Page 1 of 1

เปิดตัวศาสตราจารย์วิจัยดีเด่นสกว.

Posted: 20 Nov 2014, 09:29
by brid.siriwan
เปิดตัวศาสตราจารย์วิจัยดีเด่นสกว.

สกว. เปิดตัวศาสตราจารย์วิจัยดีเด่นและเมธีวิจัยอาวุโสประจำปี 2557 ชี้เร่งการพัฒนางานวิจัย และสร้างบุคลากรทางด้านงานวิจัยที่มีคุณภาพสูง

วันนี้ (19 พย.57) ที่โรงแรมเดอะสุโกศลกรุงเทพฯ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.)จัดแถลงข่าวเปิดตัวผู้รับทุนศาสตราจารย์วิจัยดีเด่นและเมธีวิจัยอาวุโส ประจำปี2557

ศาสตราจารย์ นพ.สุทธิพันธ์ จิตพิมลมาศ ผู้อำนวยการ สกว. กล่าวว่า งานวิจัยถือได้ว่าเป็นรากฐานสำคัญของการพัฒนาประเทศ โดยจากข้อมูลของสำนักงานคณะกรรมการนโยบายวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีและนวัตกรรมแห่งชาติ(สวทน.) พบว่า ปัจจุบันประเทศไทยมีสัดส่วนนักวิจัย เพียง 9 คนต่อประชากร 10,000 คนขณะที่ประเทศที่พัฒนาแล้วมีจำนวนนักวิจัยมากกว่าประเทศไทย 10 เท่า ซึ่งสกว.ได้เร่งส่งเสริมให้เกิดงานวิจัยและบุคลากรทางด้านงานวิจัยที่มีคุณภาพสูง เพื่อสร้างความเข้มแข็งให้ระบบงานวิจัยและเพิ่มความสามารถในการแข่งขันกับนานาประเทศในอนาคต

“ทุกองค์กร ควรต้องช่วยกันในการส่งเสริมสนับสนุนให้เกิดนักวิจัยเพิ่มมากขึ้นในประเทศไทยโดยรัฐบาลควรมองในแง่ของการลงทุนบุคคลากรระดับหัวกะทิ ที่จะเป็นมันสมองสำคัญในการขับเคลื่อนประเทศให้เจริญก้าวหน้าเทียบเท่านานาชาติ ซึ่งประเทศไทยมีนักวิจัยเก่งๆจำนวนมาก และพร้อมที่จะคิดค้นศึกษาองค์ความรู้ใหม่ต่างๆ เพียงแต่รัฐบาลและทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะต้องช่วยกันส่งเสริมสนับสนุน ซึ่งเชื่อว่าทั้งศาสตราจารย์วิจัยดีเด่นและเมธีวิจัยอาวุโสสกว.นี้จะเป็นส่วนสำคัญที่จะช่วยผลิตองค์ความรู้เพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในทางวิชาการนำไปต่อยอดหรือก่อประโยชน์ในเชิงปฏิบัติ ซึ่งจะสร้างความแข็งแรงให้กับประเทศไทยเพิ่มมากขึ้นอย่างแน่นอน” ผู้อำนวยการ สกว. กล่าว

สำหรับทุน “ศาสตราจารย์วิจัยดีเด่น” ซึ่ง สกว.จะมอบให้กับนักวิจัยอาวุโสระดับศาสตราจารย์ที่มีผลงานวิจัยดีเด่นเป็นงานวิจัยที่ทำให้เกิดองค์ความรู้ใหม่ที่มีผลกระทบทางวิชาการสูงหรือมีศักยภาพสูงมากในการนำไปประยุกต์เพื่อให้เกิดผลในเชิงปฏิบัติหรือสร้างผลกระทบต่อสังคมและประเทศชาติ ซึ่งปีนี้มีผู้ได้รับการคัดเลือกให้รับทุนดังกล่าวจำนวน 4 คนคือ 1. ศ. ดร. ปิยะรัตน์ โกวิทตรพงศ์ สาขาประสาทวิทยา มหาวิทยาลัยมหิดล จากผลงานการค้นพบระบบประสาทที่ควบคุมการสร้างเมลาโทนินและการค้นพบบทบาทของเมลาโทนินในการยับยั้งการเสื่อมของสมอง 2.ศ.ดร. นทีทิพย์ กฤษณามระ สาขาสรีรวิทยามหาวิทยาลัยมหิดล จากผลงานการวิจัยองค์ความรู้ในเรื่องฮอร์โมนโพรแลคตินในฐานะฮอร์โมนควบคุมแคลเซียมและกระดูกในแม่ที่ตั้งครรภ์และให้นมบุตรและการให้แคลเซียมเสริมเพื่อป้องกันการสูญเสียกระดูกหลังมีบุตร

3.ศ.นพ. ภิเศก ลุมพิกานนท์จากสาขาสูติศาสตร์และนรีเวชวิทยา มหาวิทยาลัยขอนแก่น ที่ร่วมทำการวิจัยกับองค์การอนามัยโลกเรื่องการดูแลผู้ตั้งครรภ์อย่างมีคุณภาพ และศ. ดร. ธีรยุทธ วิไลวัลย์ สาขาเคมีอินทรีย์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จากผลงานการสังเคราะห์สารเลียนแบบสารพันธุกรรมพีเอ็นเอ ที่มีความทนทานมากกว่าดีเอ็นเอที่ถูกย่อยสลายได้ที่สามารถนำไปใช้ในการตรวจและวินิจฉัยโรคและการพัฒนาวิธีการสังเคราะห์ยาต้านมาลาเรีย

ส่วน “เมธีวิจัยอาวุโสสกว.” ซึ่งสรรหาและเสนอชื่อโดยคณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ โดยพิจารณาจากนักวิจัยที่มีผลงานทางวิชาการเป็นที่ยอมรับทั้งระดับชาติและระดับนานาชาติ เพื่อให้สามารถนำผลงานไปต่อยอดขยายผลและสร้างกลุ่มวิจัยให้เข้มแข็งมากขึ้น ซึ่งมีผู้ได้รับการคัดเลือกให้เป็นเมธีวิจัยอาวุโสสกว. ประจำปีนี้ จำนวน 12 คน คือ1.ศ.ดร. อรวรรณ ชัยลภากุล สาขาเคมีวิเคราะห์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย 2.ศ.ดร. สุเทพสวนใต้ สาขาคณิตศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ 3.ศ.ดร. เกื้อ วงศ์บุญสิน สาขาประชากรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย 4. ศ.ดร. ประยุทธอัครเอกฒาลินสาขาวิศวกรรมไฟฟ้า มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ 5.ศ.ดร. สุเมธ ชมเดช สาขาวิศวกรรมเคมีจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย 6.ศ.ดร. ปริญญาจินดาประเสริฐ สาขาวิศวกรรมโยธา มหาวิทยาลัยขอนแก่น

7.ศ.ดร.นพ. ประเสริฐ เอื้อวรากุลสาขาไวรัสวิทยา มหาวิทยาลัยมหิดล 8. ศ.ดร.โสพิศ วงศ์คำ สาขาชีวเคมีทางการแพทย์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น 9.ศ.นพ. เกียรติรักษ์รุ่งธรรม สาขาภูมิคุ้มกันวิทยา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย 10.รศ.น.สพ.ดร. อลงกร อมรศิลป์สาขาสัตวแพทยสาธาณสุข จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย 11.รศ.ดร. พูนสุข ประเสริฐสรรพ์สาขาเทคโนโลยีชีวภาพสิ่งแวดล้อม มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ และ12. ศ.ดร.นพ. นรัตพล เจริญพันธุ์สาขาสรีรวิทยา มหาวิทยาลัยมหิดล

ที่มา เดลินิวส์
วันที่ 19 พฤศจิกายน 2557