ภาษีบรรจุภัณฑ์คลอดยาก ยักษ์ใหญ่ภาคเอกชน 'ขวาง' สุดตัว

Post Reply
brid.siriwan
Posts: 3942
Joined: 05 Apr 2013, 08:47

ภาษีบรรจุภัณฑ์คลอดยาก ยักษ์ใหญ่ภาคเอกชน 'ขวาง' สุดตัว

Post by brid.siriwan »

ภาษีบรรจุภัณฑ์คลอดยาก ยักษ์ใหญ่ภาคเอกชน 'ขวาง' สุดตัว
-สถาบันสิ่งแวดล้อมไทย ฟันธงเก็บภาษีบรรจุภัณฑ์คลอดยาก
-เผยผู้ประกอบการยักษ์ใหญ่ต่อต้านหนัก เหตุไม่ตอบโจทย์จัดการขยะ
-แนะเร่งรีดภาษี บีบใช้บรรจุภัณฑ์ 'รักษ์โลก'

ภาษีบรรจุภัณฑ์คลอดยาก ยักษ์ใหญ่ภาคเอกชน 'ขวาง' สุดตัว
เป็นประเด็นถกเถียงกันมานานสำหรับการจัดเก็บภาษีบรรจุภัณฑ์ เพื่อนำเงินไปบริหารจัดการขยะที่นับวันจะเพิ่มมากขึ้นเป็นทวีคูณ และสร้างปัญหาให้กับโลก แต่ทุกวันนี้ดูเหมือนการจัดเก็บภาษีดังกล่าว ไม่สามารถเกิดขึ้นง่ายๆ เพราะผู้ประกอบการภาคเอกชน โดยเฉพาะรายใหญ่ไม่เห็นด้วยอย่างยิ่ง ขณะที่ภาครัฐก็ไม่เข้มแข็ง ทำให้การเก็บภาษีบรรจุภัณฑ์เกิดขึ้นค่อนข้างยาก ทั้งที่มีการศึกษาแนวทาง เพื่อเรียกเก็บภาษีมานานหลายปี

อย่างไรก็ตาม หากภาครัฐมีความจริงใจในการแก้ปัญหาปริมาณขยะ ควรจะเร่งหาแนวทาง เพื่อจัดเก็บภาษีดังกล่าว เพราะภาครัฐเป็นกลไกสำคัญที่สามารถจัดเก็บภาษีบรรจุภัณฑ์ได้เหมือนในต่างประเทศ ส่วนผู้ประกอบการก็ไม่ต้องการเสียภาษีจำนวนมากๆ ก็จะใช้วิธีการปรับตัวไปใช้บรรจุภัณฑ์ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมแทนการใช้บรรจุภัณฑ์ที่ทำจากพลาสติก ซึ่งจะต้องเสียภาษีมาก


ภาษีบรรจุภัณฑ์คลอดยาก ยักษ์ใหญ่ภาคเอกชน 'ขวาง' สุดตัว
ดร.ขวัญฤดี โชติชนาทวีวงศ์
ดร.ขวัญฤดี โชติชนาทวีวงศ์ ผู้อำนวยการสถาบันสิ่งแวดล้อมไทย เปิดเผยว่า แม้ว่าภาครัฐจะมีความพยายามจะจัดเก็บภาษีบรรจุภัณฑ์มานาน แต่ไม่สามารถทำได้ เนื่องจากภาคธุรกิจรายใหญ่ต่อต้านไม่อยากให้เกิดการจัดเก็บภาษีบรรจุภัณฑ์ ซึ่งการจัดเก็บภาษีดังกล่าว เป็นเรื่องที่ควรทำ (เพราะที่ผ่านมาไม่มีอยู่ในระบบ) เพื่อนำเงินที่เก็บได้ไปเป็นงบประมาณจัดการขยะ เนื่องจากวัสดุใช้แล้วทิ้งประเภทบรรจุภัณฑ์มีปริมาณเพิ่มสูงขึ้นทุกวัน ทั้งแก้ว กระดาษ และบรรจุภัณฑ์ผสมผสาน ซึ่งปัญหาการจัดการขยะ เกิดจากค่าใช้จ่ายในการขนส่งขยะเพื่อนำไปกำจัดขยะ-รีไซเคิล

ถ้ามีภาษีบรรจุภัณฑ์บังคับใช้ จะทำให้ผู้ประกอบการต้องไปพัฒนาบรรจุภัณฑ์ของตนเองให้รักสิ่งแวดล้อมมากขึ้น ทำให้รีไซเคิลได้ หรือขวดแก้วควรขาย เสร็จแล้วก็มารับขวดของตนเองกลับไปด้วยไม่ใช่ขายขาด เช่น ใช้ขวดแก้วที่นำมารีไซเคิลได้ 40 ครั้ง แทนขวดพลาสติก ส่วนหลอดไฟใช้แล้วไม่มีการนำกลับไป มีบางที่ที่มีกฏหมายบังคับให้นำไปเก็บไว้ในโกดัง เพราะเป็นวัตถุอันตราย โดยบรรจุภัณฑ์ หลักๆ ที่สร้างปัญหาคือ ถุงพลาสติก ถุงใสใส่อาหาร

ภาษีบรรจุภัณฑ์คลอดยาก ยักษ์ใหญ่ภาคเอกชน 'ขวาง' สุดตัว
ภาครัฐแกนนำขับเคลื่อน

การจัดเก็บภาษีบรรจุภัณฑ์ หากจะทำให้สำเร็จได้จะต้องเริ่มจากภาครัฐ ซึ่งภาครัฐต้องเข้มงวดกับการจัดการขยะ โดยเฉพาะจากขยะอุตสาหกรรม ทั้งนี้ เชื่อว่ามาตรการที่จะได้ผลและจะเร่งผลักดัน คือ ภาษีบรรจุภัณฑ์ ขณะที่ผู้ประกอบการต้องร่วมใจกัน เน้นให้บรรจุภัณฑ์เข้าสู่กระบวนการ รีไซเคิลกับreuse ก่อน ซึ่งปริมาณการรีไซเคิลในประเทศที่พัฒนาแล้วสูงถึง 30-40% แต่ในขณะที่ประเทศไทย มีเพียง 20-22% เท่านั้น ซึ่งปัญหาในประเทศไทยคือ มักจะเป็นบรรจุภัณฑ์ที่มีสารปนเปื้อน

โดยการจัดการขยะของไทยต้องเป็น Co-benefit มองปัญหาอย่างรอบด้านทั้งมุมสิ่งแวดล้อม การดูแลสุขภาพและป้องกันโรคของประชาชนด้วย โดยรัฐต้องทำหน้าที่ส่งเสริม สนับสนุนเอกชนทำโครงการ และรัฐลงทุนสาธารณูปโภคและสาธารณูปการรองรับ

ทั้งนี้ ประเทศพัฒนาแล้ว จะกำจัดขยะด้วยการเผาในโรงงาน และจะไม่เน้นการขุดหลุมฝังกลบ ซึ่งวิธีการกำจัดขยะที่ดีที่สุด คือต้องแยกประเภทขยะตั้งแต่เริ่มต้น แยกตั้งแต่ต้นทาง เพราะขยะประเทศไทยมีปัญหาทางด้านความชื้นจากการรวมขยะ

อย่างไรก็ตาม การสร้างเตาเผาขยะในประเทศไทยมักจะถูกคัดค้าน เพราะภาครัฐไม่แข็งแรง ทั้งที่ภาครัฐเป็นจุดสำคัญในการดำเนินการจัดการ ขณะที่ในต่างประเทศทำสำเร็จ เพราะรัฐบาลดำเนินการอย่างจริงจัง ภาครัฐมีส่วนเกี่ยวข้องอย่างมาก โดยกลุ่มประเทศในอาเซียน ยังไม่มีประเทศใดจัดการกับเรื่องนี้อย่างจริงจัง

ดร.ขวัญฤดี กล่าวว่า ถึงแม้จะมีการประกาศให้ท้องถิ่นร่วมมือกัน แต่ในความเป็นจริงท้องถิ่นไม่มีศักยภาพพอที่จะทำได้ ไม่ว่าจะเป็นการกระจายพื้นที่ หลุมฝังกลบ ปัจจุบันรัฐบาลนำแผนขยะเก่ามาปรับปรุงใหม่เพื่อดำเนินการ แต่ยังไม่มีความชัดเจนในการดำเนินการ นโยบายยังไม่ชัดเจน การปฏิบัติจึงไม่ขับเคลื่อน

"ทุกวันนี้ไม่มีการจัดการปัญหาที่ชัดเจน ว่าควรจัดการอย่างไร เช่น แก้ว พลาสติก บริษัทแต่ละบริษัทต้องจัดการกันเอง ทำให้มีค่าใช้จ่ายสิ้นเปลืองจนต้องนำไปแอบทิ้ง หรืออื่นๆ ดังนั้น ทางออกคือ แนะนำให้มีการรณรงค์ ห้ามใช้แก้วพลาสติก เพื่อลดการใช้พลาสติก เพราะปัจจุบันการใช้แก้วพลาสติกเฉลี่ย วันละ 2 แก้วต่อคนต่อวัน เพราะการเติบโตของธุรกิจร้านน้ำดื่ม และกาแฟ


ภาษีบรรจุภัณฑ์คลอดยาก ยักษ์ใหญ่ภาคเอกชน 'ขวาง' สุดตัว
วีระ อัครพุทธิพร
ชี้รีดภาษียาก เหตุไม่ตอบโจทย์

ด้าน วีระ อัครพุทธิพร รองประธานกรรมการบริหาร สถาบันการจัดการบรรจุภัณฑ์และรีไซเคิลเพื่อสิ่งแวดล้อม (Tipmse) สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย กล่าวว่า การจัดเก็บภาษีบรรจุภัณฑ์นั้น มีแนวคิดที่จะจัดเก็บมานานหลายปี หากย้อนไปเมื่อ 8 ปีที่ผ่านมา ขณะนั้นรัฐบาลโดยกรมควบคุมมลพิษร่วมกับสำนักงานเศรษฐกิจการคลังมีแผนที่จะจัดเก็บจะจัดเก็บภาษีบรรจุภัณฑ์อยู่แล้ว โดยแบ่งแยกออกเป็นกลุ่ม แก้ว กระดาษ พลาสติก อะลูมิเนียม เหล็ก อัตราการเก็บก็มีเซ็ตอัปไว้เรียบร้อยว่าจะเก็บต่อตันเท่าไร ชนิดละเท่าไร แต่ยังไม่สามารถจัดเก็บได้

ทั้งนี้ สถาบันจัดการบรรจุภัณฑ์และรีไซเคิลเพื่อสิ่งแวดล้อม ซึ่งเป็นการรวมตัวกันของผู้ประกอบการรายใหญ่ประมาณ 20บริษัท เช่น ไทยน้ำทิพย์ โคลาโคล่า เสริมสุข กรีนสปอต ยูนิลีเวอร์ เนสท์เล่ พี แอนด์ จี ไม่เห็นด้วยที่จะให้มีการจัดเก็บภาษีบรรจุภัณฑ์ เนื่องจากคิดว่าเมื่อเก็บแล้วไม่สามารถตอบโจทย์การบริหารจัดการขยะของชาติได้ ก็เลยเป็นที่มาของการสร้างโมเดล สร้างมูลค่าเพิ่มให้กับประชาชน เก็บคัดแยกขยะที่ต้นทาง

วีระ เสนอให้นนทบุรี เป็นโครงการนำร่อง เพราะนนทบุรีเป็นจังหวัดที่ทุกเทศบาลนำขยะไปทิ้งรวมกันในที่เดียว เพื่อให้ง่ายต่อการบริหารจัดการขยะ ต้องมีคนเริ่มโครงการให้รัฐบาลเป็นแกนนำ ทำให้เห็นว่าทำได้ จากนั้น ประเทศไทยจะได้ไม่มีหลุมฝังกลบขยะ ซึ่งมีบริษัทเกาหลีใต้พร้อมเข้ามาลงทุนจัดการขยะ หากรัฐบาลไทยไฟเขียวให้สัมปทานในการบริหารจัดการ

"ในยุโรปอาจจะมีการเก็บภาษี เพราะพฤติกรรมของคนในประเทศของเขาไม่เหมือนเรา เขามีระเบียบวินัย มีการแยกขยะ ขณะที่ประเทศญี่ปุ่นก็แยกแบบละเอียด ส่วนบราซิลแยกเปียกแยกแห้งเฉยๆ "


ที่มา ASTVผู้จัดการออนไลน์
วันที่ 27 ตุลาคม 2557
Post Reply

Return to “แจ้งข่าว ไทย ERP และข่าวอื่นๆที่น่าสนใจ”