Page 1 of 1

รัฐเปิดร่างพ.ร.บ.ภาษีมรดก วัดใจครม.ท็อปบู๊ตไฟเขียว!

Posted: 10 Nov 2014, 14:45
by brid.siriwan
รัฐเปิดร่างพ.ร.บ.ภาษีมรดก วัดใจครม.ท็อปบู๊ตไฟเขียว!

ในที่สุด...กระทรวงการคลังก็ตัดสินใจ! นำร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ภาษีมรดก เข้าสู่การพิจารณาของ ครม.ในวันที่ 11 พ.ย.นี้

ในที่สุด...กระทรวงการคลังก็ตัดสินใจ! นำร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ภาษีมรดก เข้าสู่การพิจารณาของ ครม.ในวันที่ 11 พ.ย.นี้ แม้ว่าร่างกฎหมายฉบับนี้จะเป็นการนำร่างฯเก่ามาปัดฝุ่นใหม่ หลังจากถูกทิ้งขว้างมานานกว่า 20 ปี เพราะมั่นใจว่า “รัฐบาลประยุทธ์ 1” เอาจริงในเรื่องนี้แน่!

“รัฐบาลท็อปบู๊ต” เดินหน้า

’ร่าง พ.ร.บ.ภาษีมรดก“ เป็นกฎหมายภาษีตัวแรก...ที่นำมาใช้เพิ่มประสิทธิภาพการจัดเก็บรายได้ของภาครัฐ และช่วยลดความเหลื่อมล้ำของรายได้ สร้างความเป็นธรรมให้กับสังคมไทย แต่...ยังเป็นโจทย์ที่ท้าทายว่า ’รัฐบาลท็อปบู๊ต“ จะตัดสินใจเคาะอัตราภาษีที่เท่าใด จากที่ร่างกฎหมายฉบับนี้ได้กำหนดอัตราสูงสุดไว้ที่ 10% หลังจากที่ยังมีข้อโต้แย้งในหลายฝ่าย เบื้องต้นฟันธง!ได้เลยว่า ไม่ว่าครม.จะเคาะอัตราภาษีที่เท่าใด แต่กฎหมายฉบับนี้ต้องคลอดออกมาภายในกลางปีหน้าแน่นอน เพราะถือเป็นหนึ่งในนโยบายที่แถลงไว้ต่อสภานิติบัญญัติแห่งชาติ หรือ สนช.

ต้องยอมรับว่ารัฐบาลบิ๊กตู่ มีการวางรากฐานโครงการลงทุนมหาศาล โดยเฉพาะเมกะโปรเจคท์ ดังนั้นการหารายได้ เป็นสิ่งสำคัญ นอกเหนือจากการกู้เงินมาลงทุน ทั้งนี้รัฐบาลพยายามลดในเรื่องการกู้เงิน เพื่อไม่ให้โดนโจมตีว่าเป็นการสร้างหนี้ให้กับลูกหลาน เหมือนกับโครงการลงทุน 2 ล้านล้านบาท ของรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ซึ่งอาจต้องใช้หนี้ไปถึงลูกหลาน เหมือนกับโครงการรับจำนำข้าว ที่ขาดทุนเฉียดล้านล้านบาท และภาระหนี้ของประเทศในขณะนี้ การเก็บภาษีมรดก จึงเป็นอีกทางเลือกหนึ่งในหลายภาษี ที่รัฐบาลกำลังมีการปฎิรูปการจัดเก็บใหม่ทั้งระบบ

อัตราภาษีสูงสุด 10%

ทั้งนี้สาระสำคัญของร่าง พ.ร.บ.ภาษีมรดก ประกอบด้วย เก็บจากผู้รับมรดกเท่านั้น, กำหนดเพดานอัตราการจัดเก็บภาษีสูงสุดไว้ที่ 10%, จัดเก็บจากทรัพย์สินที่มีทะเบียนมีมูลค่าเกินว่า 50 ล้านบาทขึ้นไป หากผู้รับยังไม่มีเงินมาจ่ายภาษีสามารถผ่อนชำระได้ 2-3 ปี โดยไม่คิดดอกเบี้ย พร้อมทั้งกฎหมายจะปิดทางการตั้งนอมินีมารับมรดกแทนญาติเพื่อเลี่ยงภาษี และหากโอนก่อนผู้ตายเสียชีวิต 2 ปี ต้องเสียภาษีมรดก เพื่อป้องกันการถ่ายโอนทรัพย์สิน ประกอบกับร่างกฎหมายดังกล่าวจะมีข้อยกเว้น เช่น กรณีที่คู่สมรส ฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดเสียชีวิต หากสามีเสียชีวิต ภรรยาผู้รับมรดกไม่ต้องเสียภาษี หรืออาจนำหนี้สินของผู้ตายมาหักลบทรัพย์สินก่อนการเสียภาษี, การยกเว้นกรณีที่เป็นที่ดินชาวนาหรือเกษตรกร หรือบิดาเป็นเกษตรกรเสียชีวิต ที่ดินตกเป็นของบุตรไม่ต้องเสียภาษี

จากการที่ภาษีมรดกนั้นมีหลักการที่เก็บจากคนรวย ดังนั้นจึงไม่มีผลกระทบต่อคนที่มีรายได้น้อย เพราะกำหนดเริ่มจัดเก็บภาษีที่เกินกว่า 50 ล้านบาทขึ้นไป เนื่องจากปัจจุบันประเทศไทยต้องเพิ่มสัดส่วนงบประมาณค่าใช้จ่ายให้สูงขึ้น โดยเฉพาะด้านการศึกษา ด้านสาธารณสุข และโครงสร้างพื้นฐานของประเทศ เพื่อตอบสนองความต้องการขั้นพื้นฐานของประชาชนและพัฒนาประเทศ รวมทั้งยังเป็นความจำเป็นที่ต้องปรับภาษีเพื่อหารายได้เข้ามาพัฒนาคุณภาพชีวิตประชาชนให้ดีขึ้นด้วย

ยันไม่กระทบคนจน

ต้องยอมรับว่าที่ผ่านมา...ผู้รับโอนมรดกไม่ได้มีการเสียภาษีให้รัฐ ไม่ว่าจะเป็นในกรณีการโอนมรดกให้ก่อนเสียชีวิต หรือการโอนมรดกให้หลังจากเสียชีวิตไปแล้ว แต่เมื่อมีกฎหมายออกมา ก็ต้องมีการเสียภาษีมรดกที่เจ้าของมรดกโอนให้ผู้รับมรดก หลังจากเสียชีวิตไปแล้ว ขณะเดียวกันเพื่อให้เรื่องนี้มีความคืบหน้าหรือสามารถเดินต่อไปได้ โดยไม่มีการขัดแข้งขัดขาจากบรรดาผู้เสียประโยชน์ ก็ถือว่า..ช่วงนี้ เป็นจังหวะที่ดี ไม่เช่นนั้น คงเป็นการยากที่จะผลักดันอีกครั้ง โดยการเก็บภาษีมรดกตามนโยบายของรัฐบาล จะไม่กระทบกับคนยากจน และผู้มีรายได้น้อยที่ได้รับมรดกตกทอด โดยเฉพาะชาวนา ที่ได้รับมรดกเป็นที่นาเพียงไม่กี่ไร่ ก็ไม่ต้องเสียภาษีมรดก เพราะกฎหมายฉบับนี้ ต้องไม่กระทบกับการกระจายรายได้ฐานราก เพื่อให้คนจนหรือรายได้น้อยมีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น

บ้าน-ที่ดิน-เงินฝาก

สำหรับประเภทมรดกที่เข้าข่ายจะต้องเสียภาษี เบื้องต้นจะเก็บจากทรัพย์สินที่ลงทะเบียนเอาไว้อย่างชัดเจน เพราะสามารถตีราคาสินทรัพย์ที่เป็นปัจจุบันได้ ทำให้สะดวกคำนวณราคา และคำนวณภาษี เช่น บ้าน ที่ดิน รถยนต์ เงินฝากในบัญชีของธนาคาร พันธบัตร ตราสาร และหุ้น เป็นต้น ส่วนทรัพย์สินที่ไม่ได้ลงทะเบียน เช่น เครื่องประดับ พระเครื่องและวัตถุโบราณ เป็นต้น จะไม่นำมาคำนวณในการเก็บภาษีมรดกแต่อย่างใด

แก้ ก.ม. การรับการให้

ขณะเดียวกัน กระทรวงการคลังได้แก้ไขประมวลรัษฎากรของกรมสรรพากร เรื่อง “ภาษีการรับการให้” ให้ออกมาเป็นคู่แฝดกับภาษีมรดก เพื่อไม่ให้มีการหลีกเลี่ยงการเสียภาษี เพราะแต่เดิมได้ยกเว้นเก็บภาษีให้ในหลายกรณี เช่น มีทรัพย์สินอยู่ 120 ล้านบาท แต่โอนให้ลูก 70 ล้านบาท ทำให้เหลือ 50 ล้านบาท จึงทำให้ไม่ต้องเสียภาษี แต่เมื่อแก้ประมวลรัษฎากรแล้ว ต้องเสียภาษี 10% ทุกกรณี ถือว่าเป็นการล้อมคอกการถ่ายโอนทรัพย์อย่างเต็มรูปแบบ โดยเฉพาะนักการเมือง หรือเศรษฐี เพราะหากหลีกเลี่ยงจากภาษีมรดก สุดท้ายก็ต้องเสียภาษีการรับและการให้ อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ที่สำคัญ...ยังถูกจัดเก็บแบบเต็มเพดานที่ 10% อีกต่างหาก

อย่างไรก็ตามเมื่อ ครม.เห็นชอบร่างกฎหมายภาษีมรดกและภาษีภารรับการให้แล้วต้องส่งให้ สนช.พิจารณาโดยใช้เวลาประมาณ 3 เดือนก่อนประกาศมีผลบังคับใช้ภายในปี 58 เมื่อกฎหมายมีผลบังคับใช้แล้ว จะมีเวลายกเว้นการเก็บภาษีให้อีก 3 เดือน เพื่อให้กรมสรรพากรมีเวลาเตรียมตัว เนื่องจากมีหน้าที่ในการจัดเก็บภาษีมรดกอย่างเต็มตัว เท่ากับว่าการปฏิบัติจริงน่าจะเกิดขึ้นภายในปี 59

ชี้ยังมีข้อจำกัด

แต่การจัดเก็บภาษีมรดกยังมีข้อจำกัด โดยเฉพาะข้อมูลเกี่ยวกับทรัพย์สินมรดก เนื่องจากไม่มีการตรวจสอบและรับรู้ว่าแต่ละบุคคลในประเทศมีทรัพย์สินมากน้อยเพียงใด และเกิดการโยกย้ายทรัพย์สินหรือไม่ แม้อดีตมีการศึกษาการเก็บภาษีมรดกหลายครั้ง แต่ได้ข้อสรุปว่าการเก็บภาษีนี้อาจทำให้รัฐมีรายได้ไม่มาก เพราะการประเมินมูลค่าทรัพย์สินทำได้ยาก และไม่คุ้มค่ากับผลกระทบในเชิงสังคมที่อาจจะเกิดขึ้น ซึ่งเป็นสิ่งที่กรมสรรพากรต้องเร่งตรวจสอบรายได้หรือทรัพย์สิน เพื่อให้การจัดเก็บภาษีมีประสิทธิภาพมากขึ้น แม้จากผลการศึกษาที่ผ่านมาจะระบุไว้ที่ปีละ 3,000-4,000 ล้านบาท ซึ่งจะได้ไม่เสียเปล่าในการออกเป็นกฎหมาย เพราะหากไม่สามารถรับรู้ข้อมูลได้อย่างแท้จริง แม้มีกฎหมายก็คงไม่มีความหมาย!

สุดท้ายแล้ว ’ร่าง พ.ร.บ.ภาษีมรดก“ จะช่วยลดความเหลื่อมล้ำของรายได้ สร้างความเป็นธรรมให้กับสังคมไทย ตามนโยบายรัฐบาลได้หรือไม่ คงต้องรอดูว่าทั้งครม.และสนช.จะเคาะกฎหมายฉบับนี้ออกมาเป็นอย่างไร?.

วุฒิชัย มั่งคั่ง

ที่มา เดลินิวส์
วันที่10 พฤศจิกายน 2557