Page 1 of 1

กนง.คงดอกเบี้ยนโยบาย 2%

Posted: 05 Nov 2014, 16:12
by brid.siriwan
กนง.คงดอกเบี้ยนโยบาย 2%

คณะกรรมการกนง.มีมติ 6 ต่อ 1 เสียงให้คงดอกเบี้ยนโยบายไว้ 2% เพื่อช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจให้ฟื้นตัวต่อเนื่อง แต่รับ ห่วงส่งออกที่ต่ำกว่าคาด และการลงทุนโครงการภาครัฐที่ล่าช้า เล็งปรับตัวเลขเศรษฐกิจใหม่ ธ.ค.นี้

นายเมธี สุภาพงษ์ เลขานุการ คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) เปิดเผยว่า ที่ประชุมกนง. มีมติ 6 ต่อ 1 เสียง ให้คงดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ 2% ต่อปี โดยมีเพียง 1 เสียงที่ให้ลดดอกเบี้ยลง 0.25% ต่อปี เนื่องจากเห็นว่านโยบายการเงินควรผ่อนปรนเพิ่มเติม เพื่อช่วยเพิ่มแรงกระตุ้นเศรษฐกิจไทยให้ฟื้นตัวขึ้น อย่างไรก็ตาม คณะกรรมการประเมินว่า โดยภาพรวมแล้ว เศรษฐกิจไทยยังมีแนวโน้มฟื้นตัวต่อเนื่องในปีหน้า และนโยบายการเงินที่ผ่อนคลายในปัจจุบัน ไม่เป็นอุปสรรคต่อการฟื้นตัว อีกทั้งสอดคล้องกับการรักษาเสถียรภาพทางการเงินระยะยาว แต่ยอมรับว่าเป็นห่วงปัจจัยเสี่ยง ที่อาจมีผลกระทบ ทั้งจากสภาวะเศรษฐกิจโลก การส่งออกและการดำเนินโครงการลงทุนภาครัฐ ที่ล่าช้า

“คณะกรรมการเป็นห่วงเศรษฐกิจโลกที่ฟื้นตัวช้า และความรวดเร็วของการลงทุนภาครัฐ ดังนั้นจากนี้ไป ต้องติดตามทั้ง 2 ประเด็นอย่างใกล้ชิด และจะทบทวนประมาณการณ์เศรษฐกิจไทยทั้งปีนี้และปีหน้าอีกครั้ง คาดว่าจะประกาศในเดือน ธ.ค.นี้ ซึ่งดูจากเศรษฐกิจไตรมาส 3 มีแนวโน้มขยายตัวต่ำกว่าที่เคยประเมินไว้ ทั้งจากการใช้จ่ายภาครัฐต่ำกว่าคาด การส่งออกที่อ่อนแอ ซึ่งมีความเป็นไปได้ว่าจะติดลบ จากเดิมที่ไม่เติบโตเลยหรือ 0% แต่ยังหวังว่าการส่งออกจะดีขึ้นในปีหน้า โดยปัจจัยที่ห่วงมากที่สุด คือการลงทุนภาครัฐ ที่ดูแล้วมีโอกาสล่าช้า หากทำได้ตามแผนจะถือว่าดีมาก

ส่วนกรณีที่ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ส่งสัญญาณขึ้นดอกเบี้ยนั้น กนง.เห็นสัญญาณตั้งแต่การประชุมครั้งก่อนแล้ว และเชื่อว่าไม่น่าจะทำให้เกิดการเคลื่อนย้ายของเงินทุนอย่างรุนแรง อีกทั้งธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) มีแผนรองรับอยู่แล้วโดยทั่วไป จะแนะนำให้ผู้ประกอบการป้องกันความเสี่ยงอัตราแลกเปลี่ยน แต่กรณีการผ่อนคลายนโยบายของญี่ปุ่นนั้น ไม่กระทบเท่าใดนัก

ด้านเงินบาทอ่อนค่าในช่วงนี้ เกิดจากการที่เงินดอลลาร์สหรัฐแข็งค่าขึ้น เมื่อเทียบกับสกุลอื่น ๆ จึงไม่ใช่แค่เงินบาทที่อ่อนค่า แต่เงินสกุลอื่นในภูมิภาคเอเชียก็อ่อนค่าเช่นกัน เมื่อเทียบกับดอลลาร์ และเห็นว่าจะอ่อนค่าเท่าใดก็แล้วแต่กลไกตลาด ธปท.ไม่เข้าไปแทรกแซงและมองว่า ยังไม่น่าเป็นปัญหาจนทำให้เงินทุนไหลออก เนื่องจากทิศทางเศรษฐกิจปีหน้ามีแนวโน้มฟื้นตัวขึ้น

ที่มา เดลินิวส์
วันที่ 5 พฤศจิกายน 2557