Page 1 of 1

อุดมศึกษาไทยล้มเหลวด้อยคุณภาพ

Posted: 21 Nov 2014, 13:51
by brid.siriwan
อุดมศึกษาไทยล้มเหลวด้อยคุณภาพ

"วิจารณ์"ยันการศึกษาไทยล้มเหลวจริง ขณะที่"อาจารย์วิจิตร"ย้ำอุดมศึกษาไทยสำเร็จปริมาณ แต่ด้อยคุณภาพ ไม่ตอบสอนงความต้องการพัฒนาประเทศ แถมอ่อนด้อยแข่งขัน แนะพัฒนาตัวเอง


วันนี้(20พ.ย.) ที่โรงแรมอมารี ดอนเมือง กรุงเทพฯ ได้มีการประชุมวิชาการประจำปี 2557 ของที่ประชุมประธานสภาอาจารย์มหาวิทยาลัยแห่งประเทศไทย(ปอมท.)ซึ่งมีการเสวนาเรื่อง"อดีตอุดมศึกษาล้มเหลวจริงหรือ" โดยศ.ดร.วิจิตร ศรีสอ้าน อดีต รมว.ศึกษาธิการ กล่าวว่า อุดมศึกษาและสังคมมีความสำคัญต่อการพัฒนาคน ซึ่งคุณภาพของคนเป็นผลที่เกิดจากการศึกษาที่มีคุณภาพ และต้องมีการจัดการศึกษาที่มีคุณภาพทุกระดับ และทุกประเภท ประเทศไทยสามารถพึ่งตนเองให้ได้มานาน แต่พึ่งตนเองอย่างเดียวไม่พอ ต้องก้าวมั่นทันโลก โดยมหาวิทยาลัยจะพัฒนาด้านเทคโนโลยี เสริมสร้างและต้องแข่งขันให้ได้ในโลกที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว เพราะมหาวิทยาลัยเป็นปัจจัยสำคัญในการพัฒนา สร้างคนและสร้างความรู้

"อุดมศึกษาไทยเมื่อเปรียบเทียบกับประเทศต่างๆ ในประชาคมโลก มีความสำเร็จเชิงปริมาณในระดับสูง มีการขยายโอการให้การศึกษาเพื่อมวลชน ตอนนี้พูดได้เต็มปากว่าประเทศไทยได้จัดการศึกษาเป็นมวลชนแล้วแต่เป็นเชิงปริมาณ ยังด้อยคุณภาพและไม่ตอบสนองความต้องการของประเทศ คุณภาพบัณฑิต การวิจัยและนวัตกรรม เราขาดแคลนกำลังคนด้านช่างฝีมือ วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยอย่างมาก ยังอ่อนด้อยความสามารถในการแข่งขันซึ่งเป็นสำคัญของโลกในยุคปัจจุบันและอนาคต "ศ.ดร.วิจิตร กล่าว

ศ.นพ.วิจารณ์ พานิช นายกสภามหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า คุณภาพการศึกษาไทยล้มเหลวอย่างมาก ซึ่งสามารถยืนยันได้ด้วยข้อมูลมากมาย เช่น คุณภาพบัณฑิต สถานประกอบการหลายแห่งบอกว่าบัณฑิตที่มหาวิทยาลัยผลิตออกไปนั้นใช้ไม่ได้ เป็นต้น สาเหตุหนึ่งทำให้คุณภาพการศึกษาล้มเหลเกิดจากมหาวิทยาลัยเอาศาสตร์ เอาวิชาเป็นตัวตั้ง แต่ปัจจุบันมหาวิทยาลัยต้องหันไปเอาความต้องการของประเทศเป็นตัวตั้งและวิชาเป็นตัวสนอง เพื่อให้การศึกษาไทยเดินไปข้างหน้า ไม่ได้เดินผิดทาง อย่างไรก็ตามการศึกษาที่มีคุณภาพสูงต้องสอนคนให้มีทักษะความรู้ ทั้งด้านสังคม โลก การทำงานมีชีวิต และความเป็นคนดี รวมถึงต้องการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันทั้งด้านคุณภาพและงานวิจัยด้วย โดยเฉพาะเวลานี้ขาดแคลนนักวิจัยอย่างมาก แต่ประเทศมีทุนเพื่อสร้างนักวิจัยเพียง 200-300 คนต่อปี ขณะที่ความต้องการของประเทศ 3,000 คนต่อปี แต่ถ้าจะเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันจะต้องผลิตนักวิจัยให้ได้ 600-1,000 คนต่อปี

ด้านนายธนิตสรณ์ จิระพรชัย รองอธิการบดีฝ่ายแผนและสารสนเทศ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี(มจธ.) กล่าวว่า ขณะนี้มหาวิทยาลัยไทยส่วนใหญ่ไม่ได้ตอบสนองสังคมหรือพัฒนาตนเองตามศักยภาพ แต่เป็นมหาวิทยาลัยของสำนักงานรับรองมาตรฐานและประเมินคุณภาพการศึกษา (สมศ)​และมหาวิทยาลัยของสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา(สกอ.)เพราะต้องทำตามที่ สมศ.และสกอ.กำหนด จึงทำให้หน้าตาของมหาวิทยาลัยทุกแห่งเหมือนกันหมด หากเป็นเช่นนี้ต่อไปเราจะไม่สามารถแข่งขันกับประเทศอื่นได้


ที่มา เดลินิวส์
วันที่ 20 พฤศจิกายน 2557