Page 1 of 1

สภาจุฬาฯอุทธรณ์คำสั่งถอดคณบดีแพทย์

Posted: 01 Nov 2014, 15:46
by brid.siriwan
สภาจุฬาฯอุทธรณ์คำสั่งถอดคณบดีแพทย์

สภาจุฬาฯ มีมติอุทธรณ์คำสั่งศาลปกครองกลาง กรณีการสรรหาคณบดีคณะแพทย์ฯ พร้อมรอมชอมทุกฝ่าย ขณะที่นายกสภาจุฬาฯ รับเสียใจเรื่องที่เกิดขึ้น

วันนี้( 30 ต.ค.) ที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ศ.ดร.คุณหญิงสุชาดา กีระนันทน์ นายกสภาจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวภายหลังการประชุมสภาจุฬาฯ ว่า ที่ประชุมได้หารือกรณีที่ศาลปกครองกลางมีคำพิพากษาสั่งเพิกถอนมติของสภาจุฬาฯเมื่อวันที่ 30 มิถุนายน 2554 ที่ไม่พิจารณาแต่งตั้ง นพ.ประสงค์ ศิริวิริยะกุล ให้ดำรงตำแหน่งคณบดีคณะแพทยศาสตร์จุฬาฯ ตามที่คณะกรรมการสรรหาชุดแรกเสนอ และให้เพิกถอนมติของสภาจุฬาฯมหาวิทยาลัยที่แต่งตั้งคณะกรรมการสรรหาคณบดีแพทยศาสตร์ชุดใหม่ รวมถึงเพิกถอนกระบวนการสรรหาและแต่งตั้งนพ.โศภณนภาธร ให้ดำรงตำแหน่งคณบดีคณะแพทยศาสตร์ จุฬาฯ ว่า สภาจุฬาฯ มีมติเห็นชอบให้ฝ่ายบริหารยื่นอุทธรณ์คำสั่งศาลปกครองกลางภายในวันที่ 12 พฤศจิกายน นี้ตามขั้นตอนและระเบียบที่กฎหมายกำหนด ขณะเดียวกันขอให้ไปดำเนินการรอมชอมและ ทำความเข้าใจ เพื่อให้คณะแพทยศาสตร์สามารถอยู่ร่วมกันได้อย่างมีความสุขต่อไป

ศ.ดร.คุณหญิงสุชาดา กล่าวต่อไปว่า ที่ประชุมวิพากษ์วิจารณ์เรื่องนี้อย่างกว้างขวาง ขณะที่ฝ่ายบริหารชี้แจงว่า ศาลปกครองกลางได้มีคำพิพากษา โดยยึดตามพ.ร.บ.วิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ.2539 มาตรา 16 วรรค 1 เกี่ยวกับเจ้าหน้าที่หรือกรรมการที่มีอำนาจพิจารณาทางปกครองซึ่งมีสภาพร้ายแรงอันอาจทำให้การพิจารณาทางปกครองไม่เป็นกลางเจ้าหน้าที่หรือกรรมการผู้นั้นจะทำการพิจารณาทางปกครองในเรื่องนั้นไม่ได้ ซึ่งทางศาลอาจจะมีความเห็นต่างกับสภาจุฬาฯ ชุดก่อนดังนั้นศาลจึงมีคำพิพากษาแบบนี้ เพราะฉะนั้นมหาวิทยาลัยคงต้องอุทธรณ์แย้ง ไปว่ากรณีดังกล่าวมีสภาพร้ายแรง

“มติดังกล่าวไม่ถือว่าเอกฉันท์ แต่ถือเป็นมติส่วนใหญ่ของสภาจุฬาฯ ดิฉันเองและกรรมการสภาฯ ส่วนหนึ่งมีความเห็นว่าการแก้ปัญหาทางกฎหมายก็ส่วนหนึ่ง แต่ก็ต้องแก้ปัญหาเชิงบริหารด้วย เพื่อให้มีทางออกที่เหมาะสมให้คณะแพทย์ศาสตร์จุฬาฯ สามารถที่จะเดินหน้าต่อไปได้ โดยไม่มีปัญหาเรื่องบุคลากรภายในที่เกิดจากการสรรหาแต่ด้วยเงื่อนเวลาที่ต้องอุทธรณ์ภายใน 30 วัน ตามคำสั่งศาลปกครองกลางทำให้การพิจารณาเชิงไกล่เกลี่ยในเชิงรอมชอมไม่สามารถทำได้ในเวลาอันสั้นดังนั้นในแง่กฎหมาย ถ้าจุฬาฯ ไม่อุทธรณ์ก็ต้องปฏิบัติตามคำสั่งศาล ดังนั้นจึงให้ยื่นอุทธรณ์ไปชั้นหนึ่งก่อน ขณะเดียวกันก็ให้ดำเนินการรอมชอม เพื่อทำความเข้าใจรวมทั้งให้ความเป็นธรรมกับนพ.ประสงค์ และนพ.โศภณ เพราะทั้งสองคนเป็นผู้ถูกกระทำจากกระบวนการสรรหาที่ผ่านมาอย่างไรก็ตามรู้สึกเสียใจที่สภาจุฬาฯ ต้องมีเรื่องแบบนี้เกิดขึ้น ”ศ.ดร.คุณหญิงสุชาดา กล่าว


ที่มา เดลินิวส์
วันที่ 30 ตุลาคม 2557