Page 1 of 1

ปิ๊งไอเดียดึงเงินนอกงบประมาณเข้าคลัง

Posted: 10 Oct 2014, 08:29
by brid.siriwan
ปิ๊งไอเดียดึงเงินนอกงบประมาณเข้าคลัง

“ปลัดคลัง” ปิ๊งไอเดียนำเงินนอกงบประมาณจากกองทุนของส่วนราชการ ที่มีอยู่กว่าหลายร้อยแห่ง และเงินจากมูลนิธิ องค์กรที่ฝั่งอยู่ตามกระทรวงต่าง ๆ เข้าระบบเงินคงคลัง

นายรังสรรค์ ศรีวรศาสตร์ ปลัดกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า มีแนวคิดนำเงินนอกงบประมาณจากกองทุนของส่วนราชการ ที่มีอยู่กว่าหลายร้อยแห่ง และเงินจากมูลนิธิ องค์กรที่ฝั่งอยู่ตามกระทรวงต่าง ๆ ให้เข้าระบบเงินคงคลัง โดยขณะนี้สำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) กำลังเข้าไปตรวจสอบ เนื่องจากที่ผ่านมาพบว่ามีการบริหารจนเกิดผลกำไรจำนวนมาก แต่ไม่ได้นำรายได้ส่วนนั้นส่งเข้าคลังให้เป็นรายได้แผ่นดิน รวมถึง แนวคิดบริหารเงินคงคลังที่ยังเหลืออีก 400,000 ล้านบาท ว่านำไปใช้บริหารอย่างไรให้มีรายได้เข้ารัฐเพิ่มขึ้น จากปัจจุบันที่ฝากไว้ที่ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) แบบไม่มีผลตอบแทน ให้สามารถบริหารเหมือนกับต่างประเทศที่นำเงินส่วนนี้ไปบริหารให้เกิดดอกผล

ทั้งนี้ เศรษฐกิจไทย ปี 58 ยังจำเป็นต้องพึ่งพาการใช้จ่ายภาครัฐ เพื่อชดเชยภาคการส่งออก การนำเข้า และการลงทุนของภาคเอกชนที่ชะลอตัวต่อเนื่อง จากปี 57 ซึ่งจากการหารือร่วมกับกรมบัญชีกลาง ยืนยันว่ากระทรวงการคลัง ยังมีเงินงบประมาณ เหลือเพียงพอที่จะใช้กระตุ้นเศรษฐกิจ บางส่วนอยู่ในแผนกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาล เช่นการเร่งเบิกจ่ายงบเหลื่อมปี 80,000 ล้านบาท และการใช้งบจากโครงการไทยเข้มแข็งอีกกว่า 15,000 ล้านบาท ช่วงไตรมาสแรกของปีงบประมาณ 58

สำหรับการขยายตัวเศรษฐกิจไทย ปี 57 คาดว่าจะอยู่ที่ 1.7% ต่ำกว่าที่คาดไว้ที่ 2% เนื่องจากภาคการส่งออกไม่ฟื้นตัว โดยเดือน ส.ค.ขยายตัวติดลบ 7% ขณะที่ภาคการนำเข้า ขยายตัวติดลบ 12% เช่นกัน ซึ่งรัฐบาลก็ไม่ได้นิ่งนอนใจ และได้ออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจในระยะ 3 เดือน เช่น การจ่ายเงินชาวนา 1,000 บาทต่อไร่ และการเร่งเบิกจ่ายงบประมาณและโครงการขอรับการส่งเสริมการลงทุนกว่า 300,000 ล้านบาท จัดตั้งเขตเศรษฐกิจพิเศษ 5 แห่ง ที่จะต้องมาพิจารณาว่าจะส่งผลต่อการขยายตัวในช่วงที่เหลือเพิ่มขึ้นอย่างไร

นอกจากนี้ กระทรวงการคลัง ยังเดินหน้าปฏิรูปโครงสร้างภาษี เพื่อนำรายได้มาชดเชยรายได้นั้น ซึ่งได้ศึกษาไว้แล้ว แต่ต้องรอนโยบายรัฐบาลว่าจะดำเนินการอย่างไร โดยเฉพาะภาษีมูลค่าเพิ่ม (แวต) จาก 7% เป็น 10% นั้น ยืนยันว่าจะต้องพิจารณาให้รอบคอบว่ามีความจำเป็นต้องปรับขึ้นหรือไม่ เพื่อไม่ให้ส่งผลกระทบต่อประชาชนส่วนใหญ่ เบื้องต้นมองว่าหากรัฐหารายได้ไม่เพียงพอต่อการจัดตั้งงบประมาณ และอาจต้องกู้เงินเพิ่มขึ้น ทำให้เป็นงบประมาณขาดดุลทุกปี ส่งผลต่อหนี้สาธารณะที่จะเพิ่มสูงขึ้น ก็คงต้องปรับขึ้นอัตราภาษีอย่างแน่นอน ซึ่งประเมินว่าทุก 1% ที่ปรับขึ้น จะมีได้รายได้เพิ่มขึ้น 50,000-60,000 ล้านบาท แต่จะไม่ได้ส่งผลต่อประชาชนมากนัก


ที่มา เดลินิวส์
วันที่ 9 ตุลาคม 2557