Page 1 of 1

ยาคุมส่งผลเส้นเลือดสมองอุดตัน ศิริราชเล็งตั้งศูนย์ดูแลป่วยหล

Posted: 29 Oct 2014, 13:35
by brid.siriwan
ยาคุมส่งผลเส้นเลือดสมองอุดตัน ศิริราชเล็งตั้งศูนย์ดูแลป่วยหลอดเลือดสมอง

ศิริราชเตรียมตั้งศูนย์หลอดเลือดสมองฯ ดึงสหสาขาวิชาชีพร่วมดูแลผู้ป่วยโดยเฉพาะ เพิ่มประสิทธิภาพการรักษา ระบุลดปัจจัยเสี่ยงการเกิดหลอดเลือดสมองตีบ อุดตัน ทั้งเบาหวาน ความดัน สูบบุหรี่ ไม่ออกกำลังกาย ไขมันสูง น้ำหนักเกิน ช่วยป้องกันได้ถึง 80 - 90% เผยยาคุมส่งผลเลือดข้น เพิ่มโอกาสอุดตันในกลุ่มเสี่ยง - ไมเกรน

ยาคุมส่งผลเส้นเลือดสมองอุดตัน ศิริราชเล็งตั้งศูนย์ดูแลป่วยหลอดเลือดสมอง

วันนี้ (29 ต.ค.) ที่โถงอาคาร 100 ปี สมเด็จพระศรีนครินทร์ รพ.ศิริราช ศ.คลินิก นพ.อุดม คชินทร คณบดีคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวระหว่างเป็นประธานเปิดงาน “โรคหลอดเลือดสมอง ตระหนัก ลดเสี่ยง เลี่ยงอัมพาต” เนื่องในวันโรคหลอดเลือดสมองโลก ว่า องค์การอนามัยโลก (WHO) ประมาณว่าทุกปีทั่วโลกมีผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมองมากกว่า 15 ล้านคน พิการถาวร 5 ล้านคน เสียชีวิตอีก 5 ล้านคน โดย 2 ใน 3 อยู่ในประเทศที่กำลังพัฒนา สำหรับประเทศไทยพบว่าโรคหลอดเลือดสมองมีอัตราการเสียชีวิตเป็นอันดับที่ 3 รองจากโรคมะเร็งและโรคหัวใจ คาดว่า ในปี 2559 จะมีผู้สูงอายุที่ป่วยจากโรคหลอดเลือดสมอง หรืออัมพฤกษ์ อัมพาต ประมาณ 995 คนต่อประชากร 100,000 คน หากประมาณการผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมอง 0.5 ล้านคนจะต้องเสียค่ารักษาประมาณ 20,632 ล้านบาทต่อปี เรียกได้ว่าผู้ป่วยตายและพิการจากโรคนี้เป็นจำนวนมาก ซึ่งการป้องกันเป็นทางเลือกที่ดีกว่า นั่นคือการให้ความรู้แก่ประชาชนทั่วไป ศิริราชจึงจัดกิจกรรมดังกล่าวขึ้นระหว่างวันที่ 29 - 31 ต.ค. 2557 เพื่อให้ความรู้ในการป้องกันตัวเองจากโรคหลอดเลือดสมอง รวมถึงมีบริการตรวจคัดกรองความเสี่ยงของโรค การตรวจอัลตราซาวนด์หลอดเลือดสมองในผู้ที่มีความเสี่ยง รวมถึงจัดเวทีเสวนาให้ความรู้โรคหลอดเลือดสมองโดยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ รวมถึงจัดอบรมเรื่องการดูแลผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมองแก่ผู้ดูแลผู้ป่วยและญาติด้วย

ด้าน รศ.นพ.ยงชัย นิละนันท์ ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล กล่าวว่า สมองเป็นอวัยวะที่สำคัญที่สุด เนื่องจากทำหน้าที่ควบคุมการทำงานส่วนต่างๆ ของร่างกาย ในสมองจะประกอบด้วยหลอดเลือดที่เป็นเส้นเลือดใหญ่และเส้นเลือดฝอย หากเส้นเลือดเหล่านี้ตีบ ตัน หรือแตก ก็จะส่งผลต่อร่างกายทันที หากมาพบแพทย์ไม่ทันอาจเสียชีวิตได้ ซึ่งสาเหตุหลักคือการเพิกเฉยต่ออาการหรือสัญญาณเตือนของร่างกาย เช่น ตาพร่ามัว ชาครึ่งซีก ปากเบี้ยว แขนขาอ่อนแรง พูดลำบาก ซึ่งมักจะเกิดในระยะเวลาสั้นๆ ทำให้คนส่วนมากมองข้ามไป ทั้งนี้ ความเสี่ยงของสมองขาดเลือดที่เกิดจากการตีบหรืออุดตันคือ ป่วยเป็นโรคความดันโลหิตสูง เบาหวาน การบริโภคอาหารที่มีไขมันสูง ภาวะน้ำหนักเกิน สูบบุหรี่ ขาดการออกกำลังกาย มีการใช้ยาที่ก่อให้เกิดการกระตุ้น อาทิ สารเสพติดต่างๆ เช่น แอมเฟตามีน เฮโรอีน รวมไปถึงยาคุมกำเนิด เนื่องจากเมื่อใช้แล้วจะทำให้เลือดข้นขึ้น เพิ่มโอกาสเสี่ยงต่อการอุดตันในหลอดเลือด ดังนั้น ผู้ที่มีความเสี่ยงต่อการเกิดหลอดเลือดสมองตีบ อุดตัน รวมไปถึงผู้ป่วยไมเกรนควรระมัดรังในการใช้ ด้วยการปรึกษาแพทย์ โดยหากสามารถลดความเสี่ยงทั้งหมดนี้ได้ จะช่วยลดการเกิดโรคหลอดเลือดสมองได้ถึง 80-90%

รศ.นพ.ยง กล่าวว่า การรักษาผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมองให้ได้ผลดีขึ้นอยู่กับเวลา คือ ยิ่งรับการรักษาเร็วเท่าไร โอกาสหายเป็นปกติจะมาก ซึ่งการรักษาที่ได้ผลดีคือการให้ยาสลายลิ่มเลือดแก่ผู้ป่วยภายในเวลา 3 ชั่วโมงหลังเกิดอาการ จะเพิ่มโอกาสการฟื้นตัวจากความพิการให้กลับมาใกล้เคียงปกติ 1.5 - 3 เท่า เมื่อเทียบกับผู้ป่วยที่ไม่ได้รับยา การให้ยาแอสไพรินอย่างน้อย 160 มิลลิกรัมต่อวัน ภายใน 48 ชั่วโมงหลังเกิดอาการ จะช่วยลดโอกาสเกิดโรคหลอดเลือดสมองตีบตันซ้ำและเสียชีวิตลง การรับตัวผู้ป่วยไว้ในหอผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมองเฉียบพลัน และการผ่าตัดเปิดกระโหลกสำหรับรายที่มีอาการรุนแรงและหลอดเลือดแดงใหญ่ตีบหรืออุดตัน นอกจากนี้ การควบคุมความดัน การป้องกันภาวะแทรกซ้อน การทำกายภาพฟื้นฟู คนในครอบครัวร่วมดูแลให้กำลังใจ เป็นปัจจัยที่มีผลต่อการฟื้นตัวของผู้ป่วย

“ การรักษาแยกส่วนแต่ละแผนก ผลการรักษาอาจไม่ดีเท่าที่ควร ซึ่งที่ผ่านมาศิริราชมีเพียงหอผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมองเฉียบพลันในการรับผูป่วยไว้ดูแล จึงจะจัดตั้งศูนย์หลอดเลือดสมองเฉียบพลันขึ้นเพื่อดูแลเป็นพิเศษ โดยมีแพทย์ผู้เชี่ยวชาญจากแผนกต่างๆ ทั้งอายุรแพทย์โรคสมอง ความดัน เวชศาสตร์ฟื้นฟู ศัลยแพทย์ รวมไปถึงนักกายภาพบำบัด นักสังคมสงเคราะห์มาร่วมกันทำงานเพื่อดูแลผู้ป่วยโดยเฉพาะ เป็นการดูแลแบบสหสาขาวิชาชีพก็จะช่วยให้ผลการรักษาดีกว่า ซึ่งขณะนี้คณะแพทยศาสตร์ศิริราชได้รับหลักการในการจัดตั้งศูนย์แล้ว ” รศ.นพ.ยงชัย กล่าว

ที่มา ASTVผู้จัดการออนไลน์
วันที่ 29 ตุลาคม 2557