Page 1 of 1

“Wearable” ลั่นกลองรบ !!!

Posted: 18 Oct 2014, 10:16
by brid.siriwan
“Wearable” ลั่นกลองรบ !!!
เมื่อเทรนด์ของสุขภาพเริ่มผสานเข้ากับเทคโนโลยีและแฟชัน ทำให้เหล่าผู้ผลิตสินค้าไอทีต่างหันไปจับตลาด Wearable Device ที่กำลังสร้างจุดเปลี่ยนให้แก่อุตสาหกรรม ที่ไม่ใช่เฉพาะในมุมของผู้ผลิตสินค้าไอทีเท่านั้น แต่ยังรวมไปถึงอุตสาหกรรมการผลิตแอปพลิเคชันที่เป็นหนึ่งในส่วนสำคัญที่ทำให้ Wearable ไม่ได้เป็นเพียงแกดเจ็ตไฮโซเท่านั้น

ถ้ามองย้อนกลับไปก่อนหน้านี้ จะเห็นได้ว่าอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์สวมใส่ได้เริ่มเข้ามาแพร่หลายในกลุ่มผู้ที่ชื่นชอบการออกกำลังกายในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา โดยเริ่มจากอุปกรณ์ที่เน้นการเก็บข้อมูลจำนวนก้าวเดินในแต่ละวัน ไปจนถึงการเก็บข้อมูลการนอนหลับ ซึ่งทั้ง 2 ฟังก์ชันนี้ก็ยังได้รับความนิยมมาถึงปัจจุบัน รวมทั้งยังมีการพัฒนาฟังก์ชันอื่นเข้าไปเพื่อให้ตัวอุปกรณ์มีความน่าสนใจมากยิ่งขึ้น

ไล่มาจนถึงในช่วงปีก่อนหน้าหลังจากซัมซุง เริ่มเข้ามาให้ความสนใจในตลาดนี้ ด้วยการออกผลิตภัณฑ์อย่าง Samsung Galaxy Gear ที่เริ่มเปลี่ยนรูปแบบของตลาด Wearable ที่เป็นนาฬิกาให้มีความหลากหลายมากยิ่งขึ้น โดยถือว่าเป็นการสร้างความรับรู้ให้แก่ผู้บริโภคชาวไทยในวงกว้างมากขึ้น

ทำให้ปัจจุบัน ตลาด Wearable สามารถแบ่งออกเป็น 2 ส่วนใหญ่ คือ ตลาดสำหรับผู้ที่ให้ความสำคัญกับสุขภาพ ที่เน้นอุปกรณ์ที่เข้ามาเก็บข้อมูล (ฟิตเนส แทร็กเกอร์ : Fitness Tracker) เพื่อนำไปวิเคราะห์ผ่านตัวแอปพลิเคชัน และสรุปออกมาเป็นข้อมูลที่น่าสนใจ ไม่ว่าจะเป็นในแง่ของปริมาณก้าวเดินในแต่ละวัน เฉลี่ยรายสัปดาห์ รายเดือน ปริมาณแคลลอรี่ที่เผาผลาญไปในแต่ละวัน ไปจนถึงการเก็บข้อมูลกิจกรรมต่างๆ ที่ทำในแต่ละวัน

อีกส่วนหนึ่งคือตลาดที่มองว่า อุปกรณ์พวกนี้เป็นแกดเจ็ตที่เข้ามาช่วยเติมเต็มการใช้งานสินค้าเทคโนโลยีในยุคปัจจุบัน เน้นการใช้งานไปในส่วนของไลฟ์สไตล์เป็นหลัก ซึ่งถือเป็นแนวคิดที่ยังต้องมีการพัฒนาเพื่อให้เข้ามาตอบโจทย์การใช้งานให้มากขึ้นกว่าที่เป็นอยู่ในตลาดปัจจุบัน

โอภาส เฉิดพันธุ์ ประธานกรรมการบริหาร บริษัท เอ็ม วิชั่น จำกัด ให้มุมมองถึงตลาด Wearable ในประเทศไทยว่า ในช่วงนี้จะเป็นการแข่งขันของแบรนด์ที่มีความพร้อมในตลาดสุขภาพมากกว่า เพราะอย่างที่เห็นจะมีหลายๆ แบรนด์เริ่มเข้ามาทำตลาดในประเทศไทยอย่างจริงจัง ไม่ว่าจะเป็นพวก Jawbone Garmin หรือแม้กระทั่ง Runtastic ซึ่งถ้ามองกันไปจะเห็นว่าอุปกรณ์เหล่านี้ถือเป็นตัวช่วยให้เกิดการใช้งานแอปพลิเคชันที่สร้างรายได้มหาศาลให้แก่ผู้พัฒนามากกว่า

“สิ่งที่ขาดไม่ได้สำหรับผู้ที่ใช้งาน Wearable ที่เป็นแทร็กเกอร์คือ จำเป็นต้องใช้งานคู่กับแอปพลิเคชันบนสมาร์ทโฟน ดังนั้น ผู้ผลิตแต่ละรายจะมีโอกาสสร้างรายได้จากตรงนี้ ด้วยการเพิ่มฟังก์ชันพิเศษที่ไม่มีในเวอร์ชันฟรี เมื่อผู้บริโภคใช้งานในช่วงแรกแล้วติดใจก็จะเกิดการอัปเกรดแอปให้ใช้งานได้หลากหลายขึ้น ทำให้อุตสาหกรรมนักพัฒนาแอปพลิเคชันมีการเติบโตด้วยเช่นเดียวกัน”

ขณะที่ในแง่ของตลาดไลฟ์สไตล์และแฟชันก็มองว่า ตอนนี้เหล่าผู้ผลิตสินค้าไอทีหลายๆ รายเริ่มหันมาจับตลาดตรงนี้มากขึ้น จะเห็นได้จากการที่ซัมซุงพยายามสร้างความเข้าใจให้แก่ผู้บริโภคถึงความสามารถของ Samsung Gear 2 Gear Fit และล่าสุด Gear S ที่ถือว่ามีการนำนวัตกรรมใหม่อย่างจอโค้งเข้ามาประกอบกับประสบการณ์ในการใช้ งานที่ไม่เหมือนใคร

“สิ่งที่ซัมซุงทำให้ Gear S น่าสนใจคือ ผู้ใช้ไม่จำเป็นต้องถือเพื่อใช้งานสมาร์ทโฟนติดตัวอีกต่อไป เพราะ Gear S สามารถมาแทนที่การใช้งานเบื้องต้นอย่างโทรศัพท์ อ่านอีเมล ส่งข้อความ ได้ทันที หรือจะนำมาใช้ร่วมกับแอปพลิเคชันในการออกกำลังกายตัว Gear S ก็จะมีจุดเด่นที่มี GPS ภายในตัวทำให้เพิ่มศักยภาพของอุปกรณ์ประเภทนี้ได้สูงขึ้น”

โอภาส กล่าวเพิ่มว่า แต่ก็ไม่ใช่ว่ามีเพียงซัมซุงเจ้าเดียวเท่านั้นที่พัฒนา Wearable มาแข่งขันในตลาด เพราะยังมีผู้ผลิตอย่าง LG Motorola หรือแม้แต่ผู้ผลิตคนไทยอย่าง Wellograph ก็มีการพัฒนาสินค้าในประเภทนี้เพิ่มขึ้นมาอย่างต่อเนื่อง ทำให้ทางแอปเปิลก็ไม่สามารถอยู่เฉยได้จนต้องเข็น Apple Watch ออกมาให้ตลาดรับรู้ แม้ว่าจะยังไม่พร้อมวางขายก็ตาม

“เมื่อเจ้าตลาดในสินค้าไลฟ์สไตล์อย่างแอปเปิลก้าวเข้ามาในตลาดนี้ ก็หมายความว่าตลาด Wearable มีความน่าสนใจเป็นอย่างมาก เรียกได้ว่ายังเป็นบลูโอเชียนของตลาดไอทีก็ว่าได้ ทำให้ผู้ผลิตทุกรายต่างต้องการกระโจนเข้ามาในตลาดนี้ให้ได้ หรืออย่างน้อยก็ไม่ยอมตกขบวน”

เช่นเดียวกับทางคอมเซเว่นฯ ซึ่งเป็นผู้นำเข้าและจัดจำหน่ายสินค้าไอทีภายใต้แบรนด์อย่างบานาน่า ไอที บานาน่า โมบาย ไอสตูดิโอ และไอบีท บาย คอมเซเว่นฯ ซึ่งมีหน้าร้านไอทีครอบคลุมกว่า 57 จังหวัด จากกว่า 301 สาขา ก็มองถึงการเติบโตในตลาด Wearable ว่ามีแนวโน้มไปในทิศทางที่ดี

สุระ คณิตทวีกุล ประธานกรรมการบริหาร บริษัท คอมเซเว่น อินเตอร์ เนชั่นแนล จำกัด ให้ข้อมูลว่า ในคอมเซเว่น เริ่มมีการวางจำหน่ายอุปกรณ์ Wearable ตั้งแต่ช่วงปลายไตรมาส 2 และถือว่าเป็นสินค้าที่มีอัตราการเติบโตสูงที่สุดกว่า 400% ในช่วงที่ผ่านมา และคาดว่าในปีหน้าตลาดจะคึกคักมากกว่านี้ จากการมาของ Apple Watch ซึ่งทางคอมเซเว่นก็พร้อมที่จะนำมาจำหน่าย

“จากประสบการณ์ในการทำตลาด Wearable ที่มี กับการที่เป็นบริษัทที่มียอดจำหน่ายสินค้าของแอปเปิลสูงที่สุดในประเทศไทย และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ทำให้คอมเซเว่นมั่นใจว่ามีความพร้อมในการวางจำหน่ายสินค้าชนิดใหม่ของแอปเปิลอย่างแน่นอน”

โดยปัจจุบันในร้านคอมเซเว่น จะมีส่วนที่จัดแสดงอุปกรณ์ Wearable ที่นำเข้ามาวางจำหน่ายทั้งที่มีตัวแทนในประเทศไทย และไม่มี ประกอบไปด้วย Jawbone Fitbit Misfit Pebble และก็พร้อมที่จะเพิ่มไลน์สินค้าในกลุ่มดังกล่าวให้มากขึ้นตามความต้องการของผู้บริโภค

ประกอบกับผลการสำรวจตลาดระดับโลกก็มีแนวโน้มว่า ตลาด Wearable จะมีความนิยม โดยเฉพาะในกลุ่มวัยรุ่นระหว่าง 16-24 ปี จากผลการสำรวจของ GlobalWebIndex พบว่าในกลุ่มช่วงอายุดังกล่าวกว่า 71 % ต้องการเป็นเจ้าของอุปกรณ์เหล่านั้น โดยชื่อของสมาร์ทวอท์ช (Smartwatch) สมาร์ทริสท์แบนด์ (Smartwristband) หรือกูเกิลกลาส (Google Glass) ล้วนเป็นแกดเจ็ตที่บรรดาคนรุ่นใหม่ตกหลุมรักทั้งสิ้น

“Wearable” ลั่นกลองรบ !!!
***Wearable อุปกรณ์อันตรายขณะขับรถ***

การถูกอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์รบกวน หรือดึงให้ไขว้เขวระหว่างขับรถ กำลังกลายเป็นปัญหาใหญ่ในหลายๆ ประเทศ ซึ่งก่อนหน้านี้ ปัญหาอาจจำกัดวงอยู่แค่การใช้สมาร์ทโฟน หรือการส่งข้อความด้วยโทรศัพท์มือถือ แต่ปัจจุบัน การมาถึงของยุค Wearable Tech ซึ่งเป็นแฟชันมาแรงของกลุ่มคนรุ่นใหม่ กำลังเป็นสิ่งที่นักกฎหมาย และองค์กรต่างๆ ออกมาให้ความเห็นว่า อาจก่อให้เกิดอันตรายได้มากกว่าเสียแล้ว

ล่าสุด อุปกรณ์ในกลุ่ม Wearable Tech ไม่ว่าจะเป็นแว่นหรือนาฬิกาอาจติดโผเป็นอุปกรณ์ที่ห้ามใช้งานขณะขับรถเพื่อความปลอดภัยของส่วนรวมแล้ว โดยประเทศที่กำลังดำเนินการในเรื่องดังกล่าวอย่างเข้มข้นหนีไม่พ้นสหรัฐอเมริกาและอังกฤษ

โดยผู้ที่ออกมายืนยันถึงการใช้งานที่ผิดข้อกฎหมาย จากฝั่งอังกฤษก็คือ The Department for Transport หรือ DfT ที่ยืนยันว่า หากผู้ขับขี่มีการใช้งานอุปกรณ์ประเภท Wearable Tech จะได้รับโทษสถานเดียวกับการใช้งานโทรศัพท์มือถือขณะขับรถเลยทีเดียว ซึ่งนั่นหมายถึงเงินค่าปรับมูลค่า 100 ปอนด์ แม้ว่าผู้ขับขี่รถยนต์จะไม่ได้ยกข้อมือขึ้นมาอย่างเด่นชัดก็ตาม

สาเหตุหนึ่งที่ทำให้ต้องคิดค่าปรับในเกณฑ์เดียวกันคงมาจากความสามารถของอุปกรณ์ประเภท Wearable Tech ที่สามารถรับส่งข้อความ รับโทรศัพท์ และใช้งานอินเทอร์เน็ตได้นั่นเอง

โฆษกของ DfT กล่าวว่า “การใช้งานอุปกรณ์ที่อาจรบกวนสมาธิระหว่างขับรถยนต์เป็นสิ่งที่อันตรายมาก และผิดกฎหมายของประเทศ” โดยทาง DfT ได้เพิ่มค่าปรับจาก 60 ปอนด์ เป็น 100 ปอนด์ เมื่อปีที่ผ่านมา และตอนนี้ ทาง DfT กำลังมองหามาตรการใหม่ๆ ในการป้องกันการเกิดอุบัติเหตุจากประเด็นดังกล่าวเพิ่มเติม เช่น การให้เจ้าหน้าที่ตำรวจมีอำนาจหยุดรถคันใดก็ตามที่ต้องสงสัยว่าไม่มีสมาธิใน การขับขี่รถยนต์ เป็นต้น

หันมาทางด้านสหรัฐอเมริกา แม้ว่าใน 44 รัฐจะมีกฎหมายห้ามไม่ให้ผู้ขับขี่ส่งข้อความขณะขับรถ แต่อุบัติเหตุก็ยังคงเกิดอย่างต่อเนื่อง โดยความเสียหายอันเป็นผลมาจากการถูกรบกวนสมาธิขณะขับรถโดยอุปกรณ์อัจฉริยะ เหล่านี้คิดเป็น 6 % ของปัญหาอุบัติเหตุทั้งหมด แต่หากพิจารณาให้ลึกลงไป จะพบว่ามีคนมากถึง 2,600 รายที่เสียชีวิตบนท้องถนน และมีอีก 12,000 รายที่บาดเจ็บสาหัสเลยทีเดียว

นอกจากนั้น ได้มีการศึกษาถึงการทำงานของสมองขณะใช้งานโทรศัพท์มือถือไปพร้อมๆ กับการขับขี่รถยนต์ (ไม่ว่าจะมีแฮนด์ฟรีหรือไม่) พบว่า ประสิทธิภาพการทำงานของสมองลดลง 37 % เมื่อเทียบกับผู้ที่ขับรถยนต์อย่างเดียว และการส่งข้อความขณะขับรถนั้น ทำให้รถคันดังกล่าวเสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุสูงถึง 8 เท่า เมื่อเทียบกับรถคันที่คนขับไม่ได้ส่งข้อความ (อ้างอิงจาก AAA Foundation.org)


ที่มา ASTVผู้จัดการออนไลน์
วันที่ 17 ตุลาคม 2557