Page 1 of 1

พนักงานไม่ชอบฝ่ายบุคคล เพราะรู้สึกว่าเป็นหูเป็นตาของเจ้านาย

Posted: 18 Nov 2014, 14:51
by brid.siriwan
พนักงานไม่ชอบฝ่ายบุคคล เพราะรู้สึกว่าเป็นหูเป็นตาของเจ้านาย คอยจับผิด โดย อ.อภิวุฒิ พิมลแสงสุริยา

อ.อภิวุฒิ พิมลแสงสุริยา กรรมการบริหาร สลิงชอทกรุ๊ป
Q: พนักงานในระดับปฏิบัติการ จะรู้สึกไม่อยากสื่อสารกับ HR เพราะรู้สึกเหมือนเป็นฝ่ายปกครองของโรงเรียน โดนตรวจสอบตลอดเวลา ทั้งการแต่งกาย การพูดจาและ การปฏิบัติงาน ดังนั้น เมื่อ HR มาขอความร่วมมือ พนักงานมักจะต่อต้านในทันที จะแก้ภาพลักษณ์ตรงนี้ต้องทำยังไงบ้าง

A: ผมเข้าใจบรรยากาศและ ความรู้สึกแบบนี้เป็นอย่างดี สมัยที่เป็นพนักงานบริษัท ก็เคยรู้สึกเช่นนี้ กับ HR ในทางกลับกัน พอย้ายมารับผิดชอบงาน HR ก็ถูกมองแบบเดียวกัน

ความนึกคิดแบบนี้ ไม่ต่างจากความรู้สึกของเด็ก ที่มีต่อหมอฟัน หรือ นักธุรกิจที่มีต่อสรรพากร ดังนั้น สิ่งแรกที่ควรทำ คือ ปรับแนวทางการทำงาน จาก "ปราบปราม" เป็น "ป้องกัน" จาก "ตรวจจับ" เป็น "แนะนำ" เช่น แทนที่จะคอยตรวจจับว่า วันนี้มีพนักงานคนไหน แต่งกายไม่เหมาะสมมาทำงานบ้าง ก็เปลี่ยนเป็น การเดินสายแนะนำ วิธีการแต่งตัวที่เหมาะสม จัดอบรมเรื่องบุคลิกภาพ รวมถึง เสื้อผ้า หน้า ผม ด้วย เป็นต้น

จากนั้น ขอยืมนโยบาย "คืนความสุข" จากท่านนายกฯ มาประยุกต์ใช้

1. สื่อสารพูดคุย กับพนักงานบ่อยๆ ทั้งรูปแบบที่เป็นทางการและ ไม่เป็นทางการ เชื่อผม ไม่เคยมีองค์กรไหน เจ๊งเพราะสื่อสารมากไปเลย แม้แต่องค์กรเดียว

2. จัดกิจกรรมให้หน่วยงาน HR ผู้บริหาร และพนักงาน ได้มีโอกาสพบปะสังสรรค์กันนอกเหนือจากการทำงาน เพื่อเป็นการ "เติมความสุข" และ "ลดช่องว่าง" ระหว่างกัน

3. เปิดตัวโครงการ "HR สัญจร" เพื่อแก้ปัญหาที่พนักงาน ไม่อยากมาคุยกับ HR ด้วยการให้ HR ออกไปคุยกับพนักงานแทน

4. หยุดตอบพนักงาน และ ผู้บริหารสายงาน (Line Manager) ว่า "ไม่ได้" แต่ให้บอกว่า ถ้าจะทำให้ได้ ต้องทำอย่างไร เพราะผมเชื่อว่า ไม่มีอะไรที่ทำไม่ได้ เพียงแต่ทำแล้วคุ้มหรือไม่ และใครต้องเป็นคนอนุมัติ เท่านั้น

5. ปรับภาพลักษณ์ (Look) ของพนักงาน HR ใหม่ ให้ดูยิ้มแย้มแจ่มใส่และ พร้อมที่จะบริการ ด้วยวิธีการง่ายๆ คือ "ยิ้ม"

การเปลี่ยนแปลงครั้งนี้จะได้ผลก็ต่อเมื่อ

1. เริ่มต้นเปลี่ยนแปลงตัวเอง ก่อนคาดหวังให้คนอื่นเปลี่ยน
2. ทำทีละเล็กละน้อย แต่สม่ำเสมอ อย่าทำแบบไฟไหม้ฟาง
3. หมั่นตรวจสอบ รับฟังข้อมูลป้อนกลับ (Feedback) และ ประเมินผล
4. อย่าหยุด ทำไปเรื่อยๆ ต้องมีวันเริ่มต้น แต่ไม่มีวันสิ้นสุด

ถ้าพร้อมแล้ว ลงมือปฏิบัติได้เลย

อภิวุฒิ พิมลแสงสุริยา
apiwut@riverorchid.com


ที่มา ASTVผู้จัดการออนไลน์
วันที่ 14 พฤศจิกายน 2557