ก.วิทย์ดันเครื่องตรวจเบาหวานพกพาสำหรับคนไข้ไม่ต้องเจาะเลือดท

Post Reply
brid.siriwan
Posts: 3942
Joined: 05 Apr 2013, 08:47

ก.วิทย์ดันเครื่องตรวจเบาหวานพกพาสำหรับคนไข้ไม่ต้องเจาะเลือดท

Post by brid.siriwan »

ก.วิทย์ดันเครื่องตรวจเบาหวานพกพาสำหรับคนไข้ไม่ต้องเจาะเลือดทุกวัน

ต้นแบบเครื่องตรวจวัดระดับน้ำตาลเฉลี่ยสะสมในเลือดฮีโมโกลบินเอวันซีขนาดพกพา
กระทรวงวิทย์จับมือเอกชนเดินหน้าพัฒนาเครื่องตรวจเบาหวานลงลึกระดับเม็ดเลือดแดง วัดค่าน้ำตาลเฉลี่ย 3 เดือน ลดการ "โกงหมอ" จากการอดอาหารก่อนตรวจเลือด และใช้ตรวจได้เองโดยไม่ต้องเจาะเลือดทุกวัน แต่ลดเหลือแค่สัปดาห์ละครั้ง พร้อมออกสู่ตลาดปลายปี ' 58

ดร.พิเชฐ ดุรงคเวโรจน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี แถลงถึงความร่วมมือพัฒนาเทคโนโลยีผลิตภัณฑ์นวัตกรรมเซ็นเซอร์ชีวการแพทย์ (Biomedical Sensors) ร่วมกันระหว่าง สำนักงานคณะกรรมการนโยบายวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีและนวัตกรรมแห่งชาติ (สวทน.), สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.), มูลนิธิสถาบันวิทยาศาสตร์เพื่ออนาคตที่ยั่งยืน, บริษัท แปซิฟิก ไบโอเทค จำกัด และบริษัท โมบิลิส ออโตมาต้า จำกัด เพื่อวิจัยและผลิต เครื่องตรวจวัดระดับน้ำตาลความแม่นยำสูงแบบพกพา" เมื่อวันที่ 15 ต.ค.57 ณ กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี

ดร.พิเชฐ กล่าวหลังการลงนามความร่วมมือดังกล่าวว่า เป็นการร่วมมือกันระหว่างภาครัฐและภาคเอกชนหลายหน่วยงาน เพื่อร่วมกันวิจัยและผลิตเครื่องตรวจเบาหวานความแม่นยำสูงแบบพกพา ให้ผู้ป่วยสามารถตรวจเบาหวานได้ด้วยตนเองที่บ้าน ลดภาระงานทางด้านสาธารณสุข รองรับสถานการณ์ปัจจุบันที่ในประเทศไทยมีผู้ป่วยเป็นโรคเบาหวานมากถึง 7 แสนราย

"การผลิตเครื่องตรวจเบาหวานความแม่นยำสูง จำเป็นต้องอาศัยการทำงานร่วมกันของหลายๆ หน่วยงานในหลายๆศาสตร์ ทั้งทางด้านชีวการแพทย์ ด้านซอฟแวร์ ที่ต้องอาศัยความรู้ความชำนาญของบุคลากรในแต่ละภาคส่วนมาทำงานร่วมกัน เพื่อให้การทำงานเดินหน้าไปได้อย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพ เพื่อให้ประชาชนได้ใช้เครื่องมือทางการแพทย์ที่มีคุณภาพดีและในราคาที่เหมาะสม" รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี กล่าว

ด้าน ศ.ดร.นิลวรรณ เพชระบูรณิน ประธานมูลนิธิสถาบันวิทยาศาสตร์เพื่ออนาคตที่ยั่งยืน กล่าวว่า ค่าระดับน้ำตาลจากการเจาะเลือดในผู้ป่วยเบาหวานแต่ละคนอาจให้ค่าแม่นยำที่ไม่เท่ากัน เนื่องจากพฤติกรรมที่แตกต่างไปในการอดอาหารก่อนเจาะเลือด เพราะมีผู้ป่วยจำนวนมากที่ใช้วิธีลดน้ำตาลก่อนไปพบแพทย์เพียงไม่กี่วัน เพื่อให้ผลน้ำตาลอยู่ในระดับเป็นที่น่าพอใจ ทั้งที่ก่อนนั้นมีการรับประทานน้ำตาลจำนวนมาก และไม่ได้ควบคุมอาหารตามที่แพทย์สั่งไว้ เพราะวิธีการเจาะเลือดที่ใช้กันอยู่ทั่วไปเป็นวิธีการตรวจวัดระดับน้ำตาลที่ละลายอยู่ในน้ำเลือด ทำให้ค่าที่วัดได้เป็นค่าของน้ำตาลจที่เพิ่งทานเข้าไป ทำให้ผู้ป่วยที่ใช้วิธี "โกงหมอ" บางรายมีระดับน้ำตาลในเลือดอยู่ในระดับที่ดี ทั้งที่ความจริงมีความเสี่ยง หรือป่วยเป็นโรคเบาหวานทำให้พลาดโอกาสในการรักษา

ศ.ดร.นิลวรรณ เผยว่า มูลนิธิฯ จึงร่วมมือกับหน่วยงานภาครัฐ และบริษัทเอกชนที่มีความรู้ความเชี่ยวชาญพร้อมต่อยอดผลงานวิจัย และผลิตเครื่องมือตรวจวัดระดับน้ำตาลเฉลี่ยสะสมในเลือดจากฮีโมโกลบินเอวันซี (HbA1C) ที่เป็นค่าเฉลี่ยระดับน้ำตาลตลอดระยะเวลา 3 เดือนตามอายุขัยของเม็ดเลือดแดง ทำให้ค่าเฉลี่ยน้ำตาลสะสมที่วัดได้เป็นค่าที่แม่นยำที่สุด เป็นประโยชน์ต่อการวินิจฉัยรักษาของแพทย์พยาบาล ตลอดจนการควบคุมพฤติกรรมการรับประทานอาหารของผู้ป่วยที่สามารถดูแลตัวเองได้ว่าต้องปฏิบัติตัวเช่นไรจึงจะมีระดับน้ำตาลที่สมดุล

"เครื่องตรวจเบาหวานต้นแบบถูกออกแบบมาให้มีขนาดเล็กเท่าฝ่ามือ สะดวกแก่การพกพา ผู้ป่วยเบาหวานสามารถเจาะเลือดด้วยตัวเองได้ ผ่านเข็มขนาดเล็กคล้ายในเครื่องตรวจเบาหวานชนิดปากกาแบบที่มีอยู่ในท้องตลาด ต่างที่ความถี่ในการเจาะลดเหลือเพียงอาทิตย์ละ 1 ครั้งหรือ 2 อาทิตย์ต่อ 1 ครั้ง ลดลงจากเครื่องตรวจแบบเดิมที่จำเป็นต้องเจาะทุกวัน ลดการเจ็บตัว ลดค่าใช้จ่ายทำให้ผู้ป่วยเบาหวานมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น" ศ.ดร. นิลวรรณ กล่าว

ส่วน ดร.ทวีศักดิ์ กออนันตกูล ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) กล่าวว่า ความร่วมมือระหว่างเครือข่ายเพื่อพัฒนาเทคโนโลยีในการการผลิตเครื่องตรวจเบาหวานความแม่นยำสูงจากฮีโมโกลบินเอวันซี ทำให้การวิจัยและพัฒนาทำได้เร็วขึ้น เพราะมีจุดมุ่งหมาย และผู้รับไม้ต่อที่ชัดเจน คือ ภาคเอกชน

ทั้งนี้ นักวิจัยในศูนย์พันธุวิศวกรรมละเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ (ไบโอเทค) ของ สวทช.จะเป็นผู้รับผิดชอบในส่วนของการวิจัยและพัฒนาเซนเซอร์เคมี กับน้ำยาคงสภาพสาร ซึ่งถือว่าไม่ใช่เรื่องใหม่ เพราะการตรวจระดับน้ำตาลจากฮีโมโกลบินเอวันซี เป็นการตรวจที่มีอยู่แล้วในห้องปฏิบัติการของโรงพยาบาล

"เราจะย่อแล็บตรวจเบาหวานในโรงพยาบาลลง จากเครื่องขนาดใหญ่เท่าห้องให้เหลือขนาดเท่าโทรศัพท์มือถือ จากราคาหลักสิบล้านบาทให้อยู่ในราคาไม่เกิน 3 พันบาท เพื่อให้การตรวจวัดระดับน้ำตาลจากฮีโมโกลบินสามารถทำได้ที่บ้านโดยตัวของผู้ป่วย หรือสถานพยาบาลในพื้นที่ห่างไกล จากการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีที่มีอยู่ ใช้ความรู้จากนักวิจัย พัฒนาต่อยอดจนผลิตออกมาเป็นผลิตภัณฑ์ทางการแพทย์ในระดับอุตสาหกรรมที่เอกชนจะเป็นผู้เข้ามารับไม้ต่อ" ผอ.สวทช.กล่าว

ส่วน ดร.กฤษณ์ จงสฤษดิ์ กรรมการผู้จัดการบริษัท โมบิลิส ออโตมาต้า จำกัด หน่วยงานเอกชนเจ้าของผลงานเซ็นเซอร์มากมาย และก่อนหน้านี้เพิ่งเปิดตัวผลงานเครื่องวัดความอร่อย เผยแก่ทีมข่าววิทยาศาสตร์ ASTV-ผู้จัดการออนไลน์ว่า ขณะนี้ความก้าวหน้าในวงการผู้ผลิตเซนเซอร์ตรวจวัดของไทยก้าวหน้าไปมาก มีห้องปฏิบัติเกี่ยวกับเซนเซอร์จากสถาบันการศึกษา และหน่วยงานรัฐบาลเป็นจำนวนมาก อีกทั้งในขณะนี้เอกชนกำลังเข้ามามีบทบาทมากขึ้น ซึ่งก่อนหน้านี้บริษัทของเขาได้พัฒนาเซนเซอร์ขึ้นมาหลายชนิด ทำให้การพัฒนาเครื่องตรวจเบาหวานจากฮีโมโกลบินเอวันซีทำได้ไม่ยาก แต่ก็ทำไม่ง่ายเพราะเป็นการทำเซนเซอร์เพื่อตรวจวัดสารชีวโมเลกุล และจำเป็นต้องลดขนาดให้เหลือเพียงแค่ฝ่ามือ ซึ่งคาดว่าภายในต้นปีหน้าเครื่องต้นแบบจะสำเร็จ และออกสู่ท้องตลาดได้ในช่วงปลายปี '58

"ในอนาคตนอกจากเครื่องตรวจวัดระดับน้ำตาลจากฮีโมโกลบินที่จะออกมาเป็นนวัตกรรมชิ้นแรกแล้ว ยังจะมีการจะมีการพัฒนาชุดตรวจวัณโรค และเครื่องตรวจวัณโรคตามมาอีกด้วย ขี้นอยู่กับศักยภาพว่าจะพัฒนาเซนเซอร์ไปได้ไกลแค่ไหน แต่ในขณะนี้ยังไม่มีรายงานว่าประเทศไหนผลิตเครื่องมือในลักษณะนี้เพื่อตรวจเบาหวานจากฮีโมโกลบินเอวันซี ถ้าเราทำสำเร็จไทยจะเป็นผู้ผลิตรายแรกของโลก นอกจากเครื่องจะสามารถอ่านและวัดค่าปริมาณน้ำตาลในฮีโมโกลบินได้แล้ว ยังมีการวางแผนเชื่อมต่อเข้ามูลเข้าสู่ระบบปฏิบัติการในสมาร์ทโฟน เพื่อความสะดวกในการนำข้อมูลไปใช้กับแพทย์เจ้าของไข้ต่อไป" กรรมการผู้จัดการบริษัท โมบิลิส ออโตมาต้า จำกัด กล่าว

ก.วิทย์ดันเครื่องตรวจเบาหวานพกพาสำหรับคนไข้ไม่ต้องเจาะเลือดทุกวัน
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ดร. พิเชฐ ดุรงคเวโรงค์ เป็นประธานแถลงข่าวความร่วมมือฯ


ก.วิทย์ดันเครื่องตรวจเบาหวานพกพาสำหรับคนไข้ไม่ต้องเจาะเลือดทุกวัน
การแถลงข่าว ความร่วมมือเครือข่ายพัฒนาเทคโนโลยี ผลิตภัณฑ์นวัตกรรมเซ็นเซอร์ชีวการแพทย์


ที่มา ASTVผู้จัดการออนไลน์
วันที่ 15 ตุลาคม 2557
Post Reply

Return to “แจ้งข่าว ไทย ERP และข่าวอื่นๆที่น่าสนใจ”