Page 1 of 1

โลกกำลังจะขาดแคลนช็อกโกแลต

Posted: 18 Nov 2014, 13:06
by brid.siriwan
โลกกำลังจะขาดแคลนช็อกโกแลต

บริษัทผู้ผลิตช็อกโกแลตรายใหญ่ของโลก 2 แห่งออกมาเตือนพร้อมกันว่า ช็อกโกแลตกำลังจะหมดไปจากโลก เนื่องจากสภาพแวดล้อมในปัจจุบันและความต้องการที่เพิ่มสูงขึ้น ส่งผลต่อกำลังการผลิตและเป็นปัจจัยดันราคาเมล็ดโกโก้ในตลาดโลกให้เพิ่มสูงขึ้นด้วย

สำนักข่าวต่างประเทศรายงานจากเมืองแมคคลีน รัฐเวอร์จิเนีย ประเทศสหรัฐอเมริกา เมื่อวันที่ 17 พ.ย. ว่าแบร์รี กัลเลอโบต์ บริษัทผู้ผลิตช็อกโกแลตอันดับ 1 ของโลกจากสวิตเซอร์แลนด์ และมาร์ส อิงค์ บริษัทผู้ผลิตช็อกโกแลตชื่อดังระดับโลกจากสหรัฐ ออกแถลงการณ์ร่วมกันเมื่อวันอาทิตย์ ว่าตั้งแต่ปีที่แล้วเกษตรกรผู้ปลูกโกโก้และบริษัทผลิตขนมหวานหลายแห่งในโลกประสบปัญหาไม่สามารถผลิตเมล็ดโกโก้และช็อกโกแลตได้เพียงพอต่อความต้องการของผู้บริโภค

ทั้งนี้ ราคาเมล็ดโกโก้ในตลาดโลกระหว่างปี 2536-2550 อยู่ที่ราว 1,465 ดอลลาร์สหรัฐต่อตัน ( ราว 48,345 บาท ) แต่นับจากนั้นเป็นต้นมา ราคากลับเพิ่มสูงขึ้นถึงร้อยละ 87 มาเป็นตันละ 2,736 ดอลลาร์สหรัฐ ( ราว 90,288 บาท ) ซึ่งปัจจัยที่ส่งผลกระทบต่อศักยภาพในการผลิตโกโก้ คือสภาพอากาศที่เปลี่ยนไปจากภาวะโลกร้อน และโรคระบาด โดยเฉพาะในประเทศแถบตะวันตกของแอฟริกา คือไอวอรีโคสต์และกานา 2 ประเทศซึ่งผลิตโกโก้รวมกันมากกว่าร้อยละ 70 ของผลิตผลโกโก้ทั้งหมดต่อปีในโลก และความต้องการช็อกโกแลตดำ หรือดาร์กช็อกโกแลตที่เพิ่มสูงขึ้น ซึ่งช็อกโกแลตชนิดนี้มีเมล็ดโกโก้เป็นส่วนประกอบร้อยละ 70

สถิติของสมาคมโกโก้นานาชาติ ( ไอซีซีโอ ) ซึ่งมีสำนักงานใหญ่อยู่ในกรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ ระบุเมื่อปีที่แล้วประชากรโลกบริโภคโกโก้มากเกินศักยภาพในการผลิตของผู้ประกอบการราว 70,000 เมตริกตัน หากสถิติยังคงเป็นเช่นนี้ต่อไป ภายในปี 2563 ส่วนต่างดังกล่าวอาจเพิ่มขึ้นเป็น 1 ล้านเมตริกตัน ก่อนเพิ่มขึ้นอีกเป็น 2 ล้านเมตริกตันภายในปี 2573 โดยจีนเป็นประเทศที่มีอัตราการบริโภคช็อกโกแลตเพิ่มขึ้นมากที่สุด คิดเป็นต่อหัวประชากรแล้วมากกว่าชาวตะวันตกราวร้อยละ 5

สถานการณ์ที่เกิดขึ้นในตลาดโลกส่งผลให้ผู้ผลิตส่วนใหญ่ไม่มีทางเลือกมากนัก นอกจากการปรับขึ้นราคาสินค้า หรือลดต้นทุนการผลิต ด้วยการลดปริมาณโกโก้ในช็อกโกแลต แล้วเพิ่มส่วนประกอบอื่นเข้าไปเป็นตัวเสริมรสชาติแทน ไม่ว่าจะเป็นถั่วหรือผลไม้อบแห้ง ซึ่งทั้งสองทางเลือกได้รับเสียงตอบรับจากผู้บริโภคคละเคล้ากันไป แต่ผู้ผลิตจำนวนมากยอมรับจำเป็นต้องใช้วิธีดังกล่าว ตราบใดที่ยังเป็นเครื่องมือควบคุมไม่ให้ส่วนต่างระหว่างอุปสงค์กับอุปทานกว้างไปกว่านี้ได้

ที่มา เดลินิวส์
วันที่ 17 พฤศจิกายน 2557