Page 1 of 1

นักวิจัยหญิงเอ็มเทคคว้าทุนลอรีอัล

Posted: 19 Nov 2014, 09:48
by brid.siriwan
นักวิจัยหญิงเอ็มเทคคว้าทุนลอรีอัล

ได้รับการคัดเลือกให้เป็น 1 ใน 5 นักวิจัยหญิงที่ได้รับทุนโครงการทุนวิจัยลอรีอัล ประเทศไทย “เพื่อสตรีในงานวิทยาศาสตร์” (For Women in Science) ประจำปี 2557

นักวิจัยหญิงเอ็มเทคคว้าทุนลอรีอัล พัฒนาแบตเตอรี่และเซลล์เชื้อเพลิง

สนใจวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ตั้งแต่เด็ก ๆ แถมมีโอกาสได้เริ่มต้นทำงานวิจัยระดับโลกตั้งแต่อายุเพียง 18 ปี

วันนี้..ด้วยประสบการณ์การวิจัยกว่า 20 ปี ทั้งในสถาบันการศึกษา เอ็มเทค และภาคเอกชน ทำให้ “ดร.พิมพา ลิ้มทองกุล” นักวิจัยหัวหน้าห้องปฏิบัติการวิจัยและพัฒนาวัสดุและระบบเพื่อใช้ประโยชน์ทางพลังงานจากไฟฟ้าเคมี ศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ (เอ็มเทค) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.)

ได้รับการคัดเลือกให้เป็น 1 ใน 5 นักวิจัยหญิงที่ได้รับทุนโครงการทุนวิจัยลอรีอัล ประเทศไทย “เพื่อสตรีในงานวิทยาศาสตร์” (For Women in Science) ประจำปี 2557 สาขาวัสดุศาสตร์จากงานวิจัยในหัวข้อ “การวิจัยพัฒนาวัสดุนำไฟฟ้าแบบผสมสำหรับแบตเตอรี่และเซลล์เชื้อเพลิง”

ดร.พิมพา เล่าว่า เริ่มสนใจวิทยาศาสตร์มาตั้งแต่เด็ก ๆ แต่อาจไม่รู้ตัว จนกระทั่งได้รับทุนจากกระทรวงวิทยาศาสตร์ในระดับปริญญาตรีถึงปริญญาเอก ไปศึกษาด้านวัสดุศาสตร์ ที่ประเทศสหรัฐอเมริกา มีโอกาสได้ทำงานวิจัยร่วมกับศาสตราจารย์ในโครงการต่าง ๆ ตั้งแต่เรียนปริญญาตรีปี 1 ที่มหาวิทยาลัยคอร์แนล ต่อมาได้ศึกษาต่อปริญญาโทและเอกที่สถาบันเทคโนโลยีแมสซาชูเซตส์ (เอ็มไอที) มุ่งเน้นงานวิจัยด้านวัสดุและระบบสำหรับพลังงานที่อาศัยปฏิกิริยาเคมีไฟฟ้า โดยเฉพาะด้านแบตเตอรี่และเซลล์เชื้อเพลิง

ซึ่งงานวิจัยที่ทำในช่วงปริญญาเอกนี้เอง ได้เป็นส่วนหนึ่งของเทคโนโลยีที่ถูกนำไปต่อยอดให้เกิดการก่อตั้งบริษัทแบตเตอรี่ที่เป็นที่รู้จักกันในระดับนานาชาติ คือ บริษัท A123Systems โดยวัสดุที่คิดค้นขึ้นช่วยส่งเสริมให้เกิดการใช้งานของแบตเตอรี่ประเภทลิเทียมไอออนอย่างกว้างขวาง ปัจจุบันถูกนำไปใช้งานในรถไฟฟ้าไฮบริด เครื่องมือช่างและแบตเตอรี่ขนาดใหญ่สำหรับระบบสำรองและควบคุมความเสถียรของไฟฟ้า

นอกจากนี้ระหว่างที่กลับมาทำงานที่เอ็มเทค ซึ่งมีทำงานต่อยอดความรู้เชิงลึก สถาบันเอ็มไอที ได้ขอตัวกลับไปช่วยร่วมพัฒนาแนวคิดใหม่ให้แบตเตอรี่มีประสิทธิภาพสูงขึ้น และกระบวนการผลิตที่มีราคาถูกลง ทีมวิจัยที่ร่วมทำด้วยประสบความสำเร็จอย่างสูงและนำไปสู่การก่อตั้งบริษัทพัฒนาแบตเตอรี่ใหม่อีกหนึ่งบริษัท คือ บริษัท 24 M Technologies,Inc ซึ่ง ดร.พิมพา เข้าไปมีส่วนร่วมในการก่อตั้งบริษัทในฐานะนักวิจัยและพัฒนาอาวุโส ระยะเวลา 2 ปีครึ่ง โดยร่วมออกแบบการจัดตั้งบริษัทตั้งแต่เริ่มต้นจนถึงการทำธุรกิจเชิงพาณิชย์ได้

ดร.พิมพา บอกว่า ขณะเรียนที่เอ็มไอที ได้คิดถึงงานวิจัยที่จะสามารถนำกลับมาใช้กับประเทศไทย จึงเลือกที่จะโฟกัสด้านพลังงาน ซึ่งทั่วโลกกำลังให้ความสำคัญกับการพัฒนาพลังงานทดแทน โดยเซลล์เชื้อเพลิงและแบตเตอรี่ ก็ถือเป็นอีกทางเลือกและองค์ประกอบสำคัญของพลังงานสะอาด

สำหรับงานวิจัยที่ได้รับทุนนี้ จะเน้นด้านการพัฒนาตัววัสดุสารประกอบเซรามิก และการขึ้นรูปให้ขั้วแบตเตอรี่และขั้วของเซลล์เชื้อเพลิงให้มีโครงสร้างทางจุลภาคที่เหมาะสม นำไอออนและอิเล็กตรอนได้ดี ก่อให้เกิดปฏิกิริยาที่ให้ไฟฟ้าได้อย่างรวดเร็ว และส่งผลให้ได้อุปกรณ์ผลิตและเก็บกักพลังงานที่มีประสิทธิภาพ มีกระแสไฟฟ้าที่สูง

ใช้เวลาในการชาร์จสั้น ใช้งานได้ยาวนานขึ้น ราคาถูกลง ซึ่งจะก่อให้เกิดการใช้พลังงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ คุ้มค่าสูงสุด และลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม

นักวิจัยหญิงเก่งบอกอีกว่า เมื่อก่อนหลายคนอาจจะไม่คุ้นกับเทคโนโลยีด้านวัสดุศาสตร์ ไม่รู้มีประโยชน์อย่างไรอย่างเช่น แบตเตอรี่ หลายคนคิดว่าเป็นเรื่องของเคมี แต่ไม่ใช่ เพราะหัวใจสำคัญของการทำให้แบตเตอรี่มีขนาดเล็ก เบาและถูกนั้น ก็คือเรื่องของวัสดุศาสตร์ที่เป็นการนำศาสตร์ต่าง ๆ มารวมเข้าด้วยกัน

สำหรับประเทศไทย เนื่องจากปัจจุบันเทคโนโลยีพื้นฐานด้านนี้ ยังมีน้อย ดังนั้นเป้าหมายอนาคตของห้องปฏิบัติการวิจัยและพัฒนาวัสดุและระบบเพื่อใช้ประโยชน์ทางพลังงานจากไฟฟ้าเคมี เอ็มเทค จะต้องทำตั้งแต่การสร้างวัสดุใหม่ ๆ ทดสอบ ออกแบบการนำไปใช้งานให้เหมาะสม ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องตรวจสอบด้านความปลอดภัยในการใช้งาน และต้องดูด้านผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมด้วย

เรียกว่าภารกิจนี้ต้องทำอย่างครบวงจรจริง ๆ.

นาตยา คชินทร
nattayap.k@gmail.com

ที่มา เดลินิวส์
วันที่ 19 พฤศจิกายน 2557