Page 1 of 1

บอร์ด กทค.ถกร้องเรียนค่าบริการ 3จี ไม่ลด 15%

Posted: 04 Nov 2014, 17:13
by brid.siriwan
บอร์ด กทค.ถกร้องเรียนค่าบริการ 3จี ไม่ลด 15%

บอร์ด กทค. หารือแก้ประกาศมาตรการเยียวยา พร้อมเรื่องร้องการให้บริการ 3จี ที่ไม่ได้ลด 15% ตามกำหนด ด้าน "ประวิทย์" ขอขยายเวลาปฏิบัติงานอนุฯ คุ้มครองผู้บริโภค

วันนี้ (4 พ.ย.) น.พ.ประวิทย์ ลี่สถาพรวงศา กรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) และกรรมการกิจการโทรคมนาคม (กทค.) กล่าวว่า การประชุม กทค.วันที่ 5 พ.ย. จะหารือแนวทางในการแก้ไขมาตรการคุ้มครองผู้ใช้บริการเป็นการชั่วคราวในกรณีสิ้นสุดการอนุญาตสัมปทาน หรือสัญญาการให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ พ.ศ. 2556 เรื่องการขอขยายเวลาการบังคับใช้ประกาศ กสทช. เรื่องหลักเกณฑ์การอนุญาตและกำกับดูแลกิจการวิทยุสมัครเล่น รวมถึงการพิจารณาเรื่องร้องเรียนกรณีที่มีผู้ร้องว่าค่าบริการโทรศัพท์เคลื่อนที่แบบรายเดือนบนย่านความถี่ 2.1 กิกะเฮิร์ตซ ได้ปรับลดอย่างน้อย 15% ตามที่บอร์ด กทค. เคยมีมติไว้ และการขอหารือแนวทางในการแก้ไขมาตรการคุ้มครองผู้ใช้บริการเป็นการชั่วคราวในกรณีสิ้นสุดการอนุญาตสัมปทาน หรือสัญญาการให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ พ.ศ. 2556 (มาตรการเยียวยา)

นอกจากนี้ สำนักงาน กสทช. เตรียมชง 4 ประเด็นหารือ 1.รายได้จากการให้บริการ ซึ่งเสนอให้ผู้ให้บริการสามารถใช้ประโยชน์จากคลื่นความถี่ย่าน 1800 เมกะเฮิร์ตซ เพื่อนำไปให้บริการ และให้มีการรับผู้ใช้บริการรายใหม่ได้ 2.การนำส่งรายได้เข้าแผ่นดิน กสทช.สามารถออกหลักเกณฑ์เพื่อกำหนดจำนวนเงินรายได้ที่ต้องนำส่งในอัตรา 30% ก่อนหักค่าใช้จ่ายได้หรือไม่ 3.การกำหนดมาตรการให้ผู้ใช้บริการโอนย้ายเครือข่ายให้แล้วเสร็จภายในระยะเวลาที่กำหนด 75 วัน โดยนับย้อนหลังจากวันที่ครบกำหนดเวลา 1 ปีตามคำสั่ง คสช. ที่ได้มีการชะลอประมูลคลื่นออกไป และ 4. การกำหนดบทลงโทษผู้ให้บริการกรณีฝ่าฝืนไม่ทำการแยกบัญชีการรับเงินจากการให้บริการไว้เป็นการเฉพาะ ไม่รายงานจำนวนเงินรายได้แดอกผลที่เกิดขึ้นหลังหักค่าใช้จ่ายที่จำเป็นแล้ว

ทั้งนี้ ประเด็นที่น่าจับตาเป็นพิเศษ คือข้อเสนอที่ให้ผู้ให้บริการสามารถใช้ประโยชน์จากคลื่นความถี่เพื่อนำไปให้บริการ และให้มีการรับผู้ใช้บริการรายใหม่ได้ เนื่องจากอาจขัดกับเจตนารมณ์ของคำสั่ง คสช. ที่ให้ยืดระยะเวลาคุ้มครองผู้ใช้บริการออกไป ไม่ใช่ให้แสวงหารายได้ เพราะการอนุญาตให้ผู้ให้บริการรับผู้ใช้บริการรายใหม่ได้โดยมีการให้บริการเต็มรูปแบบก็เท่ากับว่าเป็นอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่เพื่อประกอบกิจการโทรคมนาคมโดยไม่ต้องประมูล ซึ่งขัดกับมาตรา 45 พ.ร.บ. องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่ฯ พ.ศ.2553

ส่วนเรื่องการนำส่งรายได้เข้าแผ่นดินในอัตราร้อยละ 30 ก่อนหักค่าใช้จ่าย รวมทั้งส่วนที่เหลือหลังหักค่าใช้จ่ายที่จำเป็นแล้ว ในทางปฏิบัติก็ดูจะยังมีอุปสรรค เพราะที่ผ่านมา ผู้ให้บริการอ้างมาโดยตลอดถึงผลประกอบการที่ติดลบ ในขณะที่บริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด ในฐานะเจ้าของโครงข่าย ก็ระบุว่าตนเองเป็นผู้เสียหายเพราะยังไม่เคยได้รับค่าเช่าใช้โครงข่ายตลอดเวลากว่า 1 ปีที่ผ่านมา ซึ่งมียอดสะสมกว่า 2.3 พันล้านบาท ที่เป็นผลจากการประกาศใช้ประกาศ กสทช. เรื่อง มาตรการคุ้มครองผู้บริโภคเป็นการชั่วคราวฯ แทนการเร่งจัดให้มีการประมูลคลื่นความถี่ที่หมดอายุสัมปทาน

สำหรับ วาระการขยายระยะเวลาปฏิบัติงานของคณะอนุกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคด้านกิจการโทรคมนาคม นั้น ตนได้เคยเสนอเพื่อขอขยายวาระการดำรงตำแหน่งของคณะอนุกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคด้านกิจการโทรคมนาคม ซึ่งกำลังจะสิ้นสุดวาระลงในวันที่ 18 พ.ย. 57 เนื่องจากเป็นคณะอนุกรรมการที่ถูกกำหนดโดยกฎหมาย พ.ร.บ. องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่ฯ พ.ศ.2553 ให้ต้องมี ซึ่งที่ผ่านมา กสทช. ถือปฏิบัติตามกฎหมายด้วยการตั้งคณะอนุกรรมการนี้ขึ้นทันทีที่เข้ารับตำแหน่ง จึงไม่ควรปล่อยให้เกิดช่องว่าง แต่ไม่เห็นมีการนำเสนอวาระดังกล่าวเข้าที่ประชุม

ที่มา เดลินิวส์
วันที่ 4 พฤศจิกายน 2557