Page 1 of 1

บทเรียน “การปั่นหุ้น” เตือนใจให้ระวัง

Posted: 04 Nov 2014, 15:50
by brid.siriwan
บทเรียน “การปั่นหุ้น” เตือนใจให้ระวัง
ผมยังยืนยันว่าตลาดหุ้นยังมีระดับราคาที่สมเหตุผล ให้ผลตอบแทนที่น่าสนใจ พีอีเรโชบนกำไร 4 ไตรมาสย้อนหลัง 18.5 เท่า พีอีเรโชบนกำไรปี 2014 ประมาณ 16 เท่า และพีอีเรโชบนกำไรปี 2015 ประมาณ 14 เท่าเท่านั้น ซึ่งบนพีอีเรโชแบบมองไปข้างหน้า 14 เท่า คือเพื่อกำไร 1 บาท เราลงทุน 14 บาท เท่ากับได้ผลตอบแทน 1/14 = 7%

แต่แม้ยังมีหุ้นหลายหุ้นใน mai ยังมีสภาวะปกติ แต่หลายๆ หุ้นก็มีพีอีเรโชนับ 100 เท่า หรืออาจขาดทุนจนหาค่าพีอีเรโชไม่ได้

…ตั้งแต่ต้นปี ดัชนี SET Index ปรับตัวสูงขึ้น 21.9% จาก 1,298 จุด เป็น 1,584 จุดในปัจจุบัน PER อดีต 18.5 เท่า

…ตั้งแต่ต้นปี ดัชนี mai Index ปรับตัวสูงขึ้น 103% จาก 357 จุด เป็น 724 จุดในปัจจุบัน PER อดีต 78.3 เท่า!

ตลาดทุนไทย ถือว่ามีพระคุณต่อชีวิตผมมาตลอด 26 ปี ดังนั้น ผมจึงต้องมีส่วนร่วมรับผิดชอบ หวังว่าจะสามารถช่วยกันรักษาให้ตลาดทุนไทยให้กลับมามีความมั่นคง โปร่งใส เคลื่อนไหวด้วยปัจจัยพื้นฐาน ไม่ใช่เป็นตลาดที่มืดครึ้ม ไร้เหตุผล ขาดปัจจัยพื้นฐาน เพราะเมื่อขาดพื้นฐานก็ย่อมจะขาดความมั่นคงยั่งยืน

ความสูญเสียยิ่งใหญ่ในขณะนี้คือ นักลงทุนไม่น้อยกำลังมองข้ามเหตุผล ปัจจัยพื้นฐาน และเริ่มตกหลุมพราง ข่าวลือ ข่าวปั่น ว่า “เจ้า” จะเล่นตัวไหน? แต่โดยนิสัยนักปั่น ไม่เคยปั่นเพื่อแจกเงินการกุศล

...ถ้าแมลงเม่ายังไม่เข้า ก็ลากหุ้นโชว์
...ถ้าแมลงเม่าเข้า ก็ทุบลงมา

...ถ้าแมลงเม่ายังถือ ก็กดต่ำไว้

...ถ้าแมลงเม่าทนไม่ได้ ขายเมื่อไร ก็ลากกลับขึ้นมาล่อแมลงเม่าใหม่

วันก่อน ผมเดินสวนนักลงทุนรายย่อย ก็บ่นว่า หุ้นขึ้นชนเพดาน 2 วัน แต่พอเข้าไป ก็ตกหนักทันที!

อีกรายบ่นว่า ถือหุ้นนี้มาตั้งนาน พอปล่อยขายออกไป ก็ขึ้นแรงเลย!

นี่คืออาการ “แมลงเม่า” ที่ตกเป็นเหยื่อของ “นักปั่นหุ้น” อย่างแท้จริง

ผมเองได้เห็นสภาพตลาดลูกโป่งแตกคาตามา 2 ครั้ง ครั้งแรกเมื่อปี 1994-1997 จนเป็นเหตุให้ตลาดหุ้นตกต่ำรุนแรง มีบัญชีมาร์จิ้นต้องขาดทุนมหาศาล และเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้สถาบันการเงินต้องปิดไปถึง 56 แห่งในปี 1997

ครั้งที่ 2 เมื่อปี 2008 หุ้นเน่าๆ บางหุ้นราคาตกต่ำอย่างรุนแรงจากมูลค่าตลาด 20,000 ล้านบาท เหลือเพียง 200 ล้านบาท ภายในเวลาเพียง 8 วัน!

บทเรียนมีค่า ที่ผมเคยได้รับเพื่อเป็นบทเรียนสำหรับยุคปัจจุบัน บทเรียนหนึ่งที่ผมได้รับฟังผู้ใหญ่ที่ผมเคารพให้ความรู้แก่ผม คือ “ทุกรอบ นักปั่นหุ้น จะเอาหุ้นไปทิ้งไว้ที่โบรกเกอร์”

สมัยเสี่ยหนึ่ง (นามสมมติ) ปั่นหุ้น BBC จาก 20 บาท จนเป็น 60 บาท หุ้นขึ้นประมาณ 10% ทุกวัน

... ซื้อหุ้นจากโบรกเกอร์ บัญชี 1 ที่ราคา 20 บาท เสี่ยหนึ่ง (และพวก) ลงทุน 10 บาท (โบรกเกอร์ปล่อยกู้ 10 บาท)

... ซื้อหุ้นจากโบรกเกอร์ บัญชี 2 ที่ราคา 22 บาท เสี่ยหนึ่ง (และพวก) จ่าย 11 บาท (โบรกเกอร์ปล่อยกู้ 11 บาท) บัญชีแรกขายได้กำไร 2 บาท แต่ลงทุนเพิ่ม 1 บาท ยังเหลือสุทธิ 1 บาทใส่กระเป๋า

... ซื้อหุ้นจากโบรกเกอร์ บัญชี 3 ที่ราคา 24 บาท เสี่ยหนึ่ง (และพวก) จ่าย 12 บาท
(โบรกเกอร์ปล่อยกู้ 12 บาท) บัญชีที่แล้วขายได้กำไร 2 บาท แต่ลงทุนเพิ่มอีก 1 บาท ยังเหลือสุทธิ 1 บาทใส่กระเป๋า ...
... จนซื้อหุ้นจากโบรกเกอร์ บัญชีสุดท้าย ที่ราคา 60 บาท เสี่ยหนึ่ง (และพวก) จ่าย 30 บาท (แต่ลงทุนจริงเริ่มต้นแค่ 10 บาท สะสมกำไรเพิ่ม 20 บาท โบรกเกอร์ปล่อยกู้ 30 บาท) บัญชีต่างๆ ที่ขายต่อๆ กันมา รวมกำไรสุทธิเข้ากระเป๋าไปแล้ว 20 บาท!

และยังมีหุ้นราคา 60 บาท ซึ่งโบรกเกอร์ออกเงินให้ 30 บาท ถ้ามีแมลงเม่าซื้อไป ก็จบอย่างกำไรถึง 40 บาท จากเงินที่ลงทุนเพียง 10 บาทในไม้แรก

แต่เมื่อลูกโป่งแตก ไม่มีใครซื้อหุ้นนี้ โบรกเกอร์ก็ต้องรับขาดทุนหุ้นนี้ไป จนในที่สุดต้องปิดตัวไปหลายสิบราย!

สมัยปี 2008 โบรกเกอร์ที่ปล่อยกู้หุ้นนี้เสียหายสูงสุดนับเป็นมูลค่าถึง 1 พันล้านบาทในปีเดียว! และอีกหลายโบรกเกอร์ขาดทุนนับร้อยล้านบาท (เมย์แบงก์กิมเอ็ง ไม่ปล่อยกู้หุ้นเหล่านี้ จึงรอดพ้นมาได้อย่างปลอดภัย)

คนปั่นหุ้นคงเตรียมจะใช้โบรกเกอร์รับหุ้นปั่นไปในตอนจบจริงๆ จึงกล้าลากหุ้นไปสู่จุด “ไร้ปัจจัยพื้นฐาน” รองรับได้ จนเป็นสัญญาณแห่ง “ลูกโป่ง” ในตลาดหุ้น

ขณะนี้ หากหุ้นติด Turnover List นักลงทุนต้องใช้เงินสดจึงซื้อได้ ก็ไม่น่าจะเกิดเหตุการณ์ลูกโป่งแต่ยังมีความเสี่ยงที่จะใช้บัญชีมาร์จิ้นหรือบัญชีเงินสด

แต่โบรกเกอร์ส่วนใหญ่ระมัดระวังการปล่อยสินเชื่อมาร์จิ้น โดยเชื่อว่าหุ้นส่วนใหญ่ที่ขาดปัจจัยพื้นฐานก็มักจะไม่ปล่อยเงินกู้ให้อยู่แล้วจึงยังอาจมีปัญหาในการใช้บัญชีเงินสด โดยมีหลักประกัน 20% และชำระเงินในวันที่ T+3

ลองนึกภาพดูว่า ถ้าซื้อแต่ “หุ้นปั่น” หากมีปัญหา โบรกเกอร์ก็หวังพึ่งหลักประกัน แต่ถ้าหลักประกันก็เป็น “หุ้นปั่น” ด้วย ความเสียหายก็จะเกิดกับโบรกเกอร์ และถ้าอาการหนักมาก ก็อาจกระทบต่อกองทุนกลางในการเคลียริ่งของตลาดหลักทรัพย์ฯ อีกด้วย ซึ่งผมเชื่อว่าหากมีการตรวจตราระมัดระวังกันดีพอ ปัญหานี้ก็จะจำกัด และเหยื่อก็จะไม่กระจายในวงกว้างเกินไป

ขณะนี้ผมเชื่อว่านักลงทุนควรยึดหลัก “สุดสูง...คืนสู่สามัญ” ลงทุนหุ้น ก็ควรคืนสู่ “ปัจจัยพื้นฐาน” เลือกธุรกิจที่ดี มีตลาดแข่งขันได้ ผู้บริหารเป็นคนเก่ง และคนดี กิจการมีความแข็งแรงมั่นคง ผู้ถือหุ้นเชื่อถือได้ จริงใจต่อนักลงทุนมหาชน มีระดับราคาที่สมเหตุสมผล แม้จะไม่ได้ผลตอบแทนที่หวือหวารุนแรง แต่ก็น่าจะเป็นผลตอบแทนที่สูงมั่นคง

และเชื่อว่าจะประสบความสำเร็จในการลงทุน ได้ผลตอบแทนที่ดีในระยะยาวครับ
มนตรี ศรไพศาล (montree4life@yahoo.com; www.oknation.net/blog/richwithlove; @montrees)

ที่มา ASTVผู้จัดการออนไลน์
วันที่ 4 พฤศจิกายน 2557