ครั้งแรก! "ธัมบ์ไดร์ฟ" จากพลาสติกชีวภาพผลงานไทย

Post Reply
brid.siriwan
Posts: 3942
Joined: 05 Apr 2013, 08:47

ครั้งแรก! "ธัมบ์ไดร์ฟ" จากพลาสติกชีวภาพผลงานไทย

Post by brid.siriwan »

ครั้งแรก! ธัมบ์ไดร์ฟ จากพลาสติกชีวภาพผลงานไทย

ตัวอย่างปากกาและธัมบ์ไดร์ฟจากพลาสติกชีวภาพ
เปิดตัว "ธัมบ์ไดร์ฟ" จากยางพาราผสมพลาสติกชีวภาพผลงานไทยชิ้นแรก ผลพวงการค้นคว้าวิจัยนานกว่า 2 ปี ตอบโจทย์ความต้องการตลาด แต่หาผู้ผลิตไม่ได้

ณัฎฐยา อรรจนานันท์ ผู้จัดการทั่วไป บริษัท คอนเซปต์ทรี จำกัด เผยว่า ทางบริษัทมีแนวทางในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่มิตรต่อสิ่งแวดล้อม โดยมีวัสดั 3 ประเภทที่นำมาใช้ คือ วัสดุรีไซเคิล เส้นใยธรรมชาติ และพลาสติกชีวภาพ

"ในส่วนของพลาสติกชีวภาพทางบริษัทได้ทำวิจัยเมื่อ 3 ปีที่ผ่านมา พบว่าสินค้าส่วนใหญ่เป็นสินค้าตั้งโต๊ะอาหาร เช่น จาน ชาม แก้วกาแฟ เป็นต้น แต่ทางบริษัทเน้นสินค้าไลฟ์สไตล์ เรานำเข้าสินค้าจำพวกปากกา ธัมบ์ไดร์ฟจากต่างประเทศ ซี่งพบว่าได้กระแสตอบรับดี แต่ไม่มีคนไทยทำ"

ทางคอนเซปต์ทรีจึงเข้าไปปรึกษาสำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ซึ่งสนับสนุนการวิจัยและการพัฒนาเชิงพาณิชย์ โดยได้เชิญนักวิจัยจากหลายสถาบันมาช่วยแก้ปัญหา โดยมี ผศ.ดร.ธาริณี นามพิชญ์ จากภาควิชาเทคโนโลยีการบรรจุและวัสดุ คณะอุตสาหกรรมเกษตร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เป็นหนึ่งในทีมวิจัย

ผศ.ดร.ธาริณี ระบุว่าศึกษาเรื่องพลาสติกชีวภาพมานานกว่า 6 ปี และได้โจทย์ในการพัฒนาพลาสติกชีวภาพสำหรับผลิตธัมบ์ไดร์ฟจากทาง วช. ซึ่งได้พัฒนาสูตรพลาสติกชีวภาพที่เหมาะสม และผสมยางพาราลงไปด้วย เพื่อเพิ่มคุณสมบัติเชิงกลของวัสดุให้ดีขึ้น และช่วยเพิ่มความเหนียวให้แก่พลาสติกชีวภาพด้วย โดยสามารถผสมยางพาราได้ในสัดส่วนสูงสุด 20% และจุดเด่นคือย่อยสลายได้ 100% เมื่อฝังกลบ

หลังพัฒนาสูตรพลาสติกที่เหมาะสมรวมถึงพัฒนากระบวนการขึ้นรูปเป็นเวลากว่า 2 ปี จึงได้ธัมบ์ไดร์ฟพลาสติกชีวภาพผสมยางพาราในชื่อ "ไทยธัมบ์" (Thai Thumb) ที่มีความจุ 4 กิกะไบท์ และได้เปิดตัวเมื่อวันที่ 29 ต.ค.57 ณ ศูนย์สร้างสรรค์งานออกแบบ (TCDC)

ในการพัฒนาธัมบ์ไดร์ฟจากพลาสติกชีวภาพนี้ ยังได้ความร่วมมือจากการพัฒนากระบวนการขึ้นรูปจากสถาบันพลาสติก กระทรวงอุตสาหกรรม โดยดร.เกรียงศักดิ์ วงศ์พร้อมรัตน์ ผู้อำนวยการของสถาบันกล่าวว่า การฉีดขึ้นรูปพลาสติกนั้นยาก หากช่างไม่ชำนาญและทำเสียรูปก็จะกลายเป็นต้นทุนที่สูงขึ้น

"ทางสถาบันได้ศึกษาการขึ้นรูปพลาสติกชีวภาพในหลายรูปแบบ และหาทางลดต้นทุน ซึ่งความร่วมมือครั้งนี้ทำให้สถาบันได้องค์ความรู้ในการปรับกระบวนการขึ้นรูปด้วย โดยปัจจุบันช่วยออกแบบกระบวนการผลิตในระดับเล็กที่สามารถผลิตชิ้นได้ 1,000-2,000 ชิ้นต่อวัน แต่หากมีความต้องการชิ้นก็สามารถออกกำลังผลิตให้มากกว่านี้ได้" ดร.เกรียงศักดิ์กล่าว

เมื่อเปรียบต้นทุนกับเม็ดพลาสติกจากปิโตรเคมีแล้วเม็ดพลาสติกชีวภาพมีต้นทุนสูงกว่าเท่า และถ้ารวมความเสียจากกระบวนการขึ้นรูปด้วยแล้ว ดร.เกรียงศักดิ์กล่าวว่า ต้นทุนจะเพิ่มขึ้นเป็น 3 เท่า แต่ปัจจุบันราคาเม็ดพลาสติกชีวภาพเริ่มถูกลงตามเทคโนโลยีที่พัฒนาขึ้น ขณะที่เม็ดพลาสติกปิโตรเลียมก็แพงขึ้นตามราคาน้ำมัน และอนาคตเมื่อราคาเม็ดพลาสติกทั้งสองชนิดมีราคาใกล้เคียงกันก็จะเป็นโอกาสสำหรับพลาสติกชีวภาพ

"ทางสถาบันพลาสติกมองว่าพลาสติกชีวภาพเป็นอนาคตของอุตสาหกรรมพลาสติก แต่ขอแนะนำว่า พลาสติกชีวภาพเป็นวัสดุใหม่และอุตสาหกรรมใหม่ ซึ่งเอกชนต้องฝ่าฟันและแนะนำแก่ผู้บริโภคให้มาก" ผอ.สถาบันพลาสติกกล่าว และเพิ่มเติมว่าพลาสติกชีวภาพของต่างประเทศได้จากข้าวโพด ส่วนของไทยได้จากน้ำตาลที่มาจากอ้อยและมันสำปะหลัง

ผู้จัดการทั่วไปของคอนเซปต์ทรี ยังกล่าวถึงแนวทางการทำตลาดธัมบ์ไดร์ฟพลาสติกชีวภาพว่า เน้นเข้าหาองค์กรที่มีนโยบายจัดซื้อจัดจ้างวัสดุที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และจัดซื้อสินค้าแจกเป็นของขวัญ ซึ่งจะเป็นโอกาสในการสร้างประสบการณ์ใช้สินค้าที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม โดยตั้งราคาขายที่ 250-270 บาท ซึ่งราคาใกล้เคียงธัมบ์ไดร์ฟนำเข้าที่มีราคา 200-300 บาท และก่อนหน้านี้นำเข้ากว่า 5,000 ชิ้น

ทางด้าน อุไร เชื้อเย็น หัวหน้าฝ่ายบริหารแผนงานและโครงการพิเศษและเร่งด่วน กองบริหารแผนและงบประมาณการวิจัย วช.กล่าวว่า ธัมบ์ไดร์ฟจากพลาสติกชีวภาพเป็นเพียงตัวอย่างหนึ่งของการสนับสนุนการพัฒนาผลิตภัณฑ์จากพลาสติกชีวภาพ โดย วช.ยังสนับสนุนการพัฒนาผลิตภัณฑ์อื่นๆ อีก อาทิ ถุงหิ้ว และถุงแกงร้อน ที่จะเปิดตัวต่อไปในอนาคต
19:01 น.

ครั้งแรก! ธัมบ์ไดร์ฟ จากพลาสติกชีวภาพผลงานไทย
(ซ้ายไปขวา) ดร.ธาริณี นามพิชญ์, สิรี มนธาตุผลิน ผู้อำนวยการฝ่ายการตลาด คอนเซปต์ทรี, ณัฐถยา อรรจนานันท์ และ ดร.เกรียงศักดิ์ วงศ์พร้อมรัตน์ เปิดตัวธัมบ์ไดร์ฟจากพลาสติกชีวภาพผสมยางพารา


ครั้งแรก! ธัมบ์ไดร์ฟ จากพลาสติกชีวภาพผลงานไทย
เม็ดพลาสติกชีวภาพ


ครั้งแรก! ธัมบ์ไดร์ฟ จากพลาสติกชีวภาพผลงานไทย
ธัมบ์ไดร์ฟจากพลาสติกชีวภาพ

ที่มา ASTVผู้จัดการออนไลน์
วันที่ 29 ตุลาคม 2557
Post Reply

Return to “แจ้งข่าว ไทย ERP และข่าวอื่นๆที่น่าสนใจ”