Page 1 of 1

“ปรีดิยาธร” กระตุ้นเศรษฐกิจวืด

Posted: 07 Nov 2014, 15:26
by brid.siriwan
“ปรีดิยาธร” กระตุ้นเศรษฐกิจวืด


ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล รองนายกรัฐมนตรี กล่าวปาฐกถาพิเศษ ในหัวข้อ “เศรษฐกิจไทย ปี 2558 ฟื้นหรือฟุบ” จัดโดยสมาคมเศรษฐศาสตร์แห่งประเทศไทยและคณะพัฒนาการเศรษฐกิจ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) ว่า ภาพรวมของเศรษฐกิจไทยปี 2558 ผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (จีดีพี) จะขยายตัวเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับปีนี้ไม่น้อยกว่า 4% เนื่องจากปี 2557 เศรษฐกิจไทยมีฐานการขยายตัวที่ต่ำจากภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัวจากการเบิกจ่ายงบประมาณภาครัฐที่ชะงักมาตั้งแต่เดือน พ.ย.2556 จนถึงเดือน พ.ค.2557 รวมทั้งภาวะเศรษฐกิจในต่างประเทศทั้งสหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น และสหภาพยุโรป ยังไม่ฟื้นตัวชัดเจน ทำให้ประเทศไทยไม่สามารถพึ่งพาการส่งออกได้

ทั้งนี้ แม้รัฐบาลจะมีมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ แต่พบว่าหลังจากประกาศมาตรการไปแล้ว ยังไม่เกิดผลกระทบต่อเศรษฐกิจรวดเร็วอย่างที่คิดไว้เหมือนกับกดปุ่มแล้วงานไม่เดิน ซึ่งเป็นผลจากเม็ดเงินงบประมาณไตรมาส 1 ของปีงบประมาณ 58 วงเงิน 140,000 ล้านบาท มีการขออนุมัติเบิกจ่ายล่าช้า เนื่องจากหน่วยงานราชการบางส่วนยังไม่ขอขยายระยะเวลาเสนอโครงการและการจัดซื้อจัดจ้างไม่แล้วเสร็จและเพิ่งเซ็นอนุมัติโครงการต่างๆไปเพียง 14,000 ล้านบาทเท่านั้น ซึ่งถือว่าน้อยกว่าเป้าหมายเดิม ขณะที่งบประมาณกระตุ้นเศรษฐกิจอีก 23,000 ล้านบาท ซึ่งต้องการให้เกิดการจ้างงานในชนบท ด้วยการซ่อมแซมสถานศึกษาและสถานที่ราชการมีงบประมาณ 15,000 ล้านบาท เป็นเงินจากโครงการไทยเข้มแข็ง ซึ่งรัฐบาลต้องทำเรื่องแจ้งให้สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) รับทราบก่อนถึงจะเบิกจ่ายได้ คาดว่าเงินส่วนนี้จะเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจได้ต้องใช้เวลา 1—2 สัปดาห์
ช่วยเหลือชาวนา อีกหนึ่งมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ


“การเบิกจ่ายงบประมาณกระตุ้นเศรษฐกิจยอมรับว่ามีความล่าช้า เนื่องจากมีขั้นตอนทางราชการอยู่ แต่ก็ไม่เสียเปล่า เพราะยังจะมีผลต่อการกระตุ้นเศรษฐกิจได้ เมื่องบไทยเข้มแข็งผ่าน สนช.เงินก็จะเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจในช่วงเดือน ธ.ค. ช่วงชาวนาเกี่ยวข้าวเสร็จพอดี ก็จะมีเงินจ้างงานต่อเนื่อง ทำให้ชนบทมีกำลังซื้อ ส่วนงบลงทุนไตรมาส 1 ที่ล่าช้า ก็จะเบิกจ่ายได้เต็มที่ ช่วงเดือน ม.ค.58 ก็จะส่งผลดีต่อเศรษฐกิจและจะช่วยดันเศรษฐกิจขยายตัวเกิน 4% เนื่องจากการลงทุนภาครัฐจะเป็นตัวนำเศรษฐกิจได้เต็มและทุกฝ่ายเร่งรัดอย่างเต็มที่”

ม.ร.ว.ปรีดิยาธรกล่าวถึงมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจด้วยการจ่ายเงินช่วยเหลือชาวนาไร่ละ 1,000 บาท รายละไม่เกิน 15,000 บาทว่า มาตรการนี้ใช้เงิน 40,000 ล้านบาท ช่วยเหลือชาวนาทั้งระบบได้กว่า 3.4 ล้านราย ซึ่งต่างจากโครงการรับจำนำข้าวใช้เงินหลายแสนล้านบาท อย่างไรก็ตาม วิธีนี้เงินถึงมือชาวนาล้วนๆ มั่นใจได้ว่าจะไม่มีใครมาเกาะหลังชาวนาหากินเหมือนที่ผ่านมาอีก เพราะเงินโอนเข้าบัญชีของชาวนาโดยตรง ส่วนการออก พันธบัตรมาใช้หนี้รับจำนำข้าวนั้น ต้องรอผลสรุปของคณะอนุกรรมการปิดบัญชี ว่ารัฐบาลเดิมทำมาเสียหายเท่าใด จากนั้นจึงมาดูเรื่องออกพันธบัตรได้.


ที่มา ไทยรัฐฉบับพิมพ์
วันที่ 7 พ.ย. 2557