - ฉลาดคิด
« on: January 26, 2013, 09:18:11 am »

อิฐกันตะไคร่น้ำ - ฉลาดคิด


นักวิจัยไทยพัฒนาน้ำยาเคลือบวัสดุก่อสร้าง กันเชื้อราและแบคทีเรีย พร้อมถ่ายทอดเอกชนนำร่องเคลือบอิฐสนามกันตะไคร่น้ำ

ดร.สิทธิสุนธร สุโพธิณะ นักวิจัยจากห้องปฏิบัติการการผลิตเซรามิก หน่วยวิจัยเทคโนโลยีเซรามิกส์ ศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ (เอ็มเทค) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) เปิดเผยผลสำเร็จของการพัฒนาสูตรน้ำยาเคลือบผิววัสดุ ที่เพิ่มคุณสมบัติป้องกันเชื้อรา และแบคทีเรีย หลังจากเดินหน้าวิจัยมาตั้งแต่ปี 2549 ซึ่งปัจจุบันได้ถ่ายทอดสูตรน้ำยาให้ภาคเอกชนนำไปผลิตใช้จริงแล้วถึง 2 ราย

งานวิจัยดังกล่าว เริ่มต้นจากโจทย์วิจัยฟิล์มเคลือบกระจกรถยนต์ทำความสะอาดตัวเอง ไม่ให้มีน้ำเกาะ ซึ่งเอ็มเทคได้ร่วมกับภาควิชาวัสดุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย แต่สิ่งที่พบคือสูตรน้ำยา ที่สามารถยึดเกาะได้ดีกับวัสดุที่มีรูพรุนเป็นจำนวนมาก ขณะที่การยึดเกาะบนวัสดุผิวเรียบทำได้ไม่ดีนัก

ทีมวิจัยจึงได้ทดลองนำน้ำยาที่ได้ มาเคลือบลงบนผิววัสดุก่อสร้าง ประเภทอิฐบล็อกที่มีรูพรุนเพื่อทดสอบคุณสมบัติ โดยเริ่มต้นที่ อิฐบล็อกประสาน วัสดุก่อสร้างที่ได้รับความนิยมในการตกแต่งสนาม สวนกลางแจ้ง โดยคุณสมบัติที่ต้องการคือความทนทานต่อแดด ฝน และสภาพเปียกชื้น ซึ่งทำให้เกิดเชื้อราและตะไคร่น้ำ ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้อายุการใช้งานของวัสดุสั้นลง

“การที่อิฐก่อสร้างมีรูพรุนบนพื้นผิวจำนวนมากทำให้น้ำซึมผ่านได้ง่าย ทำให้อิฐแตกหัก เกิดคราบสกปรก มีตะไคร่น้ำเกาะ และเติบโตบนก้อนอิฐอย่างรวดเร็ว ส่งผลให้สิ่งปลูกสร้างสูญเสียทัศนียภาพความสวยงามในระยะเวลาไม่นาน หากไม่มีการเคลือบป้องกัน” ดร.สิทธิสุนธร อธิบาย

สำหรับน้ำยาเคลือบที่พัฒนาขึ้น เกิดจากส่วนผสมของสารเคมีประเภทไซลอกเซน (siloxane) กับอนุภาคนาโนของสารบางชนิด ช่วยเพิ่มคุณสมบัติป้องกันแบคทีเรีย และเชื้อรา เมื่อเคลือบลงบนพื้นผิวของวัสดุจะมีลักษณะคล้ายแผ่นฟิล์ม ป้องกันตะไคร่น้ำและคราบสกปรกได้เป็นอย่างดี

นักวิจัยบอกว่า น้ำยาดังกล่าวสามารถนำไปเคลือบผิวลงบนผิวอิฐหรือพื้นผิววัสดุก่อสร้างที่มีรูพรุนได้ทันทีด้วยวิธีการทาด้วยแปรง หรือจุ่มเคลือบลงบนพื้นผิวของวัสดุ เพื่อให้เกิดฟิล์มที่มีคุณสมบัติเลียนแบบปรากฏการณ์น้ำกลิ้งบนใบบัว สามารถป้องกันการเกาะของน้ำและการซึมผ่านของน้ำลงไปในตัววัสดุ โดยไม่ทำลายสีดั้งเดิม

ทั้งนี้ ผลที่ได้จากการทดสอบประสิทธิภาพอิฐเคลือบสารกันตะไคร่น้ำ โดยนำไปวางตากแดดตากฝนในที่โล่งแจ้งเป็นเวลา 1 ปี พบว่า อิฐที่ทาสารเคลือบไม่มีตะไคร่ขึ้นที่พื้นผิว เมื่อเปรียบเทียบกับอิฐที่ไม่ได้ทาสารเคลือบ

นอกจากนี้ ทีมวิจัยยังนำสารเคลือบอิฐไปทดสอบเปรียบเทียบกับผลิตภัณฑ์น้ำยาเคลือบกันซึมและน้ำยาเคลือบทำให้เงาหลายยี่ห้อที่วางจำหน่ายในท้องตลาด พบว่า สารเคลือบอิฐที่ทีมวิจัยพัฒนาขึ้นสามารถเพิ่มคุณสมบัติกันน้ำและเพิ่มอายุการใช้งานให้กับวัสดุได้อีกด้วย.

ที่มา : เดลินิวส์ออนไลน์
วันพฤหัสบดีที่ 24 มกราคม 2556 เวลา 00:00 น.