Page 1 of 1

คลังโยนเผือกร้อน “กอช.”

Posted: 15 Oct 2014, 13:27
by brid.siriwan
คลังโยนเผือกร้อน “กอช.”

สศค.เล็งเสนอทางเลือก กอช. ให้ รมว.คลัง เร่งตัดสินใจว่าจะเดินหน้าโครงการดังกล่าวอย่างไร หวั่นตัดสินใจช้าอาจถูกฟ้องร้อง เหตุไม่เดินหน้าตาม พ.ร.บ.

นายกฤษฎา จีนะวิจารณะ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) เปิดเผยว่า สศค.เตรียมเสนอทางเลือกการดำเนินโครงการกองทุนการออมแห่งชาติ (กอช.) ให้นายสมหมาย ภาษี รมว.คลัง เร่งตัดสินใจว่าจะเดินหน้าโครงการดังกล่าวอย่างไร เพราะเกรงว่าหากตัดสินใจล่าช้า รมว.คลัง อาจถูกฟ้องร้องได้ เช่นเดียวกับที่นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง อดีต รมว.คลัง ถูกฟ้องร้องให้ถอดถอนออกจากตำแหน่งได้ เนื่องจากทำผิดกฎหมายรัฐธรรมนูญ มาตรการ 170 เพราะไม่เดินหน้าตาม พ.ร.บ.การออมแห่งชาติ พ.ศ.2554 ซึ่งกฎหมายดังกล่าวกำหนดให้ กอช. ต้องเปิดรับสมัครสมาชิกภายใน 1 ปีหลังกฎหมายมีผลบังคับใช้ หรือต้องเปิดรับสมาชิกตั้งแต่วันที่ 8 พ.ค.55 เป็นต้นไป

ทั้งนี้ สศค. จะเสนอแนวทางให้ รมว.คลัง พิจารณาเพื่อประเมินถึงข้อดี และข้อเสีย ได้แก่ การเดินหน้า กอช. ต่อโดยการตั้งสำนักงาน กอช. ตามแนวทางเดิมที่ได้เงินประเดิมจากรัฐบาล 1,000 ล้านบาท ซึ่งที่ผ่านมาเบิกไปแล้ว 200 ล้านบาท หรือดำเนินการต่อภายใต้ความร่วมมือกับสถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐ (แบงก์รัฐ) ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) และธนาคารออมสิน เพื่อทำหน้าที่ในการเปิดรับสมาชิก รับและจ่ายเงินสมทบ เพื่อลดต้นทุนการทำงานไม่สูงเกิน

อย่างไรก็ตาม รัฐบาลก่อนได้มีมติยุบรวม กอช. เข้ากับกองทุนประกันสังคม มาตรา 40 ปัจจุบันมีคนเข้าเป็นสมาชิก 200,000 - 300,000 ราย ซึ่ง สศค.กำลังเปรียบเทียบต้นทุนการดำเนินงานว่า หากให้ประกันสังคมทำต่อ เพราะเป็นงานที่ประกันสังคมทำอยู่แล้ว หากเห็นว่าวิธีการนี้เหมาะสม กระทรวงการคลัง จะต้องเสนอยกเลิก พ.ร.บ. กองทุนการออมแห่งชาติต่อไป

"คงต้องหารือกับ ธ.ก.ส. ออมสิน ว่า ยอมรับเป็นแขนขาให้ กอช. ก็เท่ากับว่าจะได้ฐานลูกค้าจาก ธ.ก.ส. และออมสิน มากกว่า 3 - 4 ล้านคน เพื่อให้แน่ใจว่าทำแล้วคุ้ม แล้วค่อยเขียนบทเฉพาะการ โดยให้โอนงานจากประกันสังคมเข้ามา เพื่อให้คนที่สมัครไปก่อนได้สิทธิประโยชน์ตามมาตร 40 เหมือนเดิม หรือถ้าเห็นแล้วว่าทำไปไม่คุ้ม ถ้าให้ประกันสังคมทำต่อ ก็ต้องยกเลิกกฎหมายฉบับนี้ต่อไป”

รายงานข่าวจากกระทรวงการคลัง กล่าวว่า แนว ทางการดำเนินงานของ กอช. ยังคงเหมือนเดิม ซึ่งเป็นเครื่องมือในการส่งเสริมการออมและสร้างหลักประกันทางรายได้ให้กับ ประชาชนกลุ่มสูงอายุ ตั้งแต่ 60 ปีขึ้นไป โดยที่ผ่านมา ได้เสนอให้คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) พิจารณาและเห็นชอบในการแก้ไขกฎหมาย พ.ร.บ.กอช. พ.ศ.2554 และพระราชกฤษฎีกาที่ออกตามมาตรา 40 แห่ง พ.ร.บ.ประกันสังคม รวมทั้ง ออกกฎกระทรวง กอช.ให้มีแนวทางการปฏิบัติในการดำเนินงานและสามารถเปิดรับสมาชิกได้แล้ว เพื่อเป็นช่องทางการออมและสร้างหลักประกันทางรายได้ในยามสูงอายุที่เป็นรูป แบบบำนาญให้กับแรงงานนอกระบบ ซึ่งเป็นคนกลุ่มใหญ่ของประเทศกว่า 24 ล้านคน หรือคิดเป็น 63% ของผู้มีงานทำ

สำหรับ กอช.ถือเป็นหน่วยงานของรัฐและมีฐานะเป็นนิติบุคคลที่ไม่เป็นส่วนราชการหรือรัฐวิสาหกิจ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมการออมให้กับสมาชิกและเป็นหลักประกันการจ่ายบำนาญและให้ประโยชน์ตอบแทนแก่สมาชิกเมื่อสมาชิกสิ้นสภาพ ซึ่งสมาชิกส่วนใหญ่จะเป็นแรงงานนอกระบบที่เป็นคนกลุ่มใหญ่ของประเทศ

ที่มา เดลินิวส์
วันที่ 14 ตุลาคม 2557