Page 1 of 1

ลงทุน-ส่งออก-รัฐกระตุ้นไม่ฟื้น ธปท.ใจเหี่ยวเศรษฐกิจไตรมาส 3

Posted: 01 Nov 2014, 14:53
by brid.siriwan
ลงทุน-ส่งออก-รัฐกระตุ้นไม่ฟื้น ธปท.ใจเหี่ยวเศรษฐกิจไตรมาส 3 ต่ำกว่าคาด


เศรษฐกิจไทยหงอย! ไตรมาส 3 ไม่ฟื้นอย่างที่คาด การใช้จ่าย-ลงทุนภาครัฐ และลงทุนเอกชนไม่ยอมฟื้นตัวตามนัด ขณะที่ท่องเที่ยว และใช้จ่ายภาคเอกชน แม้ดีขึ้นแต่ยังช้ามาก ขณะที่ไตรมาสที่ 4 ยังไม่แน่ใจเห็นการฟื้นตัวที่ชัดเจน แต่ยืนยันทิศทางยังเป็นการฟื้นตัวแน่นอน

นางรุ่ง มัลลิกะมาส ผู้อำนวยการอาวุโส สายนโยบายการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวถึงภาวะเศรษฐกิจไทยว่า เศรษฐกิจไทยไตรมาสที่ 3 ยังฟื้นตัวช้ากว่าที่ ธปท.คาดไว้ โดยภาคการส่งออกเป็นภาคที่ฟื้นตัวช้าที่สุด โดย 9 เดือนแรกการส่งออกยังคงขยายตัวติดลบ 0.7% จากตัวเลขที่ ธปท.คาดไว้ว่าทั้งปีจะขยายตัวได้ 0% ขณะเดียวกัน การใช้จ่ายและลงทุนที่ล่าช้าอยู่ของภาครัฐยังช่วยกระตุ้นการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยได้ไม่ดีเท่าที่ควร การลงทุนภาคเอกชนชะลอตัวต่อเนื่องส่วนหนึ่งมาจากกำลังการผลิตที่ยังเหลืออยู่ และยังไม่มีการตัดสินใจขยายการลงทุน เนื่องจากยังไม่เห็นชัดเจนถึงการฟื้นตัวอย่างแข็งแกร่งของเศรษฐกิจไทย ขณะที่ทิศทางในไตรมาสที่ 4 อาจจะยังไม่เห็นการขยับขึ้นต่อเนื่อง อาจจะมีขึ้นลงบ้าง แต่เป็นปกติที่จะเห็นได้ในช่วงแรกของการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ

“เดือน ก.ย.และไตรมาสที่ 3 ของปีนี้ ดัชนีการอุปโภคบริโภคภาคเอกชนเป็นเครื่องชี้ที่ขยายตัวดีที่สุด โดยในเดือน ก.ย.ขยายตัวเพิ่มขึ้น 1.2% จากระยะเดียวกันของปีก่อน ขณะที่ไตรมาสที่ 3 ขยายตัวเพิ่มขึ้น 0.2% และเป็นไตรมาสแรกของปีนี้ที่ขยับตัวเป็นบวก จากการบริโภคสินค้าไม่คงทนที่ปรับตัวดีขึ้น อย่างไรก็ตาม แม้กระทั่งการบริโภคก็ยังมีอุปสรรคที่ทำให้ขยายตัวไม่ได้สูงมากนัก จากรายได้ของเกษตรกรที่ยังติดลบต่อเนื่อง โดยไตรมาสที่ 3 ติดลบ 7.7% จากราคาข้าวและยางพาราที่ปรับตัวลดลง ขณะที่หนี้ครัวเรือนยังอยู่ในระดับสูง ทำให้ยอดขายสินค้าคงทนไม่ฟื้นตัว”

นางรุ่งกล่าวต่อว่า ภาคการส่งออกเดือน ก.ย.ถือเป็นอีกภาคหนึ่งที่ปรับตัวดีขึ้น โดยขยายตัวเพิ่ม 2.2% จากระยะเดียวกันของปีก่อน ขณะที่ขยายตัวเพิ่มขึ้นถึง 3.9% เมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้า แต่ภาพรวมการส่งออกยังคงอ่อนแอตามกำลังซื้อต่างประเทศที่ยังไม่ฟื้นตัวชัดเจน ขณะที่ปัญหาโครงสร้างการผลิตสินค้าเทคโนโลยีสูงของไทยทำให้ส่วนแบ่งในตลาดนี้ของไทยลดลง โดยไตรมาสที่ 3 ของปีนี้การส่งออกยังติดลบ 1.7% ส่วนการนำเข้ากลับมีแนวโน้มขยายตัวเร่งขึ้น โดยในเดือน ก.ย.ขยายตัวเพิ่มขึ้น 10.1% ซึ่งเป็นการขยายตัวครั้งแรกในรอบ 14 เดือน แต่โดยรวมในไตรมาสที่ 3 ยังติดลบเล็กน้อยที่ 0.8% โดยสินค้าอุปโภคและทองคำเป็นสินค้าที่นำเข้าเพิ่มขึ้นในเดือน ก.ย.

“การนำเข้าที่เพิ่มขึ้นส่งผลให้เดือน ก.ย.ที่ผ่านมาเกินดุล 1,100 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ลดลงจากเดือนก่อนหน้าถึง 1,000 ล้านเหรียญฯ ขณะที่ดุลบริการขาดดุล 2,000 ล้านเหรียญฯ ตามการท่องเที่ยวที่ยังติดลบ 7% ในเดือน ก.ย.แต่หากเทียบเดือนต่อเดือน การท่องเที่ยวเดือน ก.ย.เพิ่มขึ้น 4.4% จากเดือนก่อนหน้า ทำให้มองว่าการท่องเที่ยวในระยะต่อไปจะค่อยๆขยายตัวดีขึ้น ดุลบัญชีเดินสะพัดขาดดุล 900 ล้านเหรียญฯ ดุลชำระเงินขาดดุล 800 ล้านเหรียญฯ และดุลบัญชีเคลื่อนย้ายขาดดุล 2,400 ล้านเหรียญฯ”

ผู้อำนวยการอาวุโส ธปท. กล่าวอีกว่า สถานการณ์เศรษฐกิจในประเทศยังไม่ดีเท่าที่ควร ทั้งนี้ เพราะการใช้จ่ายภาครัฐ แม้จะเร่งขึ้นในช่วงสิ้นปี งบประมาณ แต่เบิกจ่ายโดยรวมยังทำได้น้อย โดยเฉพาะงบลงทุน โดยสิ้นปีงบประมาณ 57 เบิกจ่ายได้รวม 87% ลดลงจากปีที่ผ่านมาที่เบิกจ่ายได้ 88.9% ขณะที่งบลงทุนเบิกจ่ายได้เพียง 66.5% ลดลงจากปีก่อนหน้าที่ยังเบิกจ่ายได้ถึง 70.2% ทำให้แรงกระตุ้นที่มีต่อเศรษฐกิจยังไม่มากเท่าที่ควร และส่งผลให้ความเชื่อมั่นของนักลงทุนที่จะลงทุนใหม่ยังไม่สูงเท่าที่ควรด้วย

ทั้งนี้ การลงทุนภาคเอกชนยังคงไม่ฟื้นตัว โดยดัชนีการลงทุนภาคเอกชนในเดือน ก.ย.และไตรมาสที่ 3 ติดลบ 5% จากระยะเดียวกันของปีก่อน ขณะที่เดือน ก.ย.ขยายตัวเพิ่มขึ้น 0.1% เมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้า ส่วนหนึ่งเป็นเพราะการใช้กำลังการผลิตในเดือน ก.ย.ยังอยู่ที่ 61.1% ซึ่งถือว่ายังอยู่ในระดับที่มีช่องว่างอยู่มาก ทำให้ไม่เกิดการตัดสินใจลงทุนใหม่ นอกจากนั้น ส่วนหนึ่งยังรอความชัดเจนของโครงการขนาดใหญ่ของรัฐบาลที่มีความล่าช้าอยู่

สอดคล้องกับการผลิตภาคเอกชนที่ดัชนียังขยายตัวติดลบ 4.5% เทียบกับระยะเดียวกันของปีก่อน ขณะที่ยอดรวมทั้งไตรมาสที่ 3 ติดลบอยู่ที่ 0.2% เนื่องจากกำลังซื้อในประเทศยังไม่ฟื้นตัวดีเท่าที่ควร ขณะที่ผู้ผลิตเพื่อการส่งออกลดการผลิตลงเพื่อระบายสินค้าคงคลังหลังจากเร่งผลิตในช่วง 2 เดือนก่อนหน้าที่ยอดส่งออกยังไม่ดีขึ้นมาเท่าที่คาดไว้ โดยการผลิตฮาร์ดดิสก์ไดรฟ์ลดลงต่อเนื่อง

“สินเชื่อธนาคารพาณิชย์รวมขยายตัวลดลงต่อเนื่อง โดยขยายตัวเพียง 5.2% ในเดือน ก.ย.โดยสินเชื่อภาคครัวเรือนขยายตัวเพิ่มขึ้น 7.4% ขณะที่การขยายตัวของสินเชื่อภาคธุรกิจลดลงค่อนข้างมาก โดยขยายตัวเพียง 2.3% ตามความต้องการสินเชื่อของบริษัทขนาดใหญ่ลดลงกว่าที่คาด ขณะที่เอสเอ็มอีต้องการสินเชื่อ แต่แบงก์เข้มงวดการปล่อยค่อนข้างมาก”.

ที่มา ไทยรัฐฉบับพิมพ์
วันที่ 1 พ.ย. 2557