Page 1 of 1

เยือนเยอรมันดูเหมืองโปแตซ

Posted: 12 Nov 2014, 09:50
by brid.siriwan
เยือนเยอรมันดูเหมืองโปแตซ

หม่อมอุ๋ย” นำทีมเยือนเยอรมันดูเทคโนโลยีทำเหมือง ก่อนชงครม.เดินหน้าเหมืองแร่โปแตซอาเซียน นำร่อง จ.ชัยภูมิ ช่วยลดนำเข้าปีละ 7 หมื่นล้านบาท

นายจักรมณฑ์ ผาสุกวนิช รมว.อุตสาหกรรม เปิดเผยว่า วันที่ 16 พ.ย.นี้ จะเดินทางร่วมกับม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล รองนายกรัฐมนตรีฝ่ายเศรษฐกิจ เยือนประเทศเยอรมนี เพื่อศึกษาดูเทคโนโลยีการทำเหมืองแร่โปแตซก่อนนำมาสรุปรายละเอียดทั้งหมด เสนอที่ประชุมครม. ประกอบการตัดสินใจเดินหน้าพัฒนาเหมืองแร่โปแตซในไทย โดยเฉพาะโครงการของ บริษัท เหมืองแร่โปแตชอาเซียน จำกัด (มหาชน) ซึ่งเป็นโครงการร่วมทุนระหว่างประเทศอาเซียน ที่เกิดขึ้นในไทยตั้งแต่อดีตมากว่า 20 ปีแล้ว

“ โครงการนี้นานมากแล้วปัจจุบันก็มีการเปลี่ยนการถือหุ้นเป็นเอกชนไปพอสมควรแต่คลังยังถือหุ้นอยู่ ล่าสุดได้จัดทำรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อม (อีไอเอ) เรียบร้อยและอยู่ระหว่างรับฟังความเห็น ซึ่งโปแตซฯที่ จ.ชัยภูมิ ไม่มีปัญหาเรื่องชุมชนต่อต้าน แต่ที่ประชุมครม.เอง ห่วงเรื่องผลกระทบการผลิตจะได้เกลือออกมาค่อนข้างมาก โดยต้องเทกองไว้ก่อน ซึ่งเทคโนโลยีของประเทศเยอรมัน ที่ทันสมัยสุด จะมีวิธีอัดกลับลงไปใต้ดิน แต่ก็ห่วงว่า กว่าจะอัดลงไปจะใช้เวลาถึง 3 ปี ซึ่งก็ต้องมาดูว่า ที่ต้องเทกองไว้แน่ใจได้แค่ไหนว่า จะไม่มีผลกระทบจริงๆ โดยทางเยอรมันเองเขาก็สนใจจะร่วมทุนด้วย”

อย่างไรก็ตามภาครัฐมองถึงประโยชน์ของโครงการดังกล่าว ที่จะผลิตแร่โปแตซ ที่จะนำมาผลิตปุ๋ย ซึ่งปัจจุบันไทยต้องนำเข้าถึง 70,000 ล้านบาทต่อปี และยังมีราคาสูง หากที่ประชุมครม.อนุมัติ และเห็นชอบกระทรวงอุตสาหกรรม จะพิจารณาอนุมัติการให้สัมปทาน คาดว่าภายในปี 58 น่าจะเริ่มดำเนินการได้ เชื่อว่า จะเป็นประโยชน์อย่างมาก และหากมีการอนุมัติไปแล้ว

พบว่า ประสบปัญหา สามารถประกาศระงับการดำเนินการได้เช่นกัน

“ ตอนนี้ประเทศลาว ซึ่งมาทีหลังไทย เริ่มทำเหมืองแร่โปแตซออกมาแล้ว แต่ไทยเอง แม้เกิดมานานแล้ว แต่ยังทำไม่ได้เลย ก็อายเขาเหมือนกัน จะพยายามดูให้ดีที่สุดสำหรับประเทศ ซึ่งที่ชัยภูมินี้จะผลิตโปแตซได้ประมาณ 60 ล้านตัน แต่ปริมาณเกลือที่ได้จะมากถึง 2เท่า และเรายังมีโครงการที่จ.อุดรธานี และยังมีแหล่งที่นครราชสีมาและสกลนครอีก ถือว่าเรามีแหล่งที่จะพัฒนามากแต่ก็ยังไม่เกิดเสียที”

น.ส.อารมณ์ คำจริง ผู้ประสานงานกลุ่มสิ่งแวดล้อม อ.เนินมะปรางค์ จ.พิษณุโลก กล่าวว่า วันที่ 11 พ.ย. จะร่วมกับประชาชนจาก จ.พิษณุโลก จ.สระบุรี จ.ลพบุรี และจ.เพชรบูรณ์รวม 30 คน นำหนังสือเข้ายื่นต่อ รมว.อุตสาหกรรม เพื่อให้เปิดเผยข้อมูลว่า ในการเซ็นอนุญาตออกประทานบัตรและอาชญาบัตรเหมืองแร่ไป 100 กว่าฉบับรอบที่ผ่านมาทั้งที่เข้ามาทำงานเพียงไม่กี่เดือนนั้น เป็นการอนุญาตในพื้นที่ใดบ้างและได้ดำเนินการอย่างรอบคอบหรือไม่ ซึ่งประชาชนใน จ.พิษณุโลกมีความกังวลว่า หากมีการอนุญาตให้ทำเหมืองแร่ทองคำแล้ว จะสร้างผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม สุขภาพของประชาชน รวมถึงการถูกไล่ที่ เพราะในพื้นที่ที่มีแนวโน้มว่าจะเป็นเหมืองทองคำในจ.พิษณุโลก 70,000 ไร่นั้น มีประชาชนอาศัยอยู่ 8,000-9,000 ครัวเรือน หรือกว่า 40,000 คนส่วนใหญ่เป็นที่ไม่มีเอกสารสิทธิ์

ที่มา เดลินิวส์
วันที่ 10 พฤศจิกายน 2557