Page 1 of 1

“อินเดีย ตุรกี ปากีสถาน” บล็อกข้อมูลบนเฟซบุ๊กสูงสุด

Posted: 12 Nov 2014, 11:03
by brid.siriwan
“อินเดีย ตุรกี ปากีสถาน” บล็อกข้อมูลบนเฟซบุ๊กสูงสุด
เฟซบุ๊ก เผยการปิดกั้นข้อมูลบนเฟซบุ๊กเพิ่ม 19 เปอร์เซ็นต์ตลอดช่วง 6 เดือนสุดท้ายของปี ค.ศ.2013-6 เดือนแรกของปี ค.ศ.2014 โดยมีประเทศที่มีพลเมืองมากเป็นอันดับต้นๆ ของโลกอย่างอินเดียครองสถิติผู้นำ

จากการเปิดเผยของเฟซบุ๊ก ระบุว่า บริษัทต้องระงับการเผยแพร่คอนเทนต์ 4,960 ชิ้นในอินเดีย (ช่วงระหว่างเดือนมกราคม-มิถุนายน 2014) โดยมีตุรกี และปากีสถาน ตามมาห่างๆ (1,893 ชิ้น และ 1,773 ชิ้น ตามลำดับ) ซึ่งอาจกล่าวได้ว่า หลังจากทั้ง 3 ประเทศนั้นไปแล้ว อันดับที่ 4 อย่างเยอรมนี การปิดกั้นข้อมูลบนเฟซบุ๊กแทบจะกลายเป็นเรื่องเล็กน้อยไปเลย เพราะมีเพียง 34 ครั้งเท่านั้น

ทั้งนี้ โฆษกของเฟซบุ๊ก เผยว่า ทางบริษัทจะเข้าควบคุมการเข้าถึงเนื้อหาบนเฟซบุ๊กเฉพาะในกรณีที่ผิดกฎหมายของประเทศนั้นๆ เท่านั้น ซึ่งทางเฟซบุ๊กไม่มีการเปิดเผยว่ารายละเอียดของข้อมูลที่ถูกปิดกั้นการเข้าถึงนั้นเป็นอย่างไร รวมถึงกฎหมายที่ทำให้ต้องยุติการเผยแพร่ข้อมูลต่างๆ ระบุว่าอย่างไรด้วย

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ Zeynep Tufecki จากมหาวิทยาลัยนอร์ธแคโรไลนา เสนอความเห็นว่า เฟซบุ๊กควรออกมาเปิดเผยถึงคอนเทนต์ที่ถูกเซ็นเซอร์ เพราะเป็นสิ่งที่ตนเองต้องการทราบ รวมถึงต้องการให้มีการยุติการเซ็นเซอร์ข้อมูลเพื่อความโปร่งใสในการใช้งาน

อย่างไรก็ดี สิ่งที่พบจากกรณีของอินเดีย ตุรกี และปากีสถาน อาจเป็นตัวอย่างของอุปสรรคใหญ่ที่เฟซบุ๊กต้องเผชิญ หากต้องการให้จำนวนผู้ใช้งานเพิ่มมากขึ้น ซึ่งการบุกตลาดในประเทศที่เสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นมีไม่มากนั้น บางครั้งการยอมประนีประนอมต่อหน่วยงานภาครัฐเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้

นอกจากนั้น จากการร่วมมือกับรัฐบาลในประเทศต่างๆ เหล่านี้ปิดกั้นข้อมูล อาจทำให้มีแนวโน้มด้านความรู้สึกของผู้ใช้งานว่า เฟซบุ๊กให้ความสำคัญต่อรัฐบาลต่างๆ มากเกินไป ซึ่งในกรณีนี้ เฟซบุ๊กจึงตกอยู่ในสถานะคนกลางที่ต้องพยายามรักษาระยะห่าง และนโยบายของตนเองให้เดินไปด้วยกันได้ดีที่สุด ไม่เช่นนั้นอาจเจอกรณีการบล็อก เหมือนเช่นที่เคยเจอรัฐบาลปากีสถานบล็อกเฟซบุ๊กไปเมื่อปี ค.ศ.2010


ที่มา ASTVผู้จัดการออนไลน์
วันที่ 11 พฤศจิกายน 2557