Page 1 of 1

นักเศรษฐศาสตร์ชี้กระตุ้นเศรษฐกิจบิ๊กตู่ “บ่มิไก๊” แค่ดันงบเก

Posted: 10 Oct 2014, 13:47
by brid.siriwan
นักเศรษฐศาสตร์ชี้กระตุ้นเศรษฐกิจบิ๊กตู่ “บ่มิไก๊” แค่ดันงบเก่า

นักเศรษฐศาสตร์ยอมรับ อยู่ในสภาพน้ำท่วมปาก กฎอัยการศึกยังคุมอยู่แถมเคยหนุนให้ทหารเข้ามาช่วยแก้วิกฤติการเมือง พูดอะไรลำบาก ชี้มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจชุดนี้แค่เร่งผลักดันงบเก่าบวกของใหม่ ส่วนการแจกเงินชาวนาแม้แต่ผู้ว่าฯแบงก์ชาติยังบอกว่าไม่ใช่ประชานิยม หวั่นยางพารา มันสำปะหลัง ร้องเพิ่ม เชื่อทำได้แค่ประคองเศรษฐกิจ เข้าใจสภาพหากรัฐบาลนี้อัดมาตรการระยะยาวจะถูกโจมตีว่าต้องการอยู่ยาว

นักเศรษฐศาสตร์ชี้กระตุ้นเศรษฐกิจบิ๊กตู่ “บ่มิไก๊” แค่ดันงบเก่า
พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล รองนายกรัฐมนตรี ร่วมกันแถลงมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ


หลังจากการเข้าบริหารประเทศของคณะรักษาความสงบแห่งชาติในรูปของรัฐบาลพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ในฐานะนายกรัฐมนตรี ได้ออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ เพื่อช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศที่หยุดชะงักมาไม่น้อยกว่า 7 เดือนในช่วงที่มีการชุมนุมทางการเมืองต่อต้านรัฐบาลของนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร

ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล รองนายกรัฐมนตรี ที่รับผิดชอบงานด้านเศรษฐกิจได้แถลงมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจที่ผ่านความเห็นชอบของคณะรัฐมนตรีเมื่อ 1 ตุลาคม 2557 โดยมีมาตรการทั้งสิ้น 6 รายการประกอบด้วย

1 งบประมาณการลงทุนที่ค้างจากปี 2557 วงเงิน 147,050.8 ล้านบาท ทุกกระทรวงทบทวนว่าพร้อมที่จะทำสัญญาจ้างงานและลงทุนได้ภายในเดือนธันวาคม 2557

2 เงินงบประมาณในการลงทุนของปี 2558 ทุกระทรวงจะเร่งรัดทำสัญญาจ้างภายใน 3 เดือนแรกของปีงบประมาณ วงเงิน 129,522.2 ล้านบาท โดยสั่งการให้รัฐมนตรีทุกกระทรวงเซ็นสัญญาการจ้างงานและประมูลให้ถูกต้อง

3 เร่งรัดการลงทุนโครงการขนาดเล็กทั่วประเทศจากงบกลางที่กันไว้เบิกเหลื่อมปี 2555-2557 และงบไทยเข้มแข็งที่เหลือจากปี 2552 วงเงิน 23,000 ล้านบาท ทั้งหมดเป็นโครงการที่เน้นการซ่อม-สร้าง

4 ทบทวนเงินกันไว้เบิกจ่ายเหลื่อมปี 2548-2556 วงเงินรวม 24,892.4 ล้านบาท ให้แต่ละกระทรวงไปคิดโครงการและเร่งรัดลงนามในสัญญาให้ได้ภายในเดือนธันวาคม 2557

5 มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจที่ฐานราก มุ่งช่วยเหลือชาวนา 3.4 ล้านครัวเรือน ใช้สภาพคล่องจากธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) จำนวน 40,000 ล้านบาท โดยจะมีการตั้งงบประมาณชดเชยในปีหน้า

6 เร่งรัดอนุมัติโครงการลงทุนที่ได้รับสิทธิจากคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) จำนวน 380 ราย วงเงินรวม 429,208 ล้าน

มาตรการเหล่านี้เพื่อใช้กระตุ้นเศรษฐกิจชองไทยในช่วงที่เหลืออีก 3 เดือนของปี 2557 โดยเฉพาะมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจที่รากหญ้า 4 หมื่นล้านบาทนั้น มีการตั้งข้อสังเกตุกันในวงกว้างว่าจะซ้ำร้อยเดิมกับนโยบายประชานิยมของรัฐบาลที่ผ่านมาหรือไม่

โดยมาตรการนี้เป็นการให้เงินช่วยเหลือชาวนาจำนวน 1,000 บาทต่อไร่ แต่สำหรับผู้ที่มีที่ดินเกินกว่า 15 ไร่ ก็จะได้รับเงินช่วยเหลือสูงสุดไม่เกิน 15,000 บาท ปัจจุบันมีชาวนาที่มีที่นาไม่เกิน 15 ไร่ อยู่ 1.8 ล้านครัวเรือน ส่วนที่มีที่นาเกินกว่า 15 ไร่ มีอยู่ 1.6 ล้านครัวเรือน

ขณะที่ทั้งพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ม.ร.ว.ปรีดิยาธร รวมถึงคณะรัฐมนตรีอื่น ๆ พร้อมใจประสานเสียงว่ามาตรการดังกล่าวไม่ใช่ประชานิยม เพราะทำแค่ปีเดียวและรัฐบาลชุดนี้ไม่ได้มุ่งหวังผลคะแนนนิยมทางการเมือง

นักเศรษฐศาสตร์ชี้กระตุ้นเศรษฐกิจบิ๊กตู่ “บ่มิไก๊” แค่ดันงบเก่า
ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล รองนายกรัฐมนตรี ด้านเศรษฐกิจ


น้ำท่วมปาก พูดไม่ออก-บอกลำบาก

“ตอนนี้จะประเมินผลของมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ หรือคาดการณ์อะไรก็ลำบาก จะเห็นได้ว่าทุกคนเงียบ ความคิดเห็นที่มีต่อตัวมาตรการนี้มีน้อยมาก” นักวิชาการด้านเศรษฐศาสตร์กล่าว

พร้อมทั้งเพิ่มเติมว่า การวิพากษ์วิจารณ์อะไรคงไม่สะดวกนัก เนื่องจากยังมีเรื่องของกฎอัยการศึกควบคุมอยู่อีกชั้นหนึ่ง แม้ผู้นำอย่างพลเอกประยุทธ์หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.)จะเข้ามาเป็นนายกรัฐมนตรี แต่คสช.ก็ยังอยู่

อีกประการหนึ่งก่อนหน้านี้ คสช.ได้รับแรงหนุนจากนักวิชาการและคนเมืองจำนวนไม่น้อยที่เรียกร้องให้ทหารเข้ามาช่วยยุติปัญหาทางการเมืองในช่วงที่ผ่านมา ดังนั้นจึงพูดอะไรได้ไม่เต็มปากเต็มคำนัก ขนาดผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทยยังบอกว่าไม่ใช่ประชานิยม อย่างนี้แล้วจะนักเศรษฐศาสตร์หรือนักวิชาการอื่น ๆ พูดอะไรได้

แม้เราจะเห็นว่ามาตรการแจกเงินให้กับชาวนาในครั้งนี้ ไม่ได้แตกต่างกับประชานิยมในอดีต แต่ก็ต้องยอมรับว่าวิธีการนี้ใช้เงินน้อยกว่ามาตรการประชานิยมในครั้งก่อน ๆ

เห็นได้จากการที่ ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล รองนายกรัฐมนตรีที่ออกมากล่าวว่า ที่รัฐบาลใช้เงินรอบนี้ 40,000 ล้านบาท ก็ดีกว่าไปขาดทุนโครงการรับจำนำข้าวปีละ 250,000 ล้านบาท และทำแค่ปีเดียวเท่านั้น ไม่เรียกว่าเป็นโครงการประชานิยม เพราะไม่ได้ต้องการคะแนนเสียง ตอนนี้ต้องการกระตุ้นเศรษฐกิจ

แต่ปัญหาที่จะตามมานั่นก็คือ เมื่อรัฐบาลนี้ให้การช่วยเหลือชาวนา เกษตรกรอื่น ๆ ก็จะเรียกร้องให้รัฐบาลช่วยเหลือบ้างทั้งชาวสวนยาง มันสำปะหลังและอื่น ๆ

ทุกรัฐบาลใช้สูตร “อัดเงิน-สร้างงาน”

นักวิชาการด้านเศรษฐศาสตร์ กล่าวต่อไปว่า มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของทุกรัฐบาลไม่ว่าจะเป็นในช่วงสถานการณปกติหรือสถานการณ์ปัจจุบัน วิธีการมักจะไม่แตกต่างกันนั่นคือการใช้เงินลงทุนภาครัฐสานต่อหรือสร้างโครงการก่อสร้างขนาดใหญ่เพื่อกระตุ้นให้เกิดการจ้างงาน เพิ่มกำลังซื้อในระบบเศรษฐกิจ

จะเห็นได้ว่าในรัฐบาลนี้ก็ใช้หลักการเดียวกัน โดยใช้เงินที่ค้างเบิกจ่ายในงบประมาณปี 2557 บวกเข้ากับเร่งงบประมาณปี 2558 หรือเร่งอนุมัติการลงทุนจากนักลงทุนต่างประเทศให้มากขึ้น เป็นเงินหลายแสนล้านบาท มีเพียง 4 หมื่นล้านบาทที่มุ่งไปที่ชาวนาโดยตรง

ทั้งหมดขึ้นอยู่กับการออกแบบตัวมาตรการว่าจะเน้นไปที่จุดใด หวังผลทางการเมืองหรือไม่ เพราะที่ผ่านมาใครที่มาเป็นรัฐบาลจะได้สิทธิในการบริหารจัดการงบประ18:56 น. มาณของประเทศ นักการเมืองเหล่านี้จะใช้เงินของคนทั้งประเทศมาใช้จ่าย โดยไม่ได้คำนึงผลเสียหายที่จะตามมา อีกทั้งกว่ากระบวนการในการยับยั้งจะทำงานบางครั้งก็ไม่ทันการณ์

ในจุดของรัฐบาลพลเอกประยุทธ์อาจมีทั้งข้อจำกัดในเรื่องที่การเข้ามาแก้วิกฤติทางการเมืองในครั้งนี้เป็นเพียงช่วงระยะเวลาสั้น ๆ ตัวมาตรการจึงเป็นเพียงการดึงเอางบประมาณเก่าที่ค้างอยู่บวกกับงบประมาณใหม่ในปี 2558 มาเร่งใช้ เพราะให้เศรษฐกิจไม่แย่ลงไปกว่านี้ จึงไม่มีการคิดโครงการใหม่ ๆ ออกมา

“ต้องเรียนตรง ๆ ว่าไม่มีอะไรใหม่สำหรับมาตรการที่ออกมา แค่ปรับและเร่งการใช้จ่ายเท่านั้น การจะกระตุ้นเศรษฐกิจด้วยแนวทางใหม่ ติดขัดในข้อจำกัดเรื่องวัตถุประสงค์ในการเข้ามาเป็นรัฐบาลชั่วคราว เพราะหากออกมาตรการระยะยาวออกไปจะเป็นที่ครหาได้ เนื่องจากมีผู้จับตาอยู่ทั้งภายในและนอกประเทศ เรียกว่าดีกว่าไม่ทำจะเหมาะกว่า”

ไม่เช่นนั้นก็จะตกอยู่ในสถานะที่ถูกมองว่าต้องการสืบทอดอำนาจในการบริหารประเทศที่ยาวนานกว่าที่ควรจะเป็น

นักเศรษฐศาสตร์ชี้กระตุ้นเศรษฐกิจบิ๊กตู่ “บ่มิไก๊” แค่ดันงบเก่า
รัฐบาลช่วยเหลือปัจจัยการผลิตชาวนาไร่ละ 1 พันบาท ไม่เกิน 15 ไร่ต่อครัวเรือน


ควรแก้ปัญหายั่งยืน-ครบวงจร

ปีนี้เศรษฐกิจไทยน่าจะเติบโตต่ำกว่า 2% ยิ่งยอดส่งออกช่วง 8 เดือนที่ผ่านมาติดลบ 1.36% เป็นไปได้ที่เศรษฐกิจิอาจโตเพียง 1.5% ส่วนผลของมาตรการหากเร่งดำเนินการได้ทันในปีนี้ น่าจะเป็นการประคองไม่ให้เศรษฐกิจของประเทศแย่ลงกว่าที่เป็นอยู่ แต่จะเป็นฐานส่งให้เศรษฐกิจในปี 2558 กระเตื้องขึ้นในทิศทางที่ดีกว่าเดิม โดยเป้าเติบโตอยู่ที่ 3.5-4%

ภายใต้สถานการณ์อย่างนี้ที่การแสดงความคิดเห็นหรือแสดงข้อห่วงใยประเทศ จึงมีข้อจำกัด นักวิชาการ นักเศรษฐศาสตร์หรือผู้รอบรู้ต่าง ๆ ที่อยากจะเสนอแนะทางออกของประเทศด้วยเจตนาดีจึงทำได้ไม่สะดวกนัก เชื่อว่าหลาย ๆ ท่านก็มีความห่วงใยประเทศไม่แพ้กัน

เพราะอย่างมาตรการช่วยเหลือเรื่องปัจจัยการผลิตของชาวนาด้วยการแจกเงินนั้น ไม่ใช่แนวทางการแก้ปัญหาที่ยั่งยืน ดีที่สุดคือต้องทำให้ต้นทุนการผลิตลดลงเอง ทั้งจากการส่งเสริมให้มีการปลูกข้าวที่ไม่จำเป็นต้องพึ่งสารเคมี หรือเข้าไปดูต้นทุนของสารเคมีหรือปุ๋ยต่าง ๆ ที่ล้วนแล้วเป็นผลผลิตมาจากอุตสาหกรรมปิโตรเคมี ซึ่งเป็นผลพวงมาจากพลังงาน

อีกทั้งการปฏิรูปพลังงาน 2 ครั้งที่ผ่านมาก็ไม่มีความคืบหน้าทุกอย่างยังเหมือนเดิม ซึ่งการปรับขึ้นราคาก๊าซแอลพีจีเมื่อวันที่ 1 ตุลาคมที่ผ่านมาจะเป็นอีกปัญหาหนึ่งที่รัฐบาลนี้ต้องทำให้มีผลกระทบน้อยที่สุด ไม่เช่นนั้นปัญหาเรื่องค่าครองชีพจะตามมาทั้งค่าโดยสารหรือราคาอาหาร และจะเป็นปัจจัยซ้ำเติมให้ความหวังที่จะกระตุ้นเศรษฐกิจจากมาตรการที่ออกมาไม่ประสบผลเป็นที่น่าพอใจ

ที่มา ASTVผู้จัดการออนไลน์
วันที่ 6 ตุลาคม 2557