Page 1 of 1

จ่ายโบนัสสูงสุด 8.8 เดือน ส.อ.ท.จับมือศรีปทุมสำรวจค่าจ้างเอก

Posted: 06 Nov 2014, 14:36
by brid.siriwan
จ่ายโบนัสสูงสุด 8.8 เดือน ส.อ.ท.จับมือศรีปทุมสำรวจค่าจ้างเอกชน (ชมคลิป)


ส.อ.ท.เปิดผลสำรวจเอกชนปีนี้ปรับขึ้นค่าจ้างเฉลี่ย 5.4% โบนัสเฉลี่ย 2.5 เดือน บางแห่งจ่ายสูงถึง 8.8 เดือน ขณะที่อัตราการเข้า–ออก สูงเพราะต้องการค่าจ้างและสวัสดิการเพิ่มขึ้น

นายพงษ์เดช ศรีวชิรประดิษฐ์ รองประธานสถาบันเสริมสร้างขีดความสามารถมนุษย์ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยว่า ส.อ.ท.ได้ร่วมมือกับมหาวิทยาลัยศรีปทุมทำการสำรวจค่าจ้างและสวัสดิการ ปี 2557/58 ซึ่งเป็นการวิจัยข้อมูลของผู้ใช้แรงงานและนายจ้างตามลักษณะผู้ประกอบการ ขนาดธุรกิจ พื้นที่และสวัสดิการจาก 147 แห่ง ของ 14 กลุ่มอุตสาหกรรม โดยคาดว่าในปีนี้แนวโน้มนายจ้างจะสามารถจ่ายโบนัสให้กับพนักงาน เฉลี่ยจำนวน 2.5 เดือน และบางแห่งอาจจ่ายได้สูงสุด 8.8 เดือน ขณะที่อัตราการเข้าออกของพนักงาน เฉลี่ยอยู่ที่ 17.77% โดยมีสาเหตุมาจากต้องการค่าตอบแทน สวัสดิการเพิ่มขึ้น

นายพงษ์เดชกล่าวว่า จากผลการสำรวจ ในเรื่องของค่าจ้างขั้นต้น สำหรับผู้ไม่มีประสบการณ์ จำแนกตามวุฒิ โดยเฉลี่ย พบว่าระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพ / ปวช. อยู่ที่ 9,485 บาทต่อเดือน ระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง / ปวส. 10,477 บาท ปริญญาตรี 14,148 บาท ปริญญาโท 20,403 บาท ปริญญาเอก 38,470 บาท

“เมื่อจำแนกตามสาขาวิชา พบว่า ระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพ / ปวช. ค่าจ้างเฉลี่ยสูงสุดสาขาช่างเทคนิคอยู่ที่ 9,530 บาทต่ำสุดสาขาคหกรรมศาสตร์ 9,194 บาท ระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง/ปวส. ค่าจ้างเฉลี่ยสูงสุดสาขาเกษตร– ศาสตร์ 10,581 บาท ต่ำสุดสาขาคหกรรมศาสตร์ 10,330 บาท ปริญญาตรี ค่าจ้างเฉลี่ยสูงสุดสาขาวิศวกรรมศาสตร์ 16,492 บาท ต่ำสุดสาขาคหกรรมศาสตร์ 13,037 บาท ระดับปริญญาโท ค่าจ้างเฉลี่ยสูงสุดสาขาเทคโนโลยีอาหาร 22,729 บาท ต่ำสุดสาขามนุษยศาสตร์/ศิลปศาสตร์/อักษรศาสตร์ 18,400 บาท ปริญญาเอกค่าจ้างสูงสุด บัญชี/การเงิน 40,250 บาท “

ขณะเดียวกัน หากจำแนกตามกลุ่มอุตสาหกรรมพบว่าประกาศนียบัตรวิชาชีพ/ปวช. ค่าจ้างเฉลี่ยสูงสุดกลุ่มอุตสาหกรรมชิ้นส่วนและอะไหล่ยานยนต์ 10,035 บาท ต่ำสุดกลุ่มอุตสาหกรรมอัญมณีและเครื่องประดับ 8,633 บาท ประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง/ปวส. สูงสุดกลุ่มอุตสาหกรรมเหล็กและอะลูมิเนียม 11,530 บาท ต่ำสุดกลุ่มพลาสติก 9,887 บาท ระดับปริญญาตรี สูงสุดกลุ่มผู้ผลิตไฟฟ้าและพลังงานทดแทน 15,975 บาท ต่ำสุดกลุ่มอุตสาหกรรมอัญมณีและเครื่องประดับ 12,762 บาท ระดับปริญญาโท สูงสุดกลุ่มอุตสาหกรรมชิ้นส่วนและอะไหล่ยานยนต์ 22,617 บาท และต่ำสุดกลุ่มผู้ผลิตไฟฟ้าและพลังงานทดแทน 18,083 บาท

สำหรับค่าจ้างผู้มีประสบการณ์โดยเฉลี่ยรวม พบว่า ระดับปฏิบัติการ 11,893 บาท ระดับเจ้าหน้าที่ 17,721 บาท ระดับผู้ชำนาญการวิชาชีพ 26,819 บาท ผู้บริหารงานระดับต้น 34,803 บาท ผู้บริหารงานระดับกลาง 63,888 บาท และผู้บริหารงานระดับสูง 127,547 บาท

ทั้งนี้ เมื่อเปรียบเทียบค่าจ้างขั้นต้น สำหรับผู้ไม่มีประสบการณ์จำแนกตามวุฒิ ระหว่างปี 2557 กับปี 2556 ปรากฏว่า ระดับ ปวช. ปวส. ปริญญาตรี ในภาคอุตสาหกรรมเมื่อเทียบกับปริญญาโท ปริญญาเอก พบว่า อัตราการเปลี่ยนแปลงค่าจ้างไม่เพิ่มขึ้น โดย ปวช. 0.08% ปวส. 0.03% ปริญญาตรี 0.12% แต่ ปริญญาโท ปริญญาเอก กลับเพิ่มขึ้นสูง โดยปริญญาโท 6.43% และปริญญาเอก 47.29%.


ที่มา ไทยรัฐฉบับพิมพ์
วันที่ 6 พ.ย. 2557