เปิดใจ “2 สม” ผู้บริหารใหญ่อินทัช-เอไอเอส

Post Reply
brid.siriwan
Posts: 3942
Joined: 05 Apr 2013, 08:47

เปิดใจ “2 สม” ผู้บริหารใหญ่อินทัช-เอไอเอส

Post by brid.siriwan »

เปิดใจ “2 สม” ผู้บริหารใหญ่อินทัช-เอไอเอส
สมประสงค์ บุญยะชัย และ สมชัย เลิศสุทธิวงศ์
เจาะใจ 2 ผู้บริหารใหญ่อินทัช-เอไอเอส “สมประสงค์ บุญยะชัย และ สมชัย เลิศสุทธิวงศ์” เชื่อการดีเลย์ 4G จะก่อให้เกิดความเสียหายต่อประเทศเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะการลงทุนในประเทศ ขณะที่เอไอเอสเตรียมแผนไว้รองรับระหว่างประคองตัว 18 เดือน เผยคู่แข่งคุยเครือข่ายครอบคลุมเป็นผู้นำล้วนแต่อยู่ในพื้นที่ของเอไอเอสทั้งสิ้น เดินหน้าเจรจาทีโอทีจับคู่ธุรกิจทั้งโมบาย และฟิกซ์ไลน์ ลั่นปีหน้าฝากอนาคตไว้ที่ 4G พร้อมประมูลความถี่เตรียมเงินกว่า 2 หมื่นล้านบาท ขณะที่ฟิกซ์ไลน์พร้อมทุ่ม 1 หมื่นล้านบาทสู้คู่แข่ง

นายสมประสงค์ บุญยะชัย ประธานกรรมการบริหาร กลุ่มอินทัช กล่าวว่า ปีหน้าเอไอเอสไม่ได้แย่อย่างที่หลายคนคิด ถึงแม้สัมปทานจะหมดอายุลงในปี 2558 อีกทั้งการประมูล 4G ยังไม่มีความคืบหน้า แต่เอไอเอสมีรายได้จากการให้บริการที่แน่นอน มีเงินสดพร้อมในมือ มีซีอีโอที่ดี สามารถระดมทุนในตลาดหลักทรัพย์ฯ ส่วนเรื่องการประมูลความถี่ 4G นั้น หากมองด้วยเหตุผลการประมูลจะเป็นผลดีมากกว่า ประเทศไทยยังมีความต้องการลงทุน การประมูลจะทำให้เงินเข้าประเทศทันที

เห็นได้ชัดจากการประมูล 3G ที่ผ่านมา เงินเข้าประเทศทันที และเมื่อเอกชนได้ใบอนุญาตก็ต้องสร้างเน็ตเวิรก์ก่อให้เกิดการจ้างงานขึ้นอย่างกว้างขวาง อุตสาหกรรมอื่นๆ จะเติบโตตามไปด้วย อย่างแรก คนทำงานต้องจ่ายภาษีให้รัฐ หรือบริษัทก็ต้องเสียภาษี หรือแม้ผู้บริโภคก็เสียภาษี ส่งผลให้เงินไหลกลับประเทศ การประมูลจะก่อให้เกิดการใช้เทคโนโลยีเป็นการดึงดูดให้เกิดการลงทุน เกิดการจ้างงาน เกิดการส่งออกตามมา การดีเลย์โครงการนี้ออกไปจะก่อให้เกิดความเสียหายต่อประเทศอย่างมาก

“ความถี่เป็นทรัพยากร แต่ก็มีบางคนเอาไปรวมกับทรัพยากรธรรมชาติที่หมดไปอย่าง ดีบุก แต่จริงแล้วความถี่เป็นทรัพยากรที่นำกลับมาใช้ใหม่ได้ เทคโนโลยีหมดไปแล้วแต่ความถี่กลับมาใช้ใหม่ได้ เมื่อไม่ใช้ความถี่นั้นก็สูญเปล่า”

ด้านสมชัย เลิศสุทธิวงศ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร เอไอเอส กล่าวว่า หลายคนวิเคราะห์ภาพรวมทั้งประเทศว่า จะมีการเติบโตไม่มากนัก ทั้งอุตสาหกรรมไอทีก็น่าจะโตประมาณ 1-2 % ในขณะที่เอไอเอสต้องโตกว่าอุตสาหกรรมแน่นนอน เช่น หากทั้งอุตสาหกรรมโต 1.2% เอไอเอสก็คาดว่า จะโต 1.5% คือ ต้องโตมากกว่า

กรณีที่คู่แข่งรายอื่นมี 4G ให้บริการลูกค้าในขณะนี้นั้น ซีอีโอเอไอเอสเห็นว่าถ้าจะให้มองกันจริงๆ แล้ว คนอื่นมี 4G มองเป็นความได้เปรียบเอไอเอสแค่ 2 อย่าง คือ ในแง่การยอมรับของลูกค้าว่าเป็น 4G กับการเป็น 4G เฉพาะกลุ่มคนเล็กๆ ในเมือง โดยในส่วนของเอไอเอสหลังจากลงทุน 3G ความถี่ 2100 MHz ถ้าวัดโดยรวมทั้งประเทศ เอไอเอสดีกว่ารายอื่นในทุกจุดโดยเฉพาะเรื่องคุณภาพการให้บริการ ถึงแม้รายอื่นที่โหมโฆษณาว่าเป็นที่หนึ่งในพื้นที่นั้นๆ แต่จริงๆแล้วเอไอเอสต่างหากที่เป็นที่หนึ่งในพื้นที่ให้บริการดังกล่าว

“เอไอเอสลงทุนเน็ตเวิร์กไปแล้ว 7 หมื่นกว่าล้านบาท ถึงแม้ทรู บอกลงทุนไป 2 หมื่นกว่าล้านบาท ก็ยังไม่ได้ครึ่งของเอไอเอส เราลงเซลไซต์เยอะมาก เป้าหมายของเราคือ คุณภาพที่ดีของเครือข่ายจุดต่อจุด ต้องแซงคู่แข่งให้ได้ทั้งหมด แต่เอไอเอสยอมรับว่า จุดที่คู่แข่งมี 4G ความเร็วจะสูงกว่าเราแค่นั้นเอง แต่เรื่องประสบการณ์ใช้งานของลูกค้าโดยรวมสู้เอไอเอสไม่ได้แน่นอน”

แต่ถ้าสถานการณ์เป็นแบบนี้ บวกกับการประมูล 4G ยังไม่เกิด เอไอเอสจะเป็นอย่างไร ในมุมมองของสมชัย แล้วมองว่า เอไอเอสยังประคองได้ 12-18 เดือน ถึงสิ้นปีหน้า ซึ่งเมื่อถึงเวลานั้น เอไอเอสก็มีการเตรียมแผน A หรือแผน B ไว้แล้ว จึงไม่มีความกังวลเรื่องนี้ รวมทั้งการจับมือกับ บริษัท ทีโอที ก็อยู่ในแผนนี้ แต่ยังไม่สามารถบอกรายละเอียดได้ โดยอยู่ระหว่างการพูดคุยกันเกือบทุกโครงการ เอไอเอสมีความแข็งแรง เรื่องโมบายก็คงเน้นเรื่องโมบายเป็นหลัก รวมทั้งเรื่องบรอดแบนด์ ซึ่งโดยรูปแบบธุรกิจ ทีโอที ก็มีความชัดเจนอยู่แล้วว่าจะร่วมธุรกิจอะไรกับใครเป็นหลัก

“แนวโน้มปีหน้าจะเป็นอย่างไรนั้น ต้องขึ้นอยู่กับ 4G เป็นหลัก หากเกิด 4G ได้ก็จะทำให้เซอร์วิส ใหม่ๆ เกิดขึ้นอีกเยอะ โอกาสทางธุรกิจจะเกิดขึ้นอีกมาก”

*** ดิจิตอลอีโคโนมี กระแสสังคม

ในมุมมองของเอไอเอสแล้วมองว่าเป็นเรื่องดี การทำธุรกรรม หรือทรานเซ็กชันต่อไปในอนาคตเป็นดิจิตอลเป็นหลัก เช่น การซื้อขาย โลกของอีคอมเมิร์ซจะเพิ่มขึ้น แต่ก็ยังต้องมีแอนะล็อกเป็นของคู่กันไป สิ่งที่จะเกิดต่อไปในอนาคตคือ คลาวด์คอมพิวติ้ง ก่อให้เกิดการใช้ดาต้าในปริมาณมากขึ้น ความสามารถในการวิเคราะห์ดาต้าจำนวนมากจะตามมา ข้อมูลจะถูกแปลสภาพไปอยู่ในรูปดิจิตอลคอนเทนต์ ทั้งหมดเพื่อการเชื่อมโยง ทำให้บรอดแบนด์ทั้งไวร์เลส และฟิกซ์ไลน์ สำคัญมากขึ้น ในส่วนภาครัฐก็ต้องพัฒนาตามไปด้วยโดยการเป็น E -Goverment เช่น การทำบัตรประชาชน รวมทั้งงานอีกหลายอย่างที่น่าจะเกิดขึ้น

“เอไอเอสมีการเตรียมการเพื่อทิศทางนี้ 2 ปีมาแล้ว โดยการเพิ่มจาก 5 breakthrough มาเป็น 9 breakthrough คือ 3G, 4G, บรอดแบนด์, คอนเวอเจนต์, คลาวด์คอมพิวติ้ง, ดาวเทียม, Venture Capital ดิจิตอลคอนเทนต์ และดิจิตอล ทีวี เราเป็นบริษัทที่ไม่มีหนี้ในมือ เราจะตัดสินใจลงทุนต่อเมื่อเวลามาถึง”

เมื่อมองทั้ง 9 กลุ่มแล้ว ปัจจุบัน มีความคืบหน้าไปมาก อย่างบริการ 3G ความถี่ 2100 MHz เดินหน้าไปอย่างมาก ลงทุนไปแล้ว 7-8 หมื่นล้านบาท ภายใน 2 ปีที่ผ่านมา ส่วน 4G อยู่ในระหว่างการเตรียมเงินไว้ 1.5 ถึง 2 หมื่นล้าน ไว้เพื่อการประมูลแต่ก็ขึ้นอยู่กับราคาตั้งต้นที่จะออกมาด้วย แต่ก็ไม่น้อยกว่าทรูแน่นอน (ทรูตั้งไว้ที่ 4 หมื่นล้าน) ในส่วนคอนเวอเจนต์ เอไอเอสอยู่ในระหว่างทำอินฟราสตักเจอร์ของฟิกซ์ บรอดแบนด์อยู่ และอีกส่วนคือ ดิจิตอลคอนเทนต์ ที่จะเห็นชัดเจนคือ ดิจิตอลคอนเทนต์ ส่งไปหาผู้บริโภค เป็นแผนในปีหน้าที่จะได้เห็น

ในส่วนของฟิกซ์ บรอดแบนด์ อยู่ในระหว่างการทดสอบเพราะเป็นธุรกิจใหม่ เริ่มทดสอบแต่ยังไม่เป็นคอมเมอร์เชียล ประมาณปลายไตรมาส 1 หรือต้นไตรมาส2 ปีหน้าจะเปิดตัวทางการตลาด โดยจะใช้ทุกเทคโนโลยี ไม่ว่าจะเป็น vDSL หรือ FTTx ตรงไหนมีเทคโนโลยีอะไรก็จะไปแบบนั้น บางที่เป็นดาวเทียมได้ก็จะทำฟิกซ์ บรอดแบนด์จึงไปได้กับทุกเทคโนโลยีขึ้นกับระยะทางสุดท้ายที่จะไปถึงผู้ใช้บริการ (ลาสไมล์) โดยเฟสแรกจะลงทุนประมาณ 4,600 ล้านบาท ตั้งใจให้ได้ลูกค้า 1 แสนราย ซึ่งในความเป็นจริงด้วยศักยภาพของโครงข่ายสามารถให้บริการได้ถึง 3 แสนราย ซึ่งถ้าได้มากกว่า 1 แสนราย เอไอเอสก็พร้อมจะเพิ่มเงินลงทุนไปอีก โดยรวมแล้วเกือบ 1 หมื่นล้านบาท ขณะที่ค่ายคู่แข่งพูดถึงเงินลงทุนที่รวมไฟเบอร์ออปติก หรือเคเบิลใยแก้วนำแสงด้วยจึงมองว่ามากกว่า แต่เอไอเอสไม่ได้รวมถึงไฟเบอร์ออปติก

“เอไอเอสมีไฟเบอร์ออปติกที่ลงทุนไปแล้วเกือบ 1 แสนกิโลเมตรทั่วประเทศ โดยไฟเบอร์ออปติกเป็นฐานที่ลงไปก่อน เมื่อ 4G มาเราก็สามารถใช้ไฟเบอร์ออฟติกนี้ได้ด้วย”

นายสมชัย กล่าวว่า ไม่เป็นกังวลในการเปิดตัวฟิกซ์บรอดแบนด์ พร้อมกับคู่แข่งที่ประกาศเพิ่มการลงทุนในธุรกิจนี้ เพราะมองว่าเป็นการแข่งขันแบบปกติอยู่แล้ว แต่ท้ายที่สุดลูกค้าจะเป็นคนเลือกเองว่าจะใช้บริการค่ายไหนที่มีคุณภาพการให้บริการที่ดีกว่า

“เอไอเอสพร้อมในเรื่องการลงทุนปีหน้า จะมีทั้งเงินลงทุนที่เตรียมไว้สำหรับวางเน็ตเวิร์ก และเงินสำหรับการประมูล 4G ซึ่งขึ้นอยู่กับราคาตั้งต้นมาเท่าไรเราก็จะไปขออนุมัติบอร์ดมา และถึงแม้ได้ 4G แล้วก็ยังจะต้องเป็นพันธมิตรกับทีโอทีต่อไป”

ในส่วนธุรกิจดาวเทียมซึ่งมีการส่งดาวเทียมไทยคม 7 ไปแล้ว ภายใต้ใบอนุญาตจาก กสทช. และดาวเทียมไทยคม 8 อยู่ในระหว่างการก่อสร้าง ซึ่งคาดว่าน่าจะส่งไปประมาณปี 2559 ถือเป็นธุรกิจที่มีการเติบโตทั้งรายได้ และกำไร ส่วนด้านคลาวด์คอมพิวติ้งก็เดินหน้าไปด้วยดี โดยมีซีเอสล็อกซอินโฟ ให้บริการเรื่องคลาวด์ ในการเข้าหาลูกค้าองค์กรก่อน รวมทั้งนำคลาวด์มาให้บริการเอไอเอส โดยเอไอเอสจะนำมาให้บริการลูกค้าของเอไอเอสเพื่อสร้างความแตกต่างด้านการบริการ

ส่วนธุรกิจ Venture Capital เดินหน้าจาก 3 โครงการ และกำลังเพิ่มอีก 1 โครงการ โดยที่ผ่านมา อีบุ๊ก เป็นตัวพิสูจน์ความสำเร็จได้ดี จากตอนแรกที่ซื้อมา 60 ล้านบาทที่ 25% แต่เมื่อผ่านไป 2 ปีมีผู้ถือหุ้นใหม่เข้ามา ก็สามารถขายได้ 160 ล้านบาท จำนวน 11% คิดเป็นมูลค่าบริษัทเพิ่มขึ้น 6 เท่า ในส่วนดิจิตอลคอนเทนต์ อยู่ระหว่างการศึกษาทิศทาง ล่าสุด มีการร่วมมือกับกันตนาร่วมลงทุนคนละ 20 ล้านบาท ซึ่งมองว่าเป็นอีกเซกเมนต์ที่น่าสนใจ

“อย่าไปมองว่ากันตนาโบราณ แต่มองว่ากันตนาเลือกที่จะเป็นแบบนั้นมากกว่า ช่อง 7 ยังมีลูกค้าของเขาอยู่ เพราะกันตนาเลือกเซกเมนต์ลูกค้าที่บริโภคด้วยความรู้สึก และอารมณ์ ไม่ได้บริโภคหรือดูแบบเป็นชิ้นเป็นโปรดักต์”

ขณะที่ดิจิตอลทีวี ซึ่งถือเป็นจุดเปลี่ยนผ่านครั้งสำคัญนั้น เอไอเอสก็ยังไม่ทิ้ง และอยู่ในระหว่างดูการเคลื่อนไหวของตลาด ซึ่งในอนาคตมีความเป็นไปได้ที่จะมีช่องของตัวเอง แต่ก็ต้องดูภาพรวมของตลาด และอุตสาหกรรมก่อน

“ดิจิตอลทีวี เราศึกษามามาก ซึ่งต้องใช้เวลาพิสูจน์ แต่ก็ต้องดูเวลา แม้จุดหมายปลายทางเราต้องการมีช่องของเราเองแต่ก็ต้องดูเวลาที่เหมาะสม ดูภาพรวมของอุตสาหกรรมว่าเดินไปอย่างไร”

ด้านผลประกอบการของอินทัช ไตรมาส 3 กำไร 370 ล้าน บาท เอไอเอส ไตรมาส 3 กำไร 890 ล้านบาท ซึ่งถือว่าดีมาก เมื่อเทียบกับไตรมาส 3 ปีที่แล้วโตขึ้น ขณะที่ไทยคม โตขึ้นทั้งไตรมาส 2 และ 3 เมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา หากมองทั้งกลุ่มอินทัช จะมีเอไอเอส และไทยคม เป็นกลุ่มทำรายได้นำหน้า เพราะมีศักยภาพการเติบโตสูงจากการเพิ่มจำนวนดาวเทียมไทยคม

“ใน 5-7 ปีข้างหน้า รายได้จาก NON AIS จะตกประมาณ 25% ในอนาคตข้างหน้ารูปแบบธุรกิจออกมาเป็นแบบคนคิดไม่ต้องทำ คนทำก็ไม่ต้องคิด เหมือน อินทัชคิด เอไอเอสทำ จะทำให้เกิดความลงตัวอย่างมาก”


ที่มา ASTVผู้จัดการออนไลน์
วันที่ 19 พฤศจิกายน 2557
Post Reply

Return to “แจ้งข่าว ไทย ERP และข่าวอื่นๆที่น่าสนใจ”