Page 1 of 1

PwC แนะไทยปรับโครงสร้างภาษีนิติบุคคล-ภาษีหัก ณ ที่จ่าย เพิ่ม

Posted: 17 Oct 2014, 14:15
by brid.siriwan
PwC แนะไทยปรับโครงสร้างภาษีนิติบุคคล-ภาษีหัก ณ ที่จ่าย เพิ่มศักยภาพการแข่งขันรับ AEC

PwC ซัดแนวทางปฏิรูปโครงสร้างภาษีของไทยไม่ชัดเจน แนะรัฐแจงรายละเอียด เพื่อให้ภาคเอกชนเตรียมรับมือ หนุนภาษีนิติบุคคลที่ 20% อย่างถาวร และปรับอัตราภาษีหัก ณ ที่จ่าย เพิ่มศักยภาพแข่งขัน จูงใจทุนข้ามชาติเข้ามาลงทุนหลังเปิดเออีซี

นาย ถาวร รุจิวนารมย์ หัวหน้าหุ้นส่วนกรรมการอาวุโส และกรรมการบริหาร สายงานภาษีและกฎหมาย บริษัท PwC ประเทศไทย เปิดเผยว่า แนวทางการปฏิรูปโครงสร้างภาษีของภาครัฐในปัจจุบันยังขาดความชัดเจนในเบื้องลึกว่า โครงสร้างการปฏิรูปเป็นเช่นไร เพื่ออะไร รวมทั้งรายละเอียดของกฎเกณฑ์ใหม่ จึงอยากเสนอแนะให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องชี้แจงข้อมูลและแนวทางปฏิบัติให้แก่ภาคธุรกิจและสาธารณชน เพื่อสามารถเตรียมความพร้อมรับมือกับการเปลี่ยนแปลงในปีภาษีถัดไป

“สิ่งที่ภาครัฐต้องคำนึงในการปฏิรูปโครงสร้างภาษี คือ ความสามารถในการแข่งขันของประเทศ การรักษาประโยชน์ในด้านสัดส่วนรายได้ภาษี ลดความเหลื่อมล้ำ และกระจายรายได้ใหม่” นายถาวร กล่าว

อย่างไรก็ดี หากรัฐจะปฏิรูปโครงสร้างภาษีเพื่อเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศหลังจากเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (เออีซี) ในปลายปี 2558 นั้นมองว่า การปฏิรูปภาษีนิติบุคคลแบบบูรณาการ ถือเป็นภารกิจหลักที่ต้องเร่งปฏิบัติ เนื่องจากปัจจุบันภาครัฐคงอัตราภาษีเงินได้นิติบุคคลไว้ที่ 20% ของกำไรสุทธิจนถึงปี 2558 เท่านั้น ซึ่งเป็นการลดแบบชั่วคราว และอาจเป็นอุปสรรคต่อการวางแผนธุรกิจและการลงทุนภาคเอกชนในระยะยาว หากในอนาคตมีการกลับมาใช้อัตราเดิมที่ 30% ของกำไรสุทธิ และส่งผลกระทบต่อศักยภาพการแข่งขันกับประเทศเพื่อนบ้านในอาเซียน เนื่องจากเป็นอัตราภาษีที่สูงกว่าหลายๆ ประเทศสมาชิก

ทั้งนี้ การเปิดเออีซี คือ การมีตลาดร่วมกันหรือ Common Market แต่ไม่ใช่การมีระบบภาษีร่วม ดังนั้นประเทศสมาชิก ยังคงต้องใช้นโยบายภาษีของตนเพื่อดึงดูดการลงทุนจากต่างชาติ สำหรับไทยอัตราภาษีนิติบุคคลที่ 20% ถือว่าเป็นอัตราที่เหมาะสม แม้จะทำให้รัฐสูญเสียรายได้ แต่สิ่งที่ได้กลับมานั้นมีมูลค่ามหาศาล ภาคเอกชนจะสามารถแข่งขันกับต่างประเทศและจูงใจให้เกิดการลงทุนเพิ่มในไทย เพราะเมื่อเทียบกับประเทศสมาชิกอาเซียนจะพบว่า อัตราภาษีดังกล่าว ต่ำสุดเป็นอันดับสองรองจากสิงคโปร์ซึ่งอยู่ที่ 17%

นอกจากนี้ เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศไทย ภาครัฐควรต้องมีมาตรการจูงใจเพิ่มเติมเพื่อส่งเสริมให้มีการเข้ามาลงทุนในไทยมากขึ้น รวมทั้งสนับสนุนให้ธุรกิจไทยออกไปลงทุนในต่างประเทศ โดยนอกจากการปรับลดอัตราภาษีนิติบุคคลแล้ว ควรมีการปรับปรุงแก้ไขระเบียบกฎเกณฑ์ที่เป็นอุปสรรคและล้าสมัยไปพร้อมๆกัน เช่น มาตรา 70 ตรี ในกรณีส่งสินค้าไปเก็บในต่างประเทศเพื่อรอจำหน่าย ซึ่งกรมสรรพากรถือว่ามีการจำหน่ายสินค้าแล้ว แต่ข้อเท็จจริงยังไม่ได้เกิดการขาย เป็นต้น

นายถาวร กล่าวว่า ไทยควรชูยุทธศาสตร์การเป็นศูนย์กลางสำนักงานใหญ่ของบริษัทข้ามชาติให้เข้ามาตั้งสาขาในไทยให้ได้อย่างแท้จริง แม้ว่าปัจจุบันจะมีการให้สิทธิประโยชน์ทางภาษี ที่ส่งเสริมการจัดตั้งสำนักงานปฏิบัติการภูมิภาค หรือ (Regional Operating Headquarters: ROH) แต่ในทางปฎิบัติ ยังมีปัญหาและอุปสรรคอยู่มาก และสำหรับกิจการที่เป็นศูนย์บริหารเงิน (Treasury Centre) ในปัจจุบัน ก็ยังไม่มีสิทธิประโยชน์ทางภาษีที่เฉพาะเจาะจง ซึ่งรัฐบาลควรเข้ามาดูแลในประเด็นนี้ด้วย

ประเด็นสำคัญอีกประการหนึ่งที่ภาครัฐควรพิจารณาก่อนการเปิดเออีซี คือ การหามาตรการต่างๆ เพื่อจำกัดการวางแผนภาษีและการเคลื่อนย้ายกำไร ที่เรียกว่า Base Erosion and Profit Shifting (BEPS) ตัวอย่าง เช่น บริษัทข้ามชาติที่หาวิธีหลีกเลี่ยงการเก็บภาษีในประเทศ โดยเคลื่อนย้ายกำไรไปยังประเทศที่ไม่มีขอบเขตทางภาษีแทน ส่งผลให้รายได้ที่รัฐพึงจัดเก็บได้ในอนาคตลดลง ดังนั้น ภาครัฐจึงควรเร่งหาวิธีการป้องกันและอุดช่องโหว่ทางภาษีนี้ด้วย

ในส่วนของหลักเกณฑ์ส่งเสริมการลงทุนของสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (Board of Investment: BoI) ที่มีการปรับปรุงล่าสุด โดยตัดกิจการที่การใช้แรงงาน มีมูลค่าเพิ่มต่ำ มีการใช้เทคโนโลยีน้อย หรือที่ก่อให้เกิดปัญหาสิ่งแวดล้อม ออกจากบัญชีรายชื่อกิจการที่ได้รับส่งเสริมการลงทุน ถือว่าเป็นแนวทางที่ดี และมีความชัดเจนกว่าในอดีต

นอกจากนี้ ภาษีอีกประเภทหนึ่งที่ควรปฏิรูปคือ โครงสร้างภาษี หัก ณ ที่จ่าย ซึ่งในปัจจุบัน อัตราภาษีหัก ณ ที่จ่าย (Withholding Tax) ของไทยมีหลายอัตรา โดยควรมีการหารือกันว่า จะปรับอัตราให้เหมือนกันหรือไม่ เพื่อให้ผู้ประกอบการมีความคล่องตัวในการทำธุรกิจมากขึ้น

ทั้งนี้ การเก็บภาษีหัก ณ ที่จ่ายของกรมสรรพากรมีวัตถุประสงค์เพื่อบรรเทาภาระผู้เสียภาษีเงินได้ที่จะไม่ต้องเสียภาษีในคราวเดียวเป็นเงินจำนวนมาก ขณะเดียวกันช่วยให้รัฐบาลมีรายได้เข้าคลังอย่างสม่ำเสมอ ลดการเลี่ยงเสียภาษีและลดภาระในการตรวจสอบหรือติดตามจัดเก็บภาษีย้อนหลัง โดยอัตราการจัดเก็บปัจจุบัน เช่น ค่าจ้างทำของหรืองานบริการ 3% ค่าขนส่ง 1% ค่าประกันภัย 1% ค่าโฆษณา 2% ค่านายหน้า 3% ค่ารางวัล การแข่งขัน ชิงโชค 5% ค่านักแสดง 5% และค่าเช่า 5% โดยผู้จ่ายมีหน้าที่หัก ณ ที่จ่ายนำส่งสรรพากร

ส่วนแผนการปรับขึ้นอัตราภาษีมูลค่าเพิ่ม (Value Added Tax: VAT) นายถาวรมองว่า การปรับขึ้นเป็น 10% ถือเป็นอัตราที่เหมาะสม เนื่องจากอัตราเดิมที่ 7% ถือเป็นอัตราที่ต่ำเมื่อเปรียบเทียบกับหลายๆ ประเทศ

หากรัฐต้องการปฏิรูปภาษี เพื่อสร้างความเป็นธรรมนั้น ภาษีมูลค่าเพิ่ม ถือเป็นภาษีที่เป็นธรรมที่สุด เพราะทุกคนมีหน้าที่ต้องจ่ายในอัตราที่เท่ากัน จะมากหรือน้อยอยู่ที่การบริโภคของแต่ละบุคคล ซึ่งภาษีประเภทนี้ยังถือเป็นรายได้หลักของหลายประเทศ เพราะจัดเก็บได้ง่ายกว่า

“ในปีหน้าหลังจากที่ไทยปรับ VAT เชื่อว่า รายได้ภาษีน่าจะเพิ่มขึ้นจากปีนี้ ส่วนผลกระทบต่อเศรษฐกิจน่าจะเกิดขึ้นในระยะสั้น ผมเชื่อว่า เมื่อคนปรับตัวได้ การบริโภคก็น่าจะกลับมาเป็นเช่นเดิม”

ที่มา ASTVผู้จัดการออนไลน์
วันที่ 16 ตุลาคม 2557