‘เศรษฐพงค์’ เปิดแผนโทรคมปี 58

Post Reply
brid.siriwan
Posts: 3942
Joined: 05 Apr 2013, 08:47

‘เศรษฐพงค์’ เปิดแผนโทรคมปี 58

Post by brid.siriwan »

‘เศรษฐพงค์’ เปิดแผนโทรคมปี 58

แม้ว่ากระแสข่าวการลดบทบาทของสำนักงานกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ให้เป็นเพียงองค์การมหาชนภายใต้สังกัดกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ไอซีที) เริ่มใกล้ความเป็นจริงขึ้นมาทุกขณะ แต่คนวงในกสทช.ก็ยังไม่ปักใจเชื่อและยังคงเดินหน้าเตรียมแผนการทำงานในปี 2558 ต่อไป

โดยเฉพาะประเด็นสำคัญในด้านโทรคมนาคมซึ่ง 'พ.อ.เศรษฐพงค์ มะลิสุวรรณ' รองประธาน กสทช.และประธานคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคม (กทค.) ยืนยันว่าต้องเดินหน้าทำงานต่อไปตราบจนกว่าจะมีการแก้ พ.ร.บ. องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่และกำกับการประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม พ.ศ. 2553 หรือ พ.ร.บ. กสทช. ที่คาดว่าต้องใช้เวลาเป็นปีกว่าจะเสร็จสิ้น

ดังนั้นแผนงานของกสทช.ก็ยังคงดำเนินการต่อไปโดยเฉพาะเรื่องกิจการโทรคมนาคมในปีหน้า กสทช.ได้เตรียมแผนงานไว้ในประเด็นหลักๆ 5 เรื่อง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการจัดสรรคลื่นความถี่ การดูแลผู้บริโภคด้านโทรคมนาคม การผลักดันเรื่องต่อเนื่องจากปี 57 รวมถึงเรื่องการเสนอการแก้ พ.ร.บ.กสทช. เพื่อให้สอดรับกับนโยบาย Digital Economy ของรัฐบาล

***เดินหน้าจัดสรรคลื่นความถี่

ประเด็นแรก การเตรียมการสิ้นสุดสัญญาสัมปทานคลื่นความถี่ 900 MHz ของบริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) หรือเอไอเอส ในเดือน ก.ย. 58 แม้ว่าที่ผ่านมามีลูกค้าย้ายออกไปสู่ระบบ 3G เป็นจำนวนมากแล้วก็ตาม แต่ก็ยังมีลูกค้าที่ค้างอยู่ในระบบอีกหลายล้านคน ดังนั้นจึงต้องเร่งประชาสัมพันธ์ให้ผู้บริโภครับทราบ

ประเด็นที่ 2 การพิจารณา ทบทวนรายละเอียด ขอบเขต วิธีการ และขั้นตอนในการจัดสรรคลื่นความถี่โดยวิธีการประมูลคลื่นย่านความถี่ 900 MHz และ 1800 MHz เพื่อเตรียมความพร้อมดำเนินการให้ได้เร็วที่สุดหลังพ้นคำสั่งการชะลอการประมูลจากคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ที่ให้ชะลอออกไปถึงเดือน ก.ค. 58

ทั้งนี้ จากกำหนดการเดิม กสทช.ต้องเปิดการประมูลใบอนุญาตประกอบกิจการโทรคมนาคมสำหรับคลื่นความถี่ย่าน 1800 MHz (ประมูลใบอนุญาต 4G) ในเดือน ส.ค. 57 จากก่อนหน้านี้ที่เป็นของ บริษัท ทรูมูฟ จำกัด และบริษัท ดิจิตอลโฟน จำกัด ในเครือ เอไอเอส ซึ่งได้สิ้นสุดสัญญาสัมปทานไปเมื่อวันที่ 15 ก.ย. 56 และเปิดประมูลใบอนุญาตประกอบกิจการโทรคมนาคมสำหรับคลื่นความถี่ย่าน 900 MHz ในเดือน ก.ย.57

แต่เมื่อมีคำสั่ง คสช.ให้ระงับการประมูลออกไป 1 ปี ซึ่งจะครบกำหนดของคำสั่งดังกล่าว ในเดือน ก.ค. 58 นั้น กสทช.ต้องเริ่มเตรียมความพร้อมในการประมูลไปก่อน เพื่อให้เมื่อพ้นเวลาระงับการประมูล กสทช.จะสามารถเปิดการประมูลได้ทันที ซึ่งหากไม่มีเหตุทางการเมืองเปลี่ยนแปลงอีก กสทช.จะยึดรูปแบบการประมูลแบบเดียวกับการประมูล 3G ครั้งก่อน เนื่องจากหลักเกณฑ์เดิมเป็นที่ยอมรับในสากล แต่ราคาเริ่มต้นการประมูลต้องสูงกว่าเดิม ไม่ควรลดลงเพราะประเทศชาติจะเสียประโยชน์

'เรากำลังคิดกันอยู่ว่าจะนำคลื่น 1800 MHz ของดีแทคที่จะหมดสัญญาสัมปทานในปี 61 มาประมูลล่วงหน้าพร้อมกันเลยหรือไม่ เพราะปี 58 กับปี 61 ต่างกันไม่กี่ปี ซึ่งเรื่องนี้จะมีนักวิชาการเข้ามาวิเคราะห์ข้อมูลถึงข้อดี ข้อเสียอีกครั้งหนึ่ง เพื่อนำเสนอบอร์ด ว่าจะเห็นด้วยหรือไม่ และกสทช.ต้องเร่งให้เกิดแผนงานสำหรับเตรียมการประมูลภายในเดือน ม.ค. หรือ ก.พ. ปีหน้าให้ได้ เพื่อนำไปประกาศลงราชกิจจานุเบกษา และเปิดประมูล 4G ในเดือน ส.ค.- ก.ย.58 ซึ่งเรื่องนี้เป็นเรื่องเร่งด่วนที่เอกชนก็เร่งกสทช.มาเหมือนกัน อย่างเอไอเอสก็จะหมดสัญญาสัมปทานคลื่นความถี่ย่าน 900 MHz ในเดือนก.ย.58'

***คุ้มครองผู้บริโภคโทรคมนาคม

ประเด็นที่ 3 ติดตามผลการดำเนินการใช้งานคลื่นความถี่ย่าน 2.1 GHz ของผู้ประกอบการที่ได้รับใบอนุญาตทั้ง 3 ราย ได้แก่ บริษัท แอดวานซ์ ไวร์เลส เน็ทเวอร์ค จำกัด บริษัท ดีแทค ไตรเน็ต จำกัด และ บริษัท เรียล ฟิวเจอร์ จำกัด เช่น การจัดการข้อกำหนดด้านการสร้างโครงข่ายเพื่อการให้บริการครอบคลุม อัตราค่าบริการ คุณภาพในการให้บริการ เรื่องร้องเรียนในการให้บริการ เป็นต้น ซึ่งจากการติดตามผลการขยายโครงข่ายของทั้ง 3 ราย ขณะนี้เป็นไปตามเงื่อนไขในใบอนุญาต

ประเด็นที่ 4 เน้นการคุ้มครองผู้ใช้บริการโทรคมนาคมที่จะต้องได้คุณภาพการบริการอย่างเต็มเม็ดเต็มหน่วย ในราคายุติธรรม และประเด็นสุดท้ายคือการเสนอประเด็นปัญหาอุปสรรคเพื่อเป็นข้อมูลในการแก้ พ.ร.บ.กสทช.ให้สอดคล้องกับนโยบาย Digital Economy ของรัฐบาลยุคนี้

***ผลักดันเรื่องสืบเนื่อง

นอกจากนี้ยังคงเร่งติดตามการประเมินการใช้งานคลื่นความถี่ย่าน 2300 MHz และ 2600 MHz เพื่อรองรับโครงข่ายบรอดแบนด์ไร้สายในอนาคต รวมถึงการผลักดันความถี่ย่าน E - Band (70-80 GHz) ซึ่ง อยู่ในระหว่างการเสนอเข้าที่ประชุมคณะกรรมการกทค. เพื่อนำมาใช้งานเป็น ฟิกซ์ ลิงก์ สำหรับโครงข่ายหลัก (Back Haul) ของเครือข่ายโทรศัพท์เคลื่อนที่ หรือเป็นการใช้งานเป็นเครือข่ายภายในองค์กรต่างๆ

รวมถึงการจัดสรรคลื่นความถี่เพื่อรองรับโครงการสร้างรถไฟความเร็วสูง โดยการใช้คลื่นความถี่สำหรับควบคุมการจราจรและรักษาความปลอดภัยของระบบราง GSM-R รวมถึงการกำกับดูแลการใช้งานคลื่นความถี่ด้านภารกิจเพื่อป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ซึ่งอยู่ในแนวทางการจัดสรรคลื่นความถี่ในกิจการโทรคมนาคม พ.ศ.2557 - 2561 และการวางแนวทางการกำกับดูแลกิจการดาวเทียม

'ผมขอยืนยันว่า ไม่ว่ากสทช.จะถูกเปลี่ยนบทบาทหน้าที่เป็นอย่างไร เราจะไม่เกียร์ว่างแน่นอน เพราะตราบใดที่กฎหมายยังแก้ไม่เสร็จ การทำงานของกสทช.ก็ต้องดำเนินการต่อไป'

คลิกที่ภาพเพื่อดูขนาดใหญ่ขึ้น
‘เศรษฐพงค์’ เปิดแผนโทรคมปี 58
แก้พ.ร.บ.กสทช.รับ Digital Economy

จากนโยบาย Digital Economy ของรัฐบาลต้องมีการปรับโครงสร้างการทำงานของกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร หรือ ไอซีที รวมถึงต้องปรับปรุงกฎหมายต่างๆ 13 ฉบับที่เกี่ยวข้องกับนโยบาย Digital Economy ซึ่ง กฎหมาย 1 ใน 13 ฉบับนั้นคือ พ.ร.บ.กสทช. ทำให้กสทช.กำลังถูกจับตามองว่าจะถูกเปลี่ยนแปลงบทบาทมากน้อยเพียงใด

ท้ายสุดแล้วจะเป็นเพียงแค่องค์การมหาชนในสังกัดของกระทรวงใหม่หรือไม่ เรื่องนี้ พ.อ.เศรษฐพงค์ ให้ความเห็นว่า การแก้กฎหมายดังกล่าวกว่าจะสำเร็จต้องรอให้ประเทศไทยมีรัฐธรรมนูญใหม่เสียก่อนซึ่งก็ต้องใช้เวลาเป็นปี ดังนั้นกสทช.ไม่ควรเกียร์ว่าง แผนงานต่างๆที่วางไว้ก็ยังคงต้องดำเนินต่อไป

แต่ทั้งนี้ ทางกสทช.ได้เสนอกรอบการแก้พ.ร.บ. กสทช.ต่อสภานิติบัญญัติ (สนช.) ไว้หลายเรื่องที่สำคัญ ได้แก่ การยุบรวมคณะกรรมการกทค.และคณะกรรมการกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ (กสท.) ให้เหลือกรรมการเพียงชุดเดียว และให้ตั้งคณะอนุกรรมการขึ้นมาทำงานแทนกรรมการกทค.และกสท. เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาการตัดสินใจของกรรมการชุดเล็กมีผลให้กรรมการชุดใหญ่ต้องรับผิดชอบด้วยทั้งๆที่ไม่ได้มีส่วนในการตัดสินใจ

โดยจำนวนของคณะกรรมการชุดใหม่ที่เหมาะสมควรจะอยู่ที่ 7 - 9 คน ซึ่งหากแก้เรื่องนี้เพียงเรื่องเดียวก็ทำให้ต้องแก้กฎหมายถึง 70% และกสทช.ยังได้เสนอให้แก้เรื่องที่มาในการจัดสรรคณะกรรมการกสทช. ชุดใหม่ด้วย ไม่ให้ซับซ้อนมากเกินไปจนไม่เข้าใจเหมือนอย่างปัจจุบัน

นอกจากนี้ยังได้เสนอให้แก้ไขเรื่องการใช้งบประมาณ ที่แม้ว่างบประมาณของกสทช.คือรายได้จากการประมูลคลื่นความถี่ ไม่ได้มาจากภาษีของประชาชน แต่การใช้งบประมาณแต่ละครั้งไม่ควรอิสระเกินไป กสทช.ควรนำเงินที่ได้ผ่านรัฐสภาก่อนนำมาใช้เป็นงบประมาณของกสทช.เพื่อให้สามารถตรวจสอบและรับรู้การใช้งบประมาณได้

อย่างไรก็ตามในประเด็นนี้ สำนักงานตรวจเงินแผนดิน (สตง.) ได้ตั้งข้อสังเกตถึงการใช้งบประมาณของกสทช.หลายเรื่อง โดยมีความเห็นว่าสำนักงาน กสทช.ไม่มีการจัดทำแผนปฏิบัติการจัดซื้อจัดจ้างประจำปี จึงไม่มีกรอบระยะเวลาในการดำเนินการตามขั้นตอนทางพัสดุ ส่งผลให้เมื่อสิ้นสุดปีงบประมาณ (31 ธ.ค. 56) สำนักงาน กสทช. ต้องกันเงินไว้ใช้ในปีนี้เป็นจำนวนมาก

เรื่องนี้สตง.ได้ให้ สำนักงาน กสทช.เร่งรัดติดตามการใช้จ่ายเงินกันที่มีความล่าช้า และพิจารณากำหนดรูปแบบการบริหารงบประมาณที่มีความเหมาะสมกับภารกิจของ สำนักงาน กสทช. เช่น การจัดทำงบประมาณแบบเกินดุล เพื่อให้มีการใช้จ่ายเงินงบประมาณอย่างมีประสิทธิภาพ และควรมีการบริหารงบประมาณโดยคำนึงถึงการมีวินัยทางการเงินและการคลังที่ดี

การไม่ใช้จ่ายเงินเกินตัวของภาครัฐ การจัดสรรและการใช้จ่ายงบประมาณอย่างเหมาะสมและมีประสิทธิภาพ หารายได้ให้เพียงพอกับรายจ่าย รวมถึงมุ่งเน้นการกำหนดระบบงบประมาณและการคลังที่มีความโปร่งใสและวินัยทางการเงินการคลังมากขึ้นด้วย โดยขอให้ สำนักงาน กสทช.ตระหนักถึง การใช้อำนาจตามดุลยพินิจ ปราศจากความระมัดระวังรอบคอบในการกำหนดนโยบายการใช้จ่ายเงินงบประมาณ ส่งผลให้ กสทช. มีอิสระมากในการเปลี่ยนแปลงงบประมาณกลางปี การกำหนดโครงการใหม่ๆ ในระหว่างปี การจัดสรรเงินบริจาคและการกุศลมากเกินความจำเป็น เป็นต้น

ขณะเดียวกัน สตง.ได้ตรวจสอบค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานปี 56 พบว่า มีค่าใช้จ่ายที่สำคัญจำนวน 5 รายการ ประกอบด้วย 1.ค่าจ้างที่ปรึกษา 2.ค่าใช้จ่ายประชาสัมพันธ์ 3.ค่าใช้จ่ายเดินทางไปต่างประเทศ 4.ค่าจ้างเหมาบริการ และ 5.ค่าใช้จ่ายในการเป็นเจ้าภาพจัดประชุม

โดยค่าจ้างที่ปรึกษาเป็นค่าใช้จ่ายที่มีการจ่ายสูงสุดเป็นอันดับแรก จำนวน 329.54 ล้านบาท และจากการตรวจสอบพบว่ามีสัญญาค่าจ้างที่ปรึกษาที่มีจำนวนเงินเกิน 3 ล้านบาท จำนวน 25 สัญญา คิดเป็นเงิน 368.06 ล้านบาท มีการระบุในสัญญาจ้างที่ปรึกษาที่รวมการศึกษาดูงานในต่างประเทศจำนวน 4 สัญญา คิดเป็นเงิน 53.98 ล้านบาท

ทั้งนี้ค่าใช้จ่ายประชาสัมพันธ์เป็นค่าใช้จ่ายที่มีการจ่ายสูงสุดเป็นอันดับสอง สำนักงาน กสทช.ได้ส่งงบการเงินปี 56 ให้กับ สตง.เพื่อตรวจสอบนั้นมีค่าใช้จ่ายประชาสัมพันธ์เพียง 184.59 ล้านบาท แต่การตรวจสอบพบว่า กสทช.ได้บันทึกค่าใช้จ่ายประชาสัมพันธ์รวมอยู่ในค่าจ้างเหมาบริการอีกจำนวน 88.46 ล้านบาท และบันทึกค่าใช้จ่ายในการประชาสัมพันธ์ปี 56 ต่ำไปจำนวน 18.07 ล้านบาท ซึ่งภายหลังปรับปรุงรายการแล้วมีค่าใช้จ่ายประชาสัมพันธ์ในปี 56 ถึง 291.12 ล้านบาท โดยสำนักงาน กสทช.มีค่าใช้จ่ายในการประชาสัมพันธ์สูงกว่าประเทศสิงคโปร์ ที่มีค่าใช้จ่ายเท่ากับ 1.6 แสนดอลล่าร์สิงคโปร์ หรือประมาณ 4.2 ล้านบาท

ที่มา ASTVผู้จัดการออนไลน์
วันที่ 21 พฤศจิกายน 2557
Post Reply

Return to “แจ้งข่าว ไทย ERP และข่าวอื่นๆที่น่าสนใจ”