อุตฯ เกมไทยพร้อมผงาดอาเซียน !?!

Post Reply
brid.kavee
Posts: 256
Joined: 05 Apr 2013, 08:51

อุตฯ เกมไทยพร้อมผงาดอาเซียน !?!

Post by brid.kavee »

ladawan
Hero Member
*****
Posts: 824


View Profile Email


อุตฯ เกมไทยพร้อมผงาดอาเซียน !?!
« on: January 25, 2013, 09:47:25 am »

อุตฯ เกมไทยพร้อมผงาดอาเซียน !?!
โดย : วริยา คำชนะ

ทว่าเมื่อต้องบุกไปยังเพื่อนบ้าน หรือตั้งรับคลื่นลูกใหม่ๆ ยังน่าสนใจและต้องคอยติดตาม...

เกมออนไลน์เนเวอร์ดาย

นายกิตติพงศ์ พฤกษอรุณ รองกรรมการผู้จัดการ บมจ.เอเชียซอฟท์ คอร์ปอเรชั่น เปิดมุมมองต่อความพร้อมอุตสาหกรรมเกมประเทศไทยว่า มูลค่าตลาดอยู่อันดับที่ 2 รองจากเวียดนาม หากเสน่ห์ไทยคือมีผู้เล่นจำนวนมาก มีจำนวนผู้ใช้เฟซบุ๊คติดอันดับท็อปของโลก ทำให้ได้รับความสนใจจากนักพัฒนาโดยเฉพาะตลาดโมบาย และเฟซบุ๊คเกม ซึ่งที่ผ่านมาคนไทยเองติดระดับต้นๆ การดาวน์โหลดแอพพลิเคชั่นในแอพสโตร์

“เมื่อเปิดเออีซีตลาดจะใหญ่ขึ้นแต่การเติบโตจะไม่สูงเท่าอดีต ที่โตมากที่สุดคือกลุ่มโมบาย ผลสำรวจชี้ว่าเมื่อถึงเวลานั้นมูลค่าที่มาจากโมบายจะมีสัดส่วนถึง 50% แต่ไม่ได้หมายความว่าแบบออนไลน์จะลดลง”

เขากล่าวว่า ข้อเสียเปรียบของไทยคือผู้พัฒนาเกมมีน้อย ปีหนึ่งๆ โปรแกรมเมอร์ที่เรียนจบออกมามีแค่ราว 2,000 คน ซ้ำบางส่วนยังไปศึกษาต่อปริญญาโท บางส่วนไปทำอย่างอื่น อีกประเด็นหนึ่งแม้เขียนโปรแกรมเก่งแต่มีจุดอ่อนด้านการออกแบบเกมซึ่งเป็นหัวใจที่ทำให้เกมประสบความสำเร็จ

ขณะเดียวกัน ขาดเงินลงทุนเมื่อเทียบกับต่างประเทศนับว่าความพร้อมมีน้อยกว่ามาก แม้ทุกปีหน่วยงานภาครัฐพยายามสนับสนุนการจับคู่ธุรกิจ หรือบิสิเนสแมชชิ่งกับบริษัทต่างชาติ แต่ผลที่ได้มีแต่ตัวเลขประมาณการว่าจะมีซื้อขายในอนาคตเท่านั้นเท่านี้ การซื้อขายจริงยังมาไม่ถึง

“ต่างประเทศมีเงินลงทุนต่อเกมหลายร้อยล้านบาท แต่ไทยแค่เงินซื้อตัวเอ็นจิ้นมาพัฒนาก็ไม่มีแล้ว ทางออกที่เห็นคือใช้โอเพ่นซอร์ส ซึ่งเหมาะสำหรับทำเป็นโปรเจค แต่มีข้อจำกัดไม่เหมาะนำมาทำเชิงธุรกิจ ซึ่งผลเสียกระทบทั้งต่อระยะเวลาการเปิดตัวสินค้าและไม่ทันต่อกระแสความเปลี่ยนแปลงที่เกมออนไลน์ปัจจุบันไลฟ์ไซเคิลไม่เกิน 2 ปี ฉะนั้นโอกาสของไทยคือโมบายเกมและเว็บเกม เท่าที่ทราบทุกวันนี้บริษัทที่พัฒนาเกมแบบไคลเอนต์ในไทยเหลือแค่บริษัทเดียว ที่เหลือผันตัวเองไปพัฒนาเว็บและโมบายแล้ว”

เขายกตัวอย่างว่า ประเทศที่มาแรงเช่นจีน มีเงินทุนพัฒนา มีกำลังคนพร้อมเท่าที่ทราบแค่บริษัทเล็กๆ 1 บริษัทมีนักพัฒนา 200-300 คน บริษัทใหญ่ๆ หลักพันคน แม้เข้ามาในตลาดทีหลังแต่เก่งเรื่องนำจุดเด่นของคนอื่นมาพัฒนาเป็นของตัวเอง และพร้อมปรับปรุงตัวเกมให้เป็นไปตามตามคำสั่งผู้บริการ ขณะที่เกาหลีความยืดหยุ่นมีไม่มากเท่า

อย่างไรก็ตาม เกมออนไลน์จะยังคงอยู่ ไม่ล้มหายตายจากเพราะเนื้อเรื่องมีความลึกมากกว่า กราฟฟิกสวยกว่า เอเชียซอฟท์เชื่อว่าแต่ละประเภทย่อมมีหนทางความอยู่รอดเป็นของตัวเอง

แนะมองไกลระดับอินเตอร์

นายปรีชา ไพรภัทรกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท มอล แอ็คเซลพอร์ทัล จำกัด มีแนวคิดว่า ตลาดเกมไม่มีพรมแดน การตั้งโจทย์ควรมองไประดับอินเตอร์ ไม่ใช่แค่อาเซียน สำหรับการแข่งขันก่อนมองข้างนอกต้องมองตัวเองก่อนว่ายืนอยู่ตรงจุดไหน แม้ทรัพยากรน้อยกว่าแต่ไม่ได้หมายความว่าไม่มีคุณภาพ

“การทำให้เป็นที่รู้จักอาจต้องอาศัยบริษัทคู่ค้าที่ทำธุรกิจร่วมกันเพื่อช่วยกันสร้างโอกาสทำให้งานเอาท์ซอร์สเทมาที่ไทย ขณะเดียวกันหากผู้ให้บริการร่วมส่งเสริมผู้พัฒนาจะมีหนทางทำให้ตัวเองโดดเด่นและแข็งแกร่งขึ้นมาได้อีกทางหนึ่ง”

แต่เมื่อเปิดเออีซีผลกระทบที่จะมีคงเป็นส่วนของผู้ให้บริการที่จะมีคนเข้ามาแข่งมากขึ้น ขณะนี้ภาครัฐยังไม่มีมาตราการภาษีที่เอื้อต่อผู้ประกอบการภายใน และมีอีกข้อคือปัญหาการเข้าถึงแหล่งเงินทุน ควรทำให้คนธรรมดาทั่วไปลงทุนในธุรกิจดิจิทัลคอนเทนท์ได้ ปัญหาเหล่านี้จะมีต่อไปหากไม่แก้ไข

เขากล่าวว่า ตลาดเกมอาเซียน ประเทศไทยมีมูลค่ามากกว่าเวียดนาม เมื่อนับรายได้ที่มาจากเกมบนเฟซบุ๊คเข้าไปด้วย แต่คาดว่าไม่นานเวียดนามจะแซงได้แน่ เพราะมีแต้มต่อที่มีประชากรในประเทศและประชากรผู้ใช้อินเทอร์เน็ตมากกว่า

นายปรีชาแนะว่า ทางออกของผู้พัฒนาเกมไทยหากเป็นเกมไคลเอนต์คงยากมาก ฉะนั้นไม่ต้องมองเฉพาะเกมขนาดใหญ่ แค่เกมบนโมบายซึ่งถ้าประสบความสำเร็จสามารถสร้างรายได้ได้ 30 ล้านดอลลาร์ต่อเดือนก็มี

นอกจากนี้ โซเชียลแพลตฟอร์มเช่นเฟซบุ๊คเข้ามามีบทบาทมากขึ้นตามลำดับต่อบริการตั้งแต่ปี 2554 ต่อเนื่องมาจนถึง 2555 ทั้งมีแนวโน้มด้วยว่าคนไทยที่นิยมจ่ายเงินซื้อไอเท็มรูปแบบอินแอพเพอร์เชสมากขึ้น โดยเกมที่ติดอันดับมีทั้งคอนเทนต์ที่เป็นภาษาไทยและภาษาอังกฤษ

เห็นโอกาสแต่ขาดเงินทุน

นายอิศร์ เตาลานนท์ ผู้อำนวยการฝ่ายพัฒนาธุรกิจ บริษัท ไอ ดิจิตอล คอนเนคท์ จำกัด (ไอดีซีซี) มองว่า เออีซีเป็นโอกาสที่ดีสำหรับทั้งผู้ให้บริการและผู้ผลิต ดูผิวเผินอาจไกลตัวไม่เหมือนบางอุตสาหกรรมที่มีเรื่องการผลิตหรือต้นทุนให้เห็นชัดเจน ทว่าอีกมุมหนึ่งเห็นโอกาสการลงทุน และแหล่งเงินทุนที่จะเข้ามาไหลช่วยเสริมให้บริษัทภายในประเทศเติบโต

“มีโอกาสที่บริษัทในอาเซียนจะเข้ามาเปิดบริการในไทยมากขึ้น จากที่ผ่านมายังไม่ค่อยสนใจมากนัก แง่ความพร้อมเพื่อแข่งขันปัญหาที่พบคือการร่วมทุนระหว่างบริษัทไม่ค่อยแข่งแรง ธนาคารไม่ค่อยให้กู้ยืม กลายเป็นปัญหาของนักพัฒนา ส่งผลให้ระยะเวลาการเปิดตัวเกมเปิดสู่ตลาดไม่ทันกับเทรนด์ที่เปลี่ยนแปลง ต่างกับในต่างประเทศเช่นจีนที่ระยะแรกรัฐบาลของเขาช่วยลงทุนให้”

อย่างไรก็ดี ตลาดเกมน่าสนใจ ทุก 2-3 ปีจะมีเปลี่ยนแปลงที่น่าตื่นเต้นมาให้เห็น แม้มีเฟซบุ๊คตลาดเกมออนไลน์ไม่ได้หดตัวลง พัฒนาการขึ้นอยู่กับไลฟ์สไตล์ของผู้เล่นในช่วงเวลานั้นๆ ฝั่งผู้ให้บริการยังมีโอกาสอยู่รอดไปได้ โดยโมเดลการหารายได้อาจเปลี่ยนแปลงไป ฝ่ายนักพัฒนาก็เช่นกันอาจต้องผันตัวไปทำเกมบนเว็บไซต์ หรือโมบายแทนตามความต้องการของตลาด

พร้อมระบุว่า ความสามารถของนักพัฒนาเกมไทยมีไม่น้อยกว่าผู้เล่นชั้นนำ เช่นเกม 12 หางออนไลน์ซึ่งใช้นักพัฒนาเพียง 4 คน ขณะนี้มีนักลงทุนต่างชาติสนใจนำเกมไปเปิดบริการในยุโรป และอีกหลายๆ ประเทศ แต่ต้องยอมรับว่าที่จะประสบความสำเร็จแบบนี้ได้มีอยู่น้อยมาก

ที่มา : กรุงเทพธุรกิจ
วันที่ 14 มกราคม พ.ศ.2556
Tags : เกม
Post Reply

Return to “แจ้งข่าว ไทย ERP และข่าวอื่นๆที่น่าสนใจ”